“สกว.” ส่ง3แอปฯ ดึงงานวิจัยจากหิ้ง แปลงร่างลงสมาร์ทโฟน !

สกว. เปิดตัว 3 แอปพลิเคชั่นเชื่อมงานวิจัยถึงสมาร์ทโฟนในมือประชาชน แปลงโฉมงานวิชาการหนาปึ้ก 10,745 โครงการเป็นอินโฟกราฟิก-คลิปวิดีโอ ตั้งเป้าเพิ่มข้อมูลในระบบปีละ 400 เรื่อง หวังเป็นคลังความรู้ให้ประเทศ

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ด้วยพฤติกรรมคนไทยที่ใช้งานสมาร์ทโฟนแล้วถึง 45 ล้านคน และใช้มากกว่าวันละ 5 ชั่วโมง ดังนั้นเพื่อการต่อยอดและผลักดันให้ประชาชนได้นำความรู้จากการวิจัยมาใช้ประโยชน์ สกว.จึงใช้เวลาราว 8 เดือนพัฒนา 3 แอปพลิเคชั่นให้พร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปแล้ว ได้แก่ 1. “สกว.” เป็นแอปสำหรับเผยแพร่ภารกิจของ สกว.ให้เข้าถึงนักวิจัย สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย อาจารย์ นักศึกษา เป็นต้น 2. “แปลงร่าง” แอปที่ได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านการวิจัยและสรุปผ่านสื่อที่เข้าใจง่าย ได้แก่ อินโฟกราฟิก และโมชั่นกราฟิก หวังให้ผู้สนใจนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงและแบ่งปันผ่านสังคมออนไลน์ และ 3. “สาระ” รวบรวมสื่อที่เป็นองค์ความรู้ของ สกว. อาทิ วารสาร TRF Channel

ปัจจุบันมีงานวิจัยกว่า 10,745 โครงการ ที่บรรจุอยู่ในฐานข้อมูลของแอปพลิเคชั่น และตั้งเป้าในปีหน้าจะมียอดดาวน์โหลดราว 5 หมื่นครั้ง และดึงดูดผู้ใช้งานมากขึ้น สำหรับงบประมาณในการพัฒนา 10% ของที่รัฐจัดสรรให้

เชื่อมงานวิจัย – สกว. เปิดตัว 3 แอปพลิเคชั่นใหม่เชื่อมโยงงานวิจัยเพร้อมแปลงร่างเป็นอินโฟกราฟิก-คลิปวิดีโอให้เป็นอาหารสมองย่อยง่ายๆ สำหรับทุกคน


ดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ รองผู้อำนวยการฝ่ายด้านการจัดการความรู้และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวเสริมว่า ไม่ใช่แค่การทำแอปพลิเคชั่น แต่ได้พยายามสรุปงานวิจัยที่มีความยาวมาก ๆ ให้เหลือแค่อินโฟกราฟิกหน้าเดียวหรือคลิปวิดีโอ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่ายขึ้นด้วย โดยตั้งเป้าจะสร้างอินโฟกราฟิก หรือคลิปวิดีโอขึ้นในระบบให้ได้ปีละกว่า 400 เรื่อง เพื่อให้ สกว.กลายเป็นคลังความรู้ของประเทศ ให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลที่ถูกต้องมากกว่าที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียที่มักมีส่วนที่ไม่ถูกต้อง


เบื้องต้นยังอยู่ระหว่างทดลองให้บริการ เพื่อนำความเห็นมาปรับปรุง โดยคาดว่าจะสมบูรณ์ได้ใน 1 ปี มีกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้คือ นักวิจัย ผู้ที่มีความรู้ และกลุ่มคนชั้นกลางที่มีสมาร์ทโฟน ส่วนกลุ่มชาวบ้าน สกว.ได้ใช้วิธีการให้ทุนชาวบ้านในการทำวิจัยแก้ปัญหาชุมชน โดยมีนักวิจัยจาก สกว.เป็นพี่เลี้ยง เพื่อสร้างองค์ความรู้ในชุมชนด้วย