ศิริราช-ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลุย “5G-AI” ยกระดับการแพทย์ไทย

บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทยที่ได้การยอมรับจากนานาชาติ เห็นได้ชัดจากจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาพยาบาลในไทยมากกว่า 3.3 ล้านครั้ง และสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อผู้ป่วยอยู่แค่ 1.8% ขณะที่สหรัฐอเมริกาทะลุไป 38%

แต่สถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของไทยยังไม่หยุดที่จะนำเทคโนโลยียกระดับด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น

5G AI5G อีกแกนหลักสำคัญ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าโรงพยาบาลศิริราชมีเป้าหมายที่จะยกระดับด้านการแพทย์ มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีทั้งเพื่อการรักษาคนไข้และเพื่อการศึกษา ซึ่ง 5G เป็นอีกเรื่องที่ศิริราชให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการนำมาพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ช่วยลดเวลาและลดภาระของผู้ป่วย อาทิ ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์และวินิจฉัยภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หาเชื้อโควิด-19 หรือใช้ผ่าตัดทางไกล telesurgeries

“จริง ๆ การผ่าตัดทางไกลเกิดขึ้นครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2554 เป็นเคสหมอที่นิวยอร์กผ่าตัดให้กับคนไข้ที่อยู่ฝรั่งเศส แต่เหตุ telesurgeries เงียบไปเกือบ 20 ปี เพราะว่าเทคโนโลยีไม่ทัน ไม่เรียลไทม์พอภาพที่แพทย์จะได้เห็นก็ยังไม่มีคุณภาพความคมชัดที่ดีพอ”

telesurgeries เกิดขึ้นด้วย 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ 1.หวังจะช่วยในภาวะสงคราม ที่หมอเก่ง ๆ ไม่สามารถเข้าไปในสมรภูมิรบ แต่การผ่าตัดยังเกิดขึ้นได้ 2.หวังว่าการผ่าตัดจะเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ที่ประจำการในอวกาศ 3.การผ่าตัดในภาวะที่เกิดโรคระบาด โรคติดเชื้อได้ง่าย

“ปีนี้ ทั้ง 3 คอนเซ็ปต์ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง โควิด-19 ได้กลายเป็นอุทาหรณ์เตือนว่า หากไม่เตรียมการไว้ก่อน เมื่อเกิดวิกฤตอีก เกิดโรคติดเชื้อระบาด ซึ่งยังมีโรคอีกมากที่ไม่สามารถรอได้ อย่างมะเร็ง ที่ต้องผ่าตัดอย่างทันท่วงที”

เมื่อ 5G เข้ามาแล้วก็เชื่อว่า ในไทยผู้มีความรู้คอนโทรลหุ่นยนต์ผ่าตัดอีกมาก จะทำให้คนไข้ที่อยู่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ หรือจังหวัดไกล ๆ ก็สามารถรับการผ่าตัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางได้

ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางเอเชียได้

“5G และการเติมเต็มด้วยนวัตกรรมอย่างที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้สนใจเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เมื่อความคิดของคนรวมกับเทคโนโลยีกับเครือข่าย 5G ก็จะสามารถตอบโจทย์ภาคการแพทย์และสาธารณสุขของคนไทย”

อย่างการพัฒนาหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่ติดตั้ง CT scan, เครื่องฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจหลอดเลือดสมอง เครื่องตรวจเลือดเบื้องต้น เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี 4G/5G พร้อมปรึกษาทางไกลกับแพทย์เฉพาะทางที่อยู่โรงพยาบาลได้ทันท่วงที ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและพิการของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองลงได้ เนื่องจากเป็นโรคที่ต้องเริ่มรักษาทันทีภายในไม่เกิน 4 ชั่วโมง

ทั้งเป็นโรคที่พบผู้ป่วยในไทยราว 1,880 รายต่อ 1 แสนประชากร หรือราว 3 แสนต่อปี เสียชีวิตราว 3 หมื่นคนต่อปี เป็นอันดับ 2 ของโลก และถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย

“เชื่อว่า อีกไม่นานไทยจะเป็นศูนย์กลางของการรักษา stroke ไม่เฉพาะแค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นศูนย์กลางของเอเชียได้ จาก PPP ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน”

หรือการนำร่องโครงการ “รถอัจฉริยะไร้คนขับ 5G” เพิ่มประสิทธิภาพในระบบโลจิสติกส์กลางของโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งใช้เป็นต้นแบบในการหาผลทดลองมาประยุกต์ใช้กับบริการทางการแพทย์ด้านอื่น ๆ ต่อไป

AI Watson for Oncology

ด้าน ศ.แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ รองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และคณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า เป้าหมายสูงสุดของ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ตามพระดำริ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระประสงค์ให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน การวิจัย และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิตในสังคม และให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากลแก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ

ปัจจุบันได้ขยายจากโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง กลายเป็นศูนย์การแพย์ครบวงจร ทั้งเพื่อการรักษาและวิจัยพัฒนา โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เทียบเคียงระดับสากลมาใช้เพื่อให้ก้าวทันการรักษาที่ทันสมัยและหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องแบบ”เฉพาะราย”

แต่ละปีได้ใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาทเพื่อลงทุนในด้านนี้อย่างเหมาะสม ให้เป็นการแพทย์ที่ “ทุกคน” เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ทั้งยังเพื่อนำมาต่อยอดในการวิจัยและพัฒนาสร้างนวัตกรรมของคนไทยขึ้นมาทดแทนได้ในอนาคต

ล่าสุดได้นำเทคโนโลยี AI Watson for Oncology ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวางแผนรักษามะเร็ง

“โดยผู้ป่วยมะเร็งทุกคนจะได้รับการวินิจจัยโดย Tomor Board หากเข้าข่ายที่เหมาะสมจะได้รับการวินิจฉัยจาก AI จะได้รับการรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มครอบคลุมทุกสิทธิเข้ารักษา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเคสที่มีการรักษาที่ซับซ้อน เพื่อให้เข้าถึงรูปแบบการรักษาที่ทันสมัยซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ถือเป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้”

ในปีนี้มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในไทยถึง 122,757 ราย เสียชีวิต 80,665 ราย เฉพาะที่ราชวิทยาลัยฯแห่งนี้มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มราว 23% หรือ 4,000 รายต่อปี

ปัจจุบันปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตคือการเข้าถึงการรักษาสายเกินไปโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งราชวิทยาลัยฯกำลังสร้างเครือข่าย telemedicine เพื่อบรรเทาปัญหานี้