วิถีใหม่เทรดโชว์ “มือถือ” จุดพลุ “ไฮบริด-เวอร์ชวลเอ็กซ์โป”

วิกฤตไวรัสโควิด-19 เปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง แม้แต่การจัดงานแสดงสินค้าดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของ “AIS 5G Thailand Virtual Expo” (29 มิ.ย.-3 ก.ค.) ตามชื่อก็ชัดเจนว่าจัดบนออนไลน์ คาบเกี่ยวกับงาน ThailandMobile Expo 2020 ที่มีขึ้นระหว่าง 2-5 ก.ค. 2563 ทำให้ “เอไอเอส” ไม่ได้ไปร่วมงานด้วยตนเอง แต่ส่งตัวแทนจำหน่ายไป

“เอไอเอส” จุดพลุ Virtual Expo

“ปรัธนา ลีลพนัง” หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส ระบุว่า AIS 5G Thailand Virtual Expo เป็นการพลิกโฉมการจัดงานเอ็กซ์โปที่เคยจัดแบบphysical ในฮอลขนาดใหญ่มาไว้บนออนไลน์ โดยมีการนำเทคโนโลยี virtual reality ที่ให้ภาพและเสียงเสมือนจริงมาใช้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้นักช็อปยุค new normal ทำให้ซื้อของได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องเดินทาง และน่าจะเป็น business model ใหม่ของ market place ได้ด้วย

งานนี้ไม่ใช่ขนแต่มือถือ, แก็ดเจต และสินค้าไอทีต่าง ๆ มาขายเท่านั้น โดยชวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาออกร้านออนไลน์ ตั้งแต่อาหาร สินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ และไลฟ์สไตล์ รวมแล้วกว่า 500 รายตัดกลับมาที่ Thailand Mobile Expo 2020 ถือเป็นครั้งที่ 2 ของปี

นายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานกล่าวว่า เดิมงาน Thailand Mobile Expo 2020 ครั้งนี้จะต้องจัดในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่มีการเลื่อนออกไปเนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งรูปแบบการจัดงานยังมีการปรับให้สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐที่ต้องการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่วนงานครั้งที่ 3 ซึ่งปกติจะจัดช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะจัดหรือไม่อาจต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง แม้การจัดงานครั้งล่าสุดจะมีจำนวนผู้เข้าชมงานค่อนข้างคึกคัก

โมบายเอ็กซ์โปลุยไฮบริดอีเวนต์

“ก่อนหน้านี้เราคาดว่าจำนวนคนที่เข้าร่วมงานจะมีปริมาณน้อย แต่เมื่อถึงวันแรกของการจัดงานพบว่าปริมาณคนที่เข้าร่วมงานอยู่ในระดับที่เกินคาด แม้จะอยู่ท่ามกลางข้อจำกัดหลายอย่าง อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลกับลักษณะของการจัดงานที่ต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างบูท จากเดิม 3 เมตร ปรับเป็น 5 เมตร รวมถึงการงดงานบันเทิงรื่นเริง เช่น การนำดารานักร้องมาจัดคอนเสิร์ตต่าง ๆ”

นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดจำนวนคนเข้าร่วมงานที่รอบละ 4,000 คน เมื่อคำนวณตามโครงสร้างของอาคารและพื้นที่ เป็นต้น ด้วยข้อจำกัดเพิ่มเติมดังกล่าวส่งผลให้พื้นที่ในการจัดงานลดลง 30-40% เหลือแค่ 70% ทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมงานเดิมอยู่ที่ 6-7 แสนคน แต่ครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ 3 แสนคน ทำให้ยอดเงินสะพัดในงานปกติจะอยู่ที่ 2-3 พันล้าน ก็อาจลดลงพอสมควร หรือแย่ที่สุดอาจอยู่ที่ 1 ใน 3 จากยอดเดิม อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการนำกลยุทธ์ hybrid event มาปรับใช้ในการจัดงาน โดยเป็นการผสมผสานระหว่าง online to offline (O2O) ผ่านความร่วมมือกับยักษ์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ได้แก่ Lazada และ Shopee ที่จะให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ก่อนมารับของได้ภายในงาน เช่น เมื่อซื้อสินค้าขั้นต่ำ 7,000 บาทใน Lazada จะได้รับส่วนลด 1,000 บาท

ส่วน Shopee เมื่อซื้อขั้นต่ำ 8,000 บาทได้รับส่วนลด 8% หรือหากซื้อครบ10,000 บาท จากทั้งสองแพลตฟอร์มจะได้รับส่วนลด 1,000 บาท พร้อมจัดส่งสินค้าฟรีถึงที่บ้าน

ออนไลน์โตแต่อีเวนต์ไม่ตาย

“การแข่งขันที่มากขึ้นจากออนไลน์ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในอนาคต เราเองต้องดิสรัปต์ตัวเองโดยมีการทำออนไลน์ควบคู่ไปด้วย แต่ไม่ได้มองว่าออนไลน์จะเข้ามาทดแทนงานในรูปแบบของออฟไลน์ได้ทั้งหมด เพราะแม้ว่าช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ออนไลน์เติบโตแต่ถ้าเลือกได้ก็มองว่า ผู้คนยังอยากออกมาจับจ่ายใช้สอยมากกว่า เพราะได้เห็นและสัมผัสสินค้าจริง ประสบการณ์ของการซื้อสินค้าก็จะมีความแตกต่างกัน”

นายโอภาสกล่าวด้วยว่า ไบเทค บางนาซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ช่วยเหลือผู้จัดงานโดยการช่วยลดค่าเช่าพื้นที่ประมาณ 10% แต่บริษัทลดราคาให้ลูกค้าที่มาจัดบูทในงานอีก 20%

“ทุกวันนี้ใช้คำว่า รอดแล้วได้ แต่ใช้คำว่า รวยแล้วไม่ได้ แม้ว่าจะเห็นแสงสว่างแล้วว่ามันรอด แต่ต้องอยู่ที่อนาคตว่าจะไปโฟกัสในด้านไหน จะไปเฉพาะออนไลน์เลยไหม หรือจะมาแบบออฟไลน์เลยก็อีกเรื่องหนึ่ง”

สำหรับความต้องการใช้งานสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคไทย ตนมองว่ายังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ในทุกกรณี แต่อาจใช้เวลานานขึ้นกว่าที่จะเปลี่ยนเครื่อง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 18-24 เดือนขณะที่กระแสความต้องการเครื่องที่รองรับเทคโนโลยี 5G น่าจะมากขึ้นในครึ่งปีหลังของปีหน้า