ความท้าทายครั้งใหม่ “ปรเมศวร์ มินศิริ” สตาร์ตอัพรุ่นบุกเบิก

สัมภาษณ์พิเศษ

ถือเป็นสตาร์ตอัพแห่งวงการเทคโนโลยีรุ่นบุกเบิกก็ไม่ผิดนัก สำหรับผู้ก่อตั้งสนุกดอทคอม (www.sanook.com) ที่สามารถครองหน้าบราวเซอร์แรกและมัดใจนักอินเทอร์เน็ตในยุคนั้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว กับยุคเริ่มต้นของการปลุกกระแสเว็บไซต์สัญชาติไทยเมื่อ 20 ปีก่อน ก่อนเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของเว็บดอตคอมจนขายสนุกดอทคอม ให้ยักษ์ใหญ่จากแอฟริกาใต้ “MWEB” หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ไม่กี่ปี จากนั้นไม่นานก็ซื้อเว็บไซต์เล็ก ๆ “กระปุกดอทคอม” (www.kapook.com) มาปลุกปั้นใหม่อีกครั้ง จนวันนี้กระปุกดอทคอม ก็ยังเป็นเว็บที่มีผู้เข้าชมอันดับต้น ๆ ของไทย

จุดเริ่มต้นสตาร์ตอัพยุคแรก

“ปรเมศวร์ มินศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้บริหารเว็บไซต์กระปุกดอมคอม (www.kapook.com) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีมูลค่ามหาศาล ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไทยกำลังก้าวสู่ยุคที่ 3 หรือยุคที่ต่างชาติเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคไทย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ เป็นต้น ขณะที่รูปแบบการทำธุรกิจก็เปลี่ยนไป โดยทุกอย่างเป็นอีโคซิสเต็ม (ecosystems) มากขึ้น ต่างจากยุคแรกหรือเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนที่มีการเกิดขึ้นของเว็บไซต์ดอตคอมต่าง ๆ อย่างสนุกดอทคอม, พันทิป และกระปุกที่ต่างคนต่างทำ

“ปรเมศวร์” ขยายความว่า จุดเริ่มของดอตคอมในยุคแรก สำหรับเขาเองอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของ “โชคชะตา”ทั้งหมด เพราะตอนเริ่มทำเว็บไซต์สนุกดอทคอมก็ไม่มีใครรู้ว่าดอตคอมจะบูม เพราะเห็นว่าในยุคนั้นอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องใหม่ และคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ชอบเรียนรู้ ชอบลองอะไรใหม่ ๆ จึงเริ่มลองผิด ลองถูก และเรียนรู้จากประสบการณ์จริง

“ผมเขียนหนังสือขายเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตสำเร็จเป็นเล่มที่ 2 ของประเทศ ขายดีมากขายเป็นหมื่นเล่ม ตอนเริ่มเล่นอินเทอร์เน็ตจำได้ว่าไม่รู้จะไปเล่นที่ไหน ต้องขับรถไปโรงแรมดุสิตธานีมีไซเบอรคาเฟ่ไปลองเล่น ก็เริ่มศึกษาตั้งแต่นั้น หาหนังสือภาษาอังกฤษมาก่อนต้องใช้ความพยายามมาก ๆ จากนั้นก็เริ่มสร้างเว็บไซต์สนุกดอทคอมขึ้นมา พร้อมกับเขียนตำราการสร้างเว็บไซต์ออกมาด้วย”

คอนเซ็ปต์หลัก ๆ ของเว็บไซต์ สนุก คือ เป็นพอร์ทัลเว็บไซต์ เช่นเดียวกับยาฮู ที่รวบรวมทุกเรื่องที่เกิดขึ้น ก่อนที่กระแสของเว็บไซต์ดอตคอมจะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ ทำได้ 3 ปีก็ขายให้กับนักลงทุนต่างชาติในปี 2541-2542 ตัดสินใจขายสนุกดอทคอม ให้บริษัท MWEB และซื้อเว็บไซต์เล็ก ๆ อย่าง กระปุกดอทคอม (www.kapook.com) กลับมาปั้นอีกครั้ง

ยุค 3 จุดเปลี่ยนอุตฯไฮเทคไทย

“ยุคนี้กับเมื่อก่อนเทียบกันไม่ได้ คือยุคนี้เป็นยุคที่ดิจิทัลแรงมาก ถ้าถามว่าเราเอาตัวเองไปอยู่ถูกที่ถูกเวลาหรือเปล่า ผมอาจเป็นคนโชคดี เมื่อถึงเวลาที่ควรจะขาย ผมก็ขาย ผมขายก่อนที่ดอทคอมจะฟองสบู่แตก 2 ปี”

