ธุรกิจวิจัยออนไลน์แรง ไวซ์ไซท์ชู วิเคราะห์ดาต้า เสริมแกร่งธุรกิจไทย

วิจัยออนไลน์แรง

การแพร่ระบาดโควิด-19 จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากภาคธุรกิจไทย เพื่อช่วยเปิดโอกาสและขยายตลาดใหม่ไปต่างประเทศ จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว เปิดรับข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น และผู้บริโภคแต่ละประเทศก็เลือกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างกัน

“กล้า ตั้งสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลในไทย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด-19 เปลี่ยนไป โดยเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์สูงขึ้น รวมถึงแบ่งเวลาให้กับโซเชียลมีเดียมากขึ้น ดังนั้น แบรนด์ต้องแย่งพื้นที่ แย่งความสนใจจากผู้บริโภคด้วยทำให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับงานวิจัยออนไลน์เพิ่มขึ้น เนื่องจากใช้ระยะเวลาการเก็บข้อมูลสั้นกว่าวิจัยรูปแบบเดิมซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอลที่เปลี่ยนเร็ว

จุดเด่นของไวซ์ไซท์ คือ การนำระบบ “AI” (artificial intelligence) เข้ามาใช้วิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย ลดความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่ได้ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากทีมนักวิเคราะห์ข้อมูล (data analyst) ล่าสุดเปิดบริการ “Cross Border Consumer Insights Research” ที่มีเครือข่าย 21 ประเทศ ครอบคลุม 30 ภาษา ได้แก่ ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย เป็นต้น โดยเก็บข้อมูลจากออนไลน์ 20 แพลตฟอร์ม เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ทีมอลล์ ลาซาด้า โยวคู่ (YouKU) เป็นต้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ขยายธุรกิจในต่างประเทศได้ดีขึ้น

“หลังโควิด-19 แบรนด์ใหญ่ และเอสเอ็มอี ให้ความสำคัญกับงานวิจัยออนไลน์มากขึ้น ข้อมูลกลายเป็นขุมทรัพย์สำคัญในการนำวิเคราะห์ เพื่อแย่งความสนใจ และเจาะเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด”

“พเนิน อัศววิภาส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำว่า หมดยุคการสื่อสารในวงกว้างที่เจาะผู้บริโภคทุกกลุ่ม (one size fit all) แต่แบรนด์ต้องปรับการสื่อสารให้แยกย่อยมากขึ้น ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลาย ขณะที่โจทย์การทำวิจัยออนไลน์ก็ต้องเข้าใจพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของผู้บริโภคแต่ละประเทศเนื่องจากความนิยมต่างกัน เช่น จีน นิยมใช้ YouKU เมียนมา นิยมใช้ Facebook เป็นต้น โดยงานวิจัยของบริษัทจะวิเคราะห์ 5 เรื่อง ได้แก่ วิเคราะห์คู่แข่ง จุดอ่อนของลูกค้า ช่องทางการสื่อสารและการใช้งานโซเชียลมีเดีย และความนิยม influencer ของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ และวิเคราะห์ว่าผู้บริโภคพูดถึงแบรนด์อย่างไร ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเข้ามาช่วยให้แบรนด์เจาะเข้าถึงผู้บริโภคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ประกอบการไทย 2 กลุ่มหลักใช้บริการ คือ โลจิสติกส์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำลังเติบโตโดยกลุ่มเอสเอ็มอีไทย เน้นเจาะตลาดเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม เมียนมา ขณะที่รายใหญ่เน้นบุกตลาดกลุ่มยุโรป จีน