จุฬาฯ-กสทช. โชว์ใช้งาน 5G ตรวจโรคตา-วัดคุณภาพอากาศ

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จัดงานแสดงผลงาน Use cases ในโครงการจัดตั้งศูนย์ทดลอง/ทดสอบ 5G ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอแนวทางการนำไปใช้งานจริง บนเครือข่าย 5G ภายใต้แนวคิด ‘5G For Real’ ณ 5G AI/IOT Innovation Center

นายบุญชัย สถิตย์มั่นในธรรม ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดตั้งศูนย์ทดลอง/ทดสอบ 5G ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)

และได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ รวมทั้งผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคม เพื่อร่วมจัดทำ open platform สำหรับการวิจัยเทคโนโลยี การใช้งานจริง ภายใต้ sandbox เพื่อทดสอบระบบ 5G เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ เพื่อพัฒนาให้เป็นบริการนำร่อง และนำเสนอบริการดังกล่าวต่อสาธารณชน

 

โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณราว 58 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และมีผลงาน Use cases ต่าง ๆ นำมาแสดง เพื่อการทดลอง/ทดสอบการใช้งานอุปกรณ์การสื่อสารบนเครือข่าย 5G รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี 5G

และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการขอเป็นผู้ประสานพื้นที่กำกับดูแล เป็นการเฉพาะ และ กสทช. ได้อนุญาต ตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2562 ถึง 10 ธันวาคม 2567 เป็นเวลา 5 ปี ครอบคลุมพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ใช้คลื่นความถี่ 5G ย่านต่าง ๆ เพื่อให้มีการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมเทคโนโลยี 5G รวมถึงทดสอบการรบกวนกันหรือการร่วมใช้คลื่นความถี่ระหว่างเทคโนโลยี 4G และ 5G เป็นต้น

สำหรับผู้เข้าร่วมแสดงผลงาน นอกจากคณาจารย์และนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบโทรคมนาคม เช่น เอไอเอส, ทรู, หัวเว่ย เป็นต้น แบ่งการทดสอบทดลองเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ด้าน healthcare 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการส่งข้อมูลภาพการตรวจโรคตาทางไกลผ่านระบบสื่อสารแบบไร้สายเพื่อการผ่าตัด และ 2) โครงการพัฒนาการสื่อสารและส่งถ่ายข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในโรงพยาบาล

ด้าน smart living และ connected society มี 8 โครงการ ได้แก่

1) โครงการการพัฒนาและควบคุมหุ่นยนต์บริการผ่านโครงข่าย 5G

2) โครงการจัดสร้างระบบเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดสภาพฝุ่นละอองติดตั้งบน smart pole และรถ pop bus รวมถึงการติดตั้งและทดสอบระบบ CCTV บนรถประจำทาง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้งานของผู้โดยสาร CU Pop Bus

3) โครงการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือนในพื้นที่มหาวิทยาลัยบนเครือข่าย 5G

4) โครงการพัฒนาต้นแบบยานยนต์อัตโนมัติ และการเคลื่อนย้ายรถระหว่างจุดจอด

5) โครงการติดตั้งและทดสอบระบบการใช้งานเสาไฟยุคหน้าบนเทคโนโลยี 5G

6) โครงการสร้างมิเตอร์อัจฉริยะเฟสเดียวโดยใช้เทคโนโลยี NB-IoT, LoRa และ 5G

7) โครงการติดตั้งระบบควบคุมไฟถนนอัจฉริยะ

8) โครงการวิเคราะห์และประมวลภาพ VDO แบบเวลาจริงด้วย cloud computing

และประเภทอื่นๆ 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการ PolluSmartCell การวิจัยที่อาศัยปรากฏการณ์ทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในโครงข่ายการสื่อสารเพื่อประเมินการเกิด Temperature Inversion ในชั้นบรรยากาศ และ
2) โครงการอบรมให้ความรู้ความชำนาญในการทดลอง/ทดสอบระบบเครือข่าย 5G และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศ