จีน-อินเดีย น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

Photo by Manjunath Kiran / AFP
คอลัมน์ Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ข่าวอินเดียแบน TikTok และอีกหลายแอปพลิเคชั่นจากจีนเรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลกพร้อมความหวั่นใจว่าจะมาซ้ำเติมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในวงการเทคให้บอบช้ำยิ่งกว่าเดิมหลังโดนพิษโควิดกันทั่วหน้า

การแบนแอปจีนเกิดขึ้นหลังจากที่อินเดียต้องเสียทหารไปกว่า 20 นาย จากการปะทะกับทหารจีนบริเวณชายแดนเชื่อมต่อระหว่างประเทศทางแถบเทือกเขาหิมาลัย

ความสูญเสียดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นให้ประชาชนชาวอินเดียอย่างมากจนเกิดกระแสแอนตี้สินค้าจีนไปทั่วประเทศ

แต่ถ้าพิจารณาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดีย ความขัดแย้งนี้ไม่น่าจะนำไปสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบเหมือนที่เกิดขึ้นระหว่างอเมริกากับจีน ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

เพราะทั้งจีนและอินเดียต่าง “ต้องการ” กันและกัน เพื่อประคองตัวให้รอดจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ โดยเฉพาะอินเดียที่พึ่งพาจีนอย่างมากทั้งการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นและเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมหลักอย่างเทคโนโลยีและโทรคมนาคม

มูลค่าการค้าขายระหว่างอินเดียและจีนมีมากถึงปีละ 8 หมื่นกว่าล้านเหรียญ โดยอินเดียนำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าประเทศใดในโลก ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาทั้งสองประเทศเกื้อหนุนกันจนทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ บริษัทไฮเทคของจีนหอบเงินมาลงทุนในสตาร์ตอัพดาวรุ่งของอินเดียหลายพันล้านเหรียญ และเข้ายึดครองตลาดมือถือและแอปพลิเคชั่นในอินเดียอย่างเบ็ดเสร็จ

จากรายงานของ Gateway House พบว่า หลังจากจีนไม่สามารถโน้มน้าวให้อินเดียเข้าร่วมโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ (Belt and Road Initiative) จีนก็ใช้วิธีตีหัวเข้าบ้าน โดยมุ่งเจาะไปที่วงการเทคและโทรคมนาคมที่มีโอกาสเติบโตสูง

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จีนเข้าควบคุมวงการเทคโนโลยีของอินเดียด้วยการส่งสมาร์ทโฟนราคาถูกเข้าตีตลาด จนตอนนี้ Xiaomi ขึ้นแท่นผู้นำตลาดมือถือในอินเดียอย่างเต็มภาคภูมิ โดยมี Samsung ตามมาเป็นที่ 2 ส่วนอันดับที่ 3-5 ล้วนเป็นของจีน ได้แก่ Vivo Oppo และ RealMe ทำให้อินเดียเป็นตลาดมือถือที่ใหญ่ที่สุดของจีน

นอกจากนี้ จีนยังอัดฉีดเงินลงทุนกว่า 4 พันล้านเหรียญ ในเทคสตาร์ตอัพของอินเดียมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของเทคสตาร์ตอัพระดับ “ยูนิคอร์น” ในอินเดีย30 แห่งมีนักลงทุนจีนเป็นแบ็กทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีการประเมินว่าจีนเตรียมเงินอีกไม่น้อยกว่า 2.6 หมื่นล้านเหรียญเพื่อนำมาลงทุนในอินเดีย

แต่จีนไม่เอาแต่ได้อยู่ฝ่ายเดียว บริษัทมือถือของจีนทั้งหมดลงทุนสร้างโรงงานผลิตในอินเดีย เพื่อเพิ่มการ “จ้างงาน” ท้องถิ่นและถือโอกาสส่งเสริมโครงการ “Made in India” เพื่อเอาใจท่านนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ไปในตัว (เช่น 95% ของมือถือ Xiaomi ที่ขายในอินเดีย ก็ made in india)

ดังนั้น หากความขัดแย้งครั้งนี้บานปลายกลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบจริง ๆ ผู้ที่เสียหายหนักสุดคงหนีไม่พ้นอินเดีย

ส่วนจีนเองก็คงไม่อยากมีเรื่องกับอินเดียเช่นกัน เพราะมีศึกหนักต้องเผชิญหลายด้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโควิด ความขัดแย้งในฮ่องกง ไปจนถึงสงครามการค้ากับอเมริกา แอนด์ เดอะ แก๊ง (ล่าสุด อังกฤษปฏิเสธไม่ให้หัวเว่ยติดตั้งโครงข่าย 5G ตามอเมริกาไปแล้ว)

การที่สินค้าจีนโดนบอยคอตในหลายประเทศยิ่งทำให้จีนต้องการอินเดียมากขึ้น แต่ละปีจีนส่งออกสินค้าไปอินเดียถึง 6.5 หมื่นล้านเหรียญ ลำพังยอดขายมือถือจีนในอินเดียก็มีมูลค่าถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญ แถมคนรุ่นใหม่ยังสนใจเทคโนโลยีและชอบใช้แอปพลิเคชั่นของจีนมาก เช่น TikTok แอปเดียวก็มีคนใช้งานถึง 120 ล้านคน

การที่อินเดียเป็นตลาดอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีผู้ใช้งานกว่า 600 ล้านคน และด้วยประชากรกว่า 1.38 พันล้าน ที่หมายความว่าตลาดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ยิ่งทำให้จีนต้องการอินเดียมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายในการขึ้นเป็น “ผู้นำด้านเทคโนโลยี” ของโลก

ด้วยความสัมพันธ์แบบ “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” เช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายมองว่ามีโอกาสที่จีนและอินเดียจะสะบั้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังนั้นมีค่อนข้างน้อย ทำให้แรงกดดันทั้งหมดตกอยู่ที่ฝ่ายการเมืองและทหารว่าจะยุติความขัดแย้งบริเวณชายแดนอย่างไร