อีกทางเลือกของตลาดทุน ยุคหลังโควิด-19

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

การระบาดของโควิดคาดว่าจะควบคุมได้ดีมากขึ้น ดูจากการตื่นตัว จากระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” แม้ช่วงหลังคนอาจไม่ค่อยสแกนบ้างแล้ว สังเกตได้ว่ามีการจัดการปัญหาได้เร็วมากขึ้นหรือจากข่าวต่างประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่นก็ชื่นชมประเทศไทยในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีการทำงานได้ดีในเรื่องควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19

การจัดการที่ดีทำให้ไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ เช่น ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว ฯลฯ ก็มีโครงการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ร่วมกับแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทย

ปัจจุบันทุกธนาคารในประเทศไทยส่วนใหญ่มีการขยับตัวเปลี่ยนแปลง อย่างธนาคารกสิกรไทยมีการเปิดตัว KBTG ที่เป็นบริษัทด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิด SCB 10X การลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากมาย ธนาคารของรัฐอย่างกรุงไทยก็เติบโตต่อเนื่อง เริ่มมี innovation center มีทีมนักพัฒนาจำนวนมาก ต่างจากเมื่อก่อนมากเลยทีเดียว

จากที่เคยมีคนบอกว่าธนาคารจะแย่แน่นอนเมื่อฟินเทคมา แต่จะเห็นได้ว่าแบงก์หรือธนาคารกำลังพัฒนาไปเร็วมาก เป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีการตื่นตัว หรือที่เรียกว่า paranoid

(พารานอยด์) คือกลัวจนตั้งรับการมาถึงของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ดีเลยทีเดียว บอกได้เลยว่าตอนนี้เกือบทุกธนาคารมีการเปิดบริการด้านดิจิทัลแบงก์กันหมดแล้ว จะเห็นว่าธนาคารของไทยมีการปรับตัวได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันสตาร์ต

อัพไทยเองก็พัฒนาตัวเองได้ดีมากขึ้นด้วย ปกติในการระดมทุนต้องเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ที่ผ่านมาคงเคยได้ยินคำว่า P2P lending (peer-to-peer lending) ซึ่งมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาไม่นาน แต่ต้องยอมรับว่ามีสตาร์ตอัพไทยบางแห่งทำเรื่องนี้นำหน้าไปก่อนแล้ว

ตัวอย่างมีอยู่เจ้าหนึ่งที่ทำเป็นแพลตฟอร์มสำหรับเจ้าของธุรกิจที่อยากได้เงินลงทุน ให้เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ ทำการยืนยันตัวตน

กรอกข้อมูล บอกรายละเอียดเรื่องของการเงินว่าเป็นอย่างไร แพลตฟอร์มนี้จะคล้ายกับ ก.ล.ต.ที่จะตรวจสอบบริษัทว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หลังจากนั้นจึงแจ้งว่าต้องการเงินเท่าไหร่ เขาจะนำจำนวนเงินที่คุณต้องการนี้ไปโพสต์ไว้ในตลาดกลางหรือเว็บกลางที่ฝั่งหนึ่งจะเชื่อมต่อกับคนที่ต้องการเงิน

และอีกฝั่งก็เชื่อมต่อกับคนที่มีเงินแล้วอยากลงทุน

แต่ต้องบอกก่อนว่ามีขั้นตอนที่ค่อนข้างเยอะ ใช้เวลามากสักนิด เพราะอยู่ภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ ต้องมีการโทร.ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ว่าเป็นความจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการโกงจากมิจฉาชีพ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ใหม่มาก หากเกิดความผิดพลาดธุรกิจอาจพังได้ ซึ่งใน marketplace ของเขามีอยู่ 5-6 บริษัท บางบริษัทต้องการกู้เงิน 5-15 ล้านบาท แต่ละคนจะมีอัตราดอกเบี้ยที่จะให้กับคนที่ไปลงทุนแตกต่างกัน ดอกเบี้ยให้ทุกเดือน 5-15% ซึ่งดีมาก

การกู้ยืมมีความเสี่ยง และในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ สิ่งที่จะเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าควรให้หรือไม่นั้นก็คือ ต้องดูว่าเรารู้จักบริษัทนั้นหรือไม่ ซึ่งจะมีข้อมูลของบริษัทที่สตาร์ตอัพหรือบริษัทจะกรองข้อมูลไปให้ก่อน มีคะแนนจัดอันดับให้ ตั้งแต่ AA, A, B เป็นต้น หากต้องการจองก็ทำได้เลย แล้วเมื่อถึงเวลาคุณก็โอนเงินไปให้

ที่ว่ามานี้คือเว็บไซต์ที่ชื่อ www.peerpower.co.th เรียกว่าเป็นที่ที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าไประดมทุน และดูข้อมูลได้หากต้องการลงทุนในบริษัทใด คล้าย ๆ การซื้อตั๋ว B/E ซึ่งทุกอย่างทำผ่านดิจิทัลได้หมดเลย peer-to-peer เป็นสิ่งที่ธนาคารน่าจะกลัว เพราะต่อไปไม่ต้องเข้าธนาคาร ไม่มีตัวกลาง บริษัทนี้เป็นตัวกลางระหว่างคนที่มีเงินกับคนที่อยากได้เงิน

ฉะนั้นทำหน้าที่เหมือนธนาคาร

ตรงนี้เรียกว่า peer-to-peer lending จากปลายทางหนึ่งตรงไปยังอีกปลายทางหนึ่งโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ผมมองเห็นว่ากำลังจะมีบริการในลักษณะนี้ออกมาอีกเรื่อย ๆ ตอนนี้มีหลายบริษัทกลุ่มพวก nonbank กลุ่มบริษัทไฟแนนซ์ต่าง ๆ ก็อยากกระโดดเข้ามาทำตรงนี้

ฉะนั้น ในอนาคตอันใกล้ในแง่ของผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจจะมีทางเลือกในการที่จะขอเงิน กู้เงิน ฯลฯ ได้หลากหลายวิธีมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามานี้เอง