‘เอสเอ็มอี’ ตื่นตัวโกดิจิทัล ‘ซิสโก้’ ย้ำโอกาสพลิกธุรกิจ-เศรษฐกิจ

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์

วิกฤตโควิด-19 กระทบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่เฉพาะในประเทศไทย

“วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างหนัก แต่ยังดำเนินธุรกิจและมีมาตรการรับมือโดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งในประเทศไทยหลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม ทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาจับจ่ายอีกครั้ง หากพิจารณาข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะเห็นว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีมีสัดส่วน 85.5% ของแรงงานในประเทศไทย และสร้างมูลค่าให้จีดีพีถึง 43%

ด้วยเหตุนี้ เอสเอ็มอีจึงมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตหลังวิกฤตโควิด-19

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซิสโก้ร่วมกับ International Data Corporation (IDC) ศึกษาความพร้อมด้านดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific SMB Digital Maturity Study) ประจำปี 2563 โดยสำรวจความคิดเห็นของธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 1,400 ราย ใน 14 ประเทศ พบว่าธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลมากกว่าจะได้ประโยชน์สองเท่าในแง่รายได้ และผลผลิต เมื่อเทียบกับธุรกิจที่ไม่สนใจปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล

เอสเอ็มอีไทยพร้อมโกดิจิทัล

และพบว่า 73% ของเอสเอ็มอีในไทย มีแผนปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัลเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ขณะที่ 50% ตระหนักว่า คู่แข่งกำลังปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล และพวกเขาต้องก้าวตามให้ทัน อีก 23% กำลังปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเพราะลูกค้าต้องการ

ขณะที่การปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอีจะเพิ่มมูลค่า 2.6-3.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 80-100 ล้านล้านบาท ให้จีดีพีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ภายในปี 2567 โดยจีดีพีของเอเปกจะเติบโต 10.6-14.6 ล้านล้านดอลลาร์ และการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของเอสเอ็มอี คิดเป็นสัดส่วนถึง 25% ของการเติบโตดังกล่าว โดยเกือบ 70% ของเอสเอ็มอีกำลังเร่งการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัล ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด-19 โดยเอสเอ็มอี 86% เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคตได้ด้วย

สำหรับในประเทศไทยจะเพิ่มมูลค่า 35,000-41,000 ล้านดอลลาร์ ให้จีดีพีภายในปี 2567 และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

“คน” โจทย์ท้าทาย

ปัจจุบันเอสเอ็มอีในประเทศไทยให้ความสำคัญในการลงทุนจัดซื้อหรืออัพเกรดซอฟต์แวร์ไอที 20% ตามด้วยการจัดซื้อ และอัพเกรดฮาร์ดแวร์ไอที 15% และการลงทุนในคลาวด์ 11%

แม้การทรานส์ฟอร์มเข้าสู่ดิจิทัลจะช่วยให้เอสเอ็มอีได้รับผลประโยชน์ในแง่รายได้และผลผลิต แต่ยังต้องเผชิญความท้าทายเฉพาะหน้ามากมาย โดยกว่า 20% ระบุว่า การขาดแคลนทักษะด้านดิจิทัล และการเข้าถึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล

18% ระบุว่าการไม่มีโรดแมปในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลเป็นปัญหาสำคัญ และ 15% มองว่าการขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็น เป็นอุปสรรคต่อเอสเอ็มอี แต่ยังเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

จากการศึกษาความพร้อมด้านดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอีในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific SMB Digital Maturity Study) ประจำปี 2563 ได้ระบุถึงดัชนีความพร้อมด้านดิจิทัลของธุรกิจเอสเอ็มอี (SMB Digital Maturity Index) ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ กลยุทธ์ด้านดิจิทัลและองค์กร กระบวนการดิจิทัลและการกำกับดูแล เทคโนโลยีดิจิทัล และบุคลากรดิจิทัลและทักษะ

สำรวจ 4 ดัชนีความพร้อม

โดยแบ่งความพร้อมเป็น 4 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 digital indifferent บริษัทที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของตลาดในลักษณะเชิงรับ และไม่มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล

ขั้นที่ 2 digital observer บริษัทที่เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ขั้นที่ 3 digital challenger บริษัทที่มีกลยุทธ์ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และตอบสนองต่อตลาดในลักษณะเชิงรุก และขั้นที่ 4 digital native บริษัทที่มีกลยุทธ์ด้านการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างครบวงจร และมุ่งเน้นการขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

ผลการศึกษาพบว่า 16% ของเอสเอ็มอีในภูมิภาคนี้ มีความพร้อมด้านดิจิทัลขั้นสูง ในขั้นที่ 3 และ 4 เปรียบเทียบกับ 11% ในปี 2562 และมากกว่าครึ่งหนึ่งได้ปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลในระดับหนึ่งและอยู่ในสถานะของ digital observer หรือขั้นที่ 2 และมีเพียง 31% ที่ยังคงตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดในลักษณะเชิงรับ และแทบไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล หรือเรียกกันว่า ขั้นที่ 1

โดย “เอสเอ็มอี” ในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ยังเป็นผู้นำในกลุ่มdigital observer แต่จีน ไต้หวัน และไทยแซงหน้าเกาหลี ฮ่องกง และมาเลเซียตามลำดับ ทั้งเอสเอ็มอีในอินโดนีเซียและเวียดนาม มีความคืบหน้าในการดำเนินงานปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้น

ด้านพิธาน รอย กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจขนาดเล็กประจำเอเชีย-แปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน ซิสโก้ กล่าวว่าบริษัทมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ในแง่การพัฒนาบุคลากร โดย Cisco Networking Academy ฝึกอบรมบุคลากรกว่า 2.5 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน อีกทั้งได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ และโซลูชั่นภายใต้กลุ่มผลิตภัณฑ์ “CiscoDesigned” เพื่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