จนมายุคที่ 2 เกิดขึ้นประมาณปี 2553-2554 เป็นยุคที่ผู้ประกอบการไทยสร้างเว็บไซต์สัญชาติไทย และเริ่มกลับมาพีคมีโฆษณาออนไลน์เยอะขึ้นมาก

“ในยุคนี้ เราก็เข้ามาก่อนคนอื่นหลายปี พอดอทคอมเริ่มกลับมา หลายคนเพิ่งเข้ามาทำ แต่ผมทำไปแล้ว 7 ปี จึงเหมือนออกสตาร์ทนำไปก่อนคนอื่นอีกครั้งในรอบนี้ มีธุรกิจที่้เลี้ยงตัวเองได้ รายได้เป็นหลักร้อยล้านถือว่าเซอร์ไพรส์มาก จากที่เคยทำเว็บ Sanook ช่วงปีแรกๆ ก่อนขายกิจการ บางเดือนมีรายได้แค่หลักหมื่น ในภาพรวมทุกคนแฮปปี้กันหมด เพราะเข้าเร็วกว่าคนอื่นอีกครั้ง แต่อยู่ได้ไม่กี่ปีก็มีบทเรียนครั้งสำคัญจากการเข้ามาแพลตฟอร์มต่างชาติ เช่น ยูทูบ เฟซบุ๊ก” เมื่อเจ้าของแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้เข้ามาเปิดบริการในแต่ละประเทศ รวมถึงไทยจนถึงจุดที่ได้รับความนิยมก็เข้ามาเปิดสำนักงานในแต่ละประเทศ

“การมาของเฟซบุ๊กเริ่มเห็นผลมากขึ้นในปี 2555 จนมาถึงตอนนี้ ในช่วงแรกหลายคนกังวลกับการบุกของยักษ์ต่างชาติแต่เมื่อกลไกราคาค่าโฆษณาเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติถึงค่อยรู้สึกดีขึ้นบ้าง แต่จริงๆ แล้วนาทีนี้เป็นนาทีที่บ้านเราโดนยึดโดยแพลตฟอร์มต่างชาติ แต่ในอีกมุมก็ถือเป็นความท้าทาย”

ปั้นโซเชียลแพลตฟอร์มบุก ตปท.

ด้วยแนวทางและความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อ 3 ปีก่อน “ปรเมศวร์” เริ่มกลับมาทบทวนตัวเองว่า ควรยืนอยู่ตรงไหนของตลาด หลังจากนั้นจึงใช้ระยะเวลาเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น ใบรับรองระดับมืออาชีพสำหรับมืออาชีพที่เชี่ยวชาญในระบบการจัดการความปลอดภัยของข้อมูลตามมาตรฐาน ISO / IEC 27001, Facebook Blueprint Certification exams จากเฟซบุ๊ก จนได้รับใบรับรองการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การสร้างสรรค์งานการตลาด เป็นต้น

และในระหว่างเรียนคอร์สต่าง ๆ ทำให้ได้คิดว่า ถ้าตลาดไทยเล็กเกินไปก็ควรต้องออกไปบุกต่างประเทศ ด้วยการใช้ศักยภาพที่ประเทศไทยมีเป็นจุดแข็ง โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ตัดสินใจไปจดทะเบียนบริษัทใหม่ที่สหรัฐอเมริกา ในชื่อ “Dream Family” พร้อมสร้างแผนธุรกิจที่แตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ในตลาด แต่แผนธุรกิจต้องชะลอออกไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19

“ในยุคก่อตั้งสนุกดอทคอม เป็นการทำธุรกิจที่ถูกที่ ถูกเวลา พอมายุคที่ 2 กับการสร้างกระปุกดอทคอม ถือว่าเป็นยุคที่ธุรกิจสามารถดูแลตัวเองได้ ขณะที่ยุคที่ 3 มีการเข้ามาของผู้เล่นทุนหนาจากต่างชาติ ทำให้ต้องวางแผนมากขึ้น และต้องขยายตลาดให้กว้างขึ้น โจทย์ก็ต้องยากขึ้น การตั้งบริษัทดรีมแฟมิลี่ขึ้นมา เพราะต้องการสร้างกลไกบางอย่างที่จะทำให้เราสามารถบรรลุความฝันได้กับการพัฒนาบริการที่จะสามารถขายได้ทั่วโลก นั่นคือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย”

เป้าหมายจากนี้ไป คือ การปั้นโซเชียลแพลตฟอร์ม เพื่อออกไปบุกตลาดต่างประเทศ

สวมบทผู้บริหารเพย์เมนต์ยักษ์ใหญ่

อีกบทบาท “ปรเมศวร์”แบ่งเวลามานั่งเก้าอี้บริหารกับตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัท กสิกร โกลบอล เพย์เมนต์ (Kasikorn Global Payment) ในเครือธนาคารกสิกรไทย

