Amazon กับข้อครหาเรื่องการผูกขาด

amazon
Photo by INA FASSBENDER / AFP
คอลัมน์ Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ในวันที่เทคโนโลยีมีบทบาทต่อชีวิตผู้คนทั่วโลก บริษัท “Big Tech” กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่กำหนดทิศทางและความเป็นไปของโลก หนึ่งในขาใหญ่ประจำวงการ คือ Amazon จากร้านขายหนังสือออนไลน์เมื่อ 25 ปีก่อน วันนี้ Amazon เป็นเจ้าของระบบค้าปลีกออกไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าในตลาดถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญ (มากกว่า GDP ของเจ้าน้ำมันอย่างซาอุดีอาระเบีย) ทำให้ เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัทกลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

แต่ถ้ายิ่งโตยิ่งดี เจฟฟ์ เบซอส คงไม่ถูกคณะอนุกรรมาธิการของสภาที่ดูแลเรื่องกฎหมายต่อต้านการผูกขาดเรียกไปชี้แจ้งเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมผองเพื่อนซีอีโอ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่ง Facebook ทิม คุกแห่ง Apple และ ซันดาร์ พิชัย แห่ง Google ความยิ่งใหญ่ของ Amazon ได้รับการจับตาว่าเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เกิดการแข่งขันในตลาด ทั้งยังโดนกล่าวหาว่ามีการนำข้อมูลของร้านค้ามาวิเคราะห์ดูเทรนด์ว่าสินค้าตัวไหนจะขายดีจะได้ผลิตภายใต้แบรนด์ตัวเองออกมาขายบ้าง

บรรดาพ่อค้าแม่ค้ายังบ่นกันระงมถึงความสับสนและความไม่โปร่งใสของ Amazon โดยเฉพาะช่วงโควิดที่บริษัทออกกฎใหม่ว่าจะรับเฉพาะสินค้าที่จำเป็นแต่ไม่ระบุรายละเอียดทำให้ร้านค้าจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้วจากนโยบายล็อกดาวน์ต้องดิ้นรนหาทางกระจายสินค้ากันเองผ่านช่องทางอื่นแต่ยังต้องกัดฟันส่งเงินค่าธรรมเนียมเดือนละ 39.99 เหรียญ

ยังมีเรื่องค่าหัวคิวที่สูงถึง 30% แต่พอมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น ส่งสินค้าผิดไปให้ลูกค้าร้านค้ากลับเป็นคนโดนด่า นอกจากต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าหัวคิวแล้วยังรู้สึกกดดันให้ต้องซื้อโฆษณาด้วยหากอยากให้สินค้าเข้าตาลูกค้ามากที่สุด

ปกติลูกค้า Amazon จะรู้อยู่แล้วว่าอยากได้อะไร พอเข้าเว็บ (หรือแอป) ก็จะเสิร์ชหาสินค้านั้นทันทีโดยมักไม่ค่อยเสียเวลากวาดตาดูอะไรเกินกว่ารายการสินค้าในหน้าค้นหาหน้าแรกที่ปรากฏขึ้น ดังนั้น ร้านที่อยากเพิ่มโอกาสการขายก็ต้องยอมจ่ายเงินซื้อโฆษณาเพื่อให้ร้านตัวเองปรากฏที่หน้าแรกของการค้นหา ทำให้เกิดมหกรรมแข่งกันประมูลคำค้นหาในกลุ่มร้านค้าด้วยกัน คำไหนยิ่งมีคนอยากได้มาก ราคาก็ยิ่งพุ่งแรง

คนที่แฮปปี้ที่สุดหนีไม่พ้น Amazon รับเงินค่าโฆษณาขึ้นแท่นอันดับ 3 ของยักษ์ใหญ่ที่ขาย digital ad มากสุดในอเมริกา ฟันรายได้ไตรมาสแรกไปเกือบ 4 พันล้านเหรียญ เป็นรองแค่ Facebook และ Google
ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นกระทู้หลักที่เจฟฟ์โดนสมาชิกของคณะอนุกรรมาธิการไล่บี้ โดยเฉพาะเรื่องการนำข้อมูลของร้านค้ามาใช้เพื่อผลิตสินค้าตัวเองที่เคยมีผู้บริหารระดับสูงของ Amazon บอกปัดว่าไม่เป็น
ความจริงไปเมื่อปีก่อน

เจฟฟ์ไม่ได้ปฏิเสธเสียงแข็งอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ไม่บอก “yes” or “no” แต่กลับเลี่ยงว่าตามกฎแล้วบริษัทไม่อนุญาตให้นำข้อมูลร้านค้ามาใช้เพื่อผลิตสินค้าของตัวเอง แต่ไม่สามารถ “การันตี” ได้ว่าจะไม่เคยมีใครละเมิดกฎนี้

Amazon มักอ้างว่าช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ผู้คนมากมาย บรรดาร้านค้า ที่ขายของบนแพลตฟอร์มของบริษัทมีรายได้เฉลี่ยปีละ 160,000 เหรียญ (แต่ไม่บอกว่าหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าไหร่) และจากการสำรวจของ Statista ในปี 2019 ยังพบว่า 82% ของผู้บริโภคเลือกซื้อของบน Amazon เพราะราคาดี และ 89% มีความเชื่อมั่นในบริษัท

ความพอใจของผู้บริโภคกลายเป็นเกราะคุ้มภัยให้ Amazon และเมื่อดูสาระสำคัญของกฎหมายต่อต้านการผูกขาดก็เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ต้องซื้อ “ของแพง” ทำให้ Amazon ดูไม่เข้าข่ายนี้ไปโดยปริยาย การมีบริษัทลูกที่รายได้กระฉูดอย่าง Amazon web services ยิ่งทำให้ Amazon มีเงินมาลงทุนขยายระบบ logistics ต่อเนื่อง ทั้งสร้างโรงเก็บสินค้าเพิ่ม และเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้าผ่านกองทัพยานยนต์สารพัดชนิดทั้งทางบกและทางอากาศ


แม้ในช่วงโควิดยังลงทุนเพิ่มอีก 4 พันล้านเหรียญสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากไวรัสให้มากที่สุด ซึ่งต่อมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดเมื่อยอดสั่งซื้อของช่วงล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นถึง 60%
บรรดาร้านค้าที่ต่อให้ไม่พอใจแค่ไหนก็ต้องยอมรับความจริงว่า ชีวิตนี้คงขาด Amazon ไม่ได้ และจะไปหาแพลตฟอร์มไหนที่เข้าถึงลูกค้าได้มากขนาดนี้อีก