คอลัมน์ Tech Times มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2020 นอกจากจะเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปเพื่อตัดสินว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปแล้ว ยังเป็นวันชี้ชะตาของสตาร์ตอัพชั้นนำที่ให้บริการ ride-sharing อย่าง Uber ในแคลิฟอร์เนียด้วย
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาต้องถือว่าเป็นฝันร้ายของบริษัท ride-sharing โดยเฉพาะ Uber
จากที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกตลาด gig economy ให้เติบโตไปทั่วโลก วันนี้ Uber โดนรุมเร้าด้วยปัญหานานาประการ ทั้งราคาหุ้นที่ร่วงผล็อยนับตั้งแต่ทำ IPO ชื่อเสียงที่เสียหายจากข่าวฉาวทั้งเรื่องเอาเปรียบแรงงานและวัฒนธรรมองค์กรที่เลวร้าย แถมมาเจอพิษโควิดเข้าไปอีกทำให้ต้องเลย์ออฟพนักงานรอบแล้วรอบเล่า
แต่ปัญหาที่หนักหนาที่สุด คือ เสียงเรียกร้องทั้งจากตัวคนขับ เอ็นจีโอและนักการเมืองที่ต้องการให้มีการคุ้มครองแรงงานและสวัสดิภาพของคนขับมากขึ้น
หนึ่งในมาตรการที่เด่นชัด ได้แก่ การเคลื่อนไหวในแคลิฟอร์เนียที่ผู้ว่าการรัฐผ่านกฎหมาย (Assembly Bill 5 หรือ AB-5) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ลูกจ้างมีสถานะเป็น “พนักงาน” และพึงได้รับสิทธิผลประโยชน์และการคุ้มครองเยี่ยงพนักงานตราบที่พวกเขายังทำงานที่เกี่ยวข้องกับ “ธุรกิจหลัก” ของบริษัท หรือทำงานภายใต้การ “ชี้แนะ” ของนายจ้าง
หากบริษัทอยากกำหนดสถานะให้ลูกจ้างเป็น “ลูกจ้างชั่วคราว/ผู้รับจ้างอิสระ” ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ลูกจ้างไม่มีคุณสมบัติของการเป็น “พนักงาน” ตามที่กำหนดไว้ เช่น มีอิสระจากการควบคุมของบริษัทอย่างแท้จริง หรือมีงานอื่นนอกเหนือจากนี้
ล่าสุดคณะกรรมการแรงงานของแคลิฟอร์เนียยังใช้ กม.นี้ฟ้อง Uber และ Lyft ข้อหา “ปล้นค่าจ้างคนงาน” เพราะแทนที่จะปรับสถานะคนขับให้เป็น “พนักงาน” ตามที่ กม. AB 5 กำหนด บริษัทกลับจัดให้คนขับเป็น “พนักงานอิสระ” เช่นเดิม ทำให้คนขับถูกเอาเปรียบและได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่พึงได้
นอกจากฟ้องให้บริษัททำการจัดประเภทแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ทางคณะกรรมการแรงงานยังเรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นเงินค่าแรงที่แอบเบี้ยวไปจนถึงสวัสดิการอื่น ๆ เช่น ค่าโอที ค่าคุ้มครองการรักษาพยาบาล เป็นต้น
เพื่อความอยู่รอด Uber และ Lyft ในฐานะพี่ใหญ่ประจำวงการจึงผลักดันร่าง กม.ใหม่ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณพร้อมประนีประนอมกับลูกจ้างโดยภายใต้ กม.นี้บริษัทจะยอมปรับค่าแรงให้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 20% และจ่ายค่าน้ำมันให้ 30 เซนต์/ไมล์ เป็นการแลกเปลี่ยน
ต้องไม่ลืมว่าปัจจัยที่ทำให้ Uber และสตาร์ตอัพที่ให้บริการ ride-sharing รายอื่นเติบโตขึ้นมาได้มาจากการไม่ต้องจ่ายเงินเดือนรวมทั้งสวัสดิการอื่น ๆ ให้แก่คนขับซึ่งถือเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ที่เอกชนทั่วไปต้องแบกรับ
หากข้อได้เปรียบนี้ถูกทำลายไป บริษัทคงอยู่ยากหรือไม่ก็หืดขึ้นคอ
ดังนั้น ต่อให้สถานะการเงินจะง่อนแง่นด้วยผลประกอบการที่ติดลบตั้งแต่ต้นปี ทั้งสองบริษัทก็จำต้องกัดฟันทุ่มงบประมาณกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญในการทำแคมเปญผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า The Protect App-Based Drivers & Services Act
ระหว่างนั้น Uber ก็ยังยืนยันว่าบริษัทได้ปรับการทำงานใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนขับสามารถทำงานได้อย่างอิสระตามกรอบของกฎหมาย บริษัทย้ำว่าคนขับส่วนใหญ่อยากเป็นแรงงาน “อิสระ” เพื่อความคล่องตัวในการกำหนดตารางชีวิตของตัวเอง อีกทั้งตอนนี้ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผู้นำควรหาทางเพิ่มงานเพิ่มอาชีพให้ชาวบ้านแทนที่จะมาพรากโอกาสในการทำมาหากินของผู้คน
แต่ร่างกฎหมายที่บริษัทผลักดันจะผ่านหรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับผลประชามติในวันที่ 20 พ.ย. อันเป็นวันที่ชาวแคลิฟอร์เนียจะพร้อมใจออกมาโหวตว่าเห็นชอบกับร่าง กม.ฉบับนี้หรือไม่
ด้วยภาวะของบริษัทที่ดูนับวันจะดิ่งลงไปเรื่อย ๆ ใครเอาใจช่วยอยู่คงต้องลุ้นกันตัวโก่งในวันนั้น
เพราะผลประชามติครั้งนี้นอกจากจะกำหนดชะตาชีวิตของแรงงานอิสระในแคลิฟอร์เนียแล้ว ยังคาดว่าจะก่อให้เกิด domino effect ไปทั่วประเทศ (หรือแม้กระทั่งทั่วโลก) แล้วยังเป็นตัวกำหนดทิศทางของบริการ ride- sharing และชะตากรรมของ Uber และสหายร่วมวงการอีกด้วย