“ปรเมศวร์” บอกว่า ตอนแรกได้รับการทาบทามให้มานั่งเก้าอี้กรรมการอิสระ ท้ายที่สุดผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยตัดสินใจให้มานั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการ เพื่อดูแลระบบรับชำระเงินออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “Pay Dii” ทำหน้าที่ดูแลบริการรับชำระเงินออนไลน์ให้เฟซบุ๊กในภูมิภาคอาเซียน และประเทศอื่น ๆ ที่เฟซบุ๊กกำลังจะลอนช์บริการนี้ รวมถึงในอนาคตเตรียมขยายบริการรับชำระเงินให้ธุรกิจอื่น ๆ เพื่อให้บริการร้านค้าต่าง ๆ

“เราพยายามพัฒนาระบบใหม่ ๆ และอยู่ข้างหลังความสำเร็จของบริษัทที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ซึ่งความยากของธุรกิจนี้ คือ ความละเอียด และซับซ้อนของข้อกฎหมายในแต่ละประเทศที่เฟซบุ๊กจะเข้าไปขยายตลาด ซึ่งโดยส่วนตัวมีแบ็กกราวนด์ด้านกฎหมายจึงทำได้เร็วขึ้น แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจที่เกี่ยวกับการเงินของ ทุกประเทศมีข้อกำหนดที่เข้มงวดแตกต่างกัน ทำให้ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ”

บทเรียน COVID-19…สร้างโอกาสใหม่

“ปรเมศวร์” กล่าวต่อว่า ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ก็เกิดคำว่า new normal เพียงแต่ตอนนั้นไม่ค่อยมีใครรู้จักคำนี้ ซึ่งผมอยู่ในช่วงนั้นด้วย โดยช่วงนั้นอยู่ในธุรกิจหนังสือ และเมื่อเกิดวิกฤตปี 2540 หนังสือขายไม่ได้ ต้องแบกสต๊อก และโดนยืดระยะเวลาการจ่ายเงินออกไปทำให้ต้องลุกขึ้นมาทำ “สนุกดอทคอม” จึงเชื่อว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤต เราจะได้หยุดและมองหาโอกาสใหม่ ๆ เสมอ และวิกฤต COVID-19 ถือเป็นหนังม้วนเดียวกัน เป็นโอกาสที่ทำให้ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เพียงแต่ต้องเปลี่ยนมุมมอง ด้วยการมองวิกฤตเป็นเวลาแห่งการสร้างโอกาสใหม่ ๆ

บทเรียนจากทุกวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจ รวมถึงบริษัทอาจต้องลุกขึ้นมาเขย่าพอร์ตธุรกิจใหม่ ด้วยการหาธุรกิจอื่นเข้ามา ซึ่งตอนนี้ก็เตรียมพอร์ตธุรกิจใหม่ คือ แผนการบุกตลาดต่างประเทศ แต่ยังทำไม่ได้จึงพับไว้ก่อน และเริ่มหาธุรกิจใหม่ เช่น การเปิดคอร์สเรียนออนไลน์ โดยเร็ว ๆ นี้เตรียมจะออกหลักสูตรและตัวอย่างการทำงานของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ออกมา เป็นต้น

หากจำเป็นต้องเลิกบางธุรกิจก็ต้องทำ ที่ผ่านมาเลิกมาหลายธุรกิจ แต่สำหรับกระปุกดอทคอมถือเป็น cash cow ยังครองส่วนแบ่งตลาดได้ดี ขณะเดียวกันก็มองหาธุรกิจดาวรุ่งตัวใหม่เข้ามาเติมพอร์ตธุรกิจเช่นกัน

“ปรเมศวร์” ทิ้งท้ายว่า กำลังมองหาธุรกิจดาวรุ่งตัวใหม่ ซึ่งถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 คลี่คลาย ก็พร้อมลุยต่อทันที แม้จะเลือกเล่นโจทย์ใหม่ที่ใหญ่และยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่อยากทำ

“โซเชียลแพลตฟอร์มเป็นตลาดใหญ่ และยังมีที่ให้เล่น ไม่งั้นแอปอย่างติ๊กต๊อกก็คงไม่เกิด เมื่อโควิดพ้นไป เราจะกลับมาล้อนจ์เซอร์วิสในต่างประเทศ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็จะมีสิ่งเล่าต่อได้ เป็นบทเรียนให้เรียนรู้อาจมีคนสำเร็จเป็นที่ 2 หรือ 3 หลังผมก็เป็นไปได้ แต่ไม่ลองก็ไม่รู้” ความพยายามครั้งใหม่ที่เจ้าตัวเองก็ยอมรับว่าใหญ่ และยากกับการสร้างโซเชียลแพลตฟอร์มจากประเทศไทยไปบุกตลาดต่างประเทศ