“อินทัช” กำไรครึ่งปีแรก 5,721 ล้าน ปันผล 1.15 บาท/หุ้น

เอนก พนาอภิชน

บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช รายงานผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 โดยมีกำไรสุทธิที่ 5,721 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน พร้อมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 1.15 บาท โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 4 กันยายน 2563

นายเอนก พนาอภิชน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อินทัช ประกอบธุรกิจการลงทุนในบริษัทอื่น เมื่อบริษัทที่เข้าลงทุนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้อินทัชได้รับผลกระทบตาม โดยกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกลดลงร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 5,721 ล้านบาท เป็นผลมาจากการรับรู้ผลกำไรของ เอไอเอส ลดลงร้อยละ 8.3 จากการลดลงของรายได้ ขณะที่ไทยคมมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น พลิกจากขาดทุน 69 ล้านบาท มาเป็นกำไร 286 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากเงินชดเชยในไตรมาสที่ 2/2563

สำหรับ เอไอเอส มีกำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรก/2563 ที่ 14,239 ล้านบาท ลดลง 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 4.5% ขณะที่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรายได้เติบโตขึ้น 25% จากการทำงานที่บ้าน (Work from home) และเรียนที่บ้านทำให้มีลูกค้า 1.2 ล้านราย มีลูกค้าใหม่สูงสุดนับตั้งแต่เปิดบริการ ทั้งลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้น 5.4% จากความต้องการใช้ Data center, Cloud และ ICT solution เพิ่มต่อเนื่อง

หลังได้รับคลื่น 2600MHz เอไอเอสขยายโครงข่าย 5G ครบ 77 จังหวัด ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยในปี 2563 จะขยายบริการ 5G ครอบคลุม 13% ของประชากรไทย และ 50% ของประชากรในกรุงเทพ

ส่วนไทยคมในช่วงครึ่งแรกปี 2563 มีกำไรสุทธิ 695 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 168 ล้านบาท จากรายได้เงินชดเชยประกอบกับการลดลงของค่าเสื่อมราคาของดาวเทียมจากการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 5 รวมทั้งการด้อยค่าของดาวเทียมดวงอื่น ๆ ในปี 2562

อีกทั้งในครึ่งแรกปี 2563 โครงการอินเว้นท์ (InVent) ลงทุนรวม 202 ล้านบาท ใน 3 บริษัทใหม่ คือ บริษัท แอกซินัน พีทีอี ลิมิเต็ด ให้บริการประกันภัยดิจิทัลครอบคลุมสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ บ้าน และอุบัติเหตุส่วนบุคคล บริษัท ดาต้าฟาร์ม จำกัด ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยด้านไอที (IT Security) และบริษัท พาโรนีม ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มโฆษณาวิดีโอจากญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ได้ลงทุนเพิ่มในบริษัทที่ได้ลงทุนไปแล้วคือ บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ พีทีอี ลิมิเต็ด ผู้พัฒนานวัตกรรมการเงินและออกแบบแพลตฟอร์มเชื่อมต่อกับนักลงทุนโดยตรง ทำให้มูลค่าพอร์ตการลงทุนภายใต้โครงการอินเว้นท์ (ที่รวมมูลค่าบริษัทที่ได้ขายออกไป) ณ สิ้นมิ.ย. อยู่ที่ 1,253 ล้านบาท เพิ่มจาก 1,051 ล้านบาท ในสิ้นปี 2562 และมีบริษัทที่อยู่ภายใต้การลงทุนของอินเว้นท์ ปัจจุบันรวม 17 บริษัท

นายเอนกกล่าวต่อว่าทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปียังคงนโยบายการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยี และธุรกิจดิจิทัล มุ่งเน้นในกลุ่มเทคโนโลยีเกิดใหม่หรือเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งแสวงหาการลงทุนที่จะต่อยอดเทคโนโลยี 5G ในอนาคต