ไมโครซอฟท์ กับงานหิน ในการซื้อ TikTok

TikTok logo
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo
คอลัมน์ Tech Time
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

หลังประกาศว่าสนใจจะซื้อ TikTok ไมโครซอฟท์มีเวลาแค่ 6 อาทิตย์ในการปิดดีลที่แปลกประหลาดที่สุดดีลหนึ่งในประวัติศาสตร์ให้ได้ก่อนที่คำสั่งแบน TikTok ของโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีผล 15 ก.ย. เพราะนี่จะเป็นครั้งแรกที่มีการ “เฉือน” แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย “ระดับโลก” ออกมา “แบ่งขาย” เป็นรายประเทศ ซึ่งไม่มีใครที่ให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่าในทางปฏิบัติเป็นไปได้แค่ไหน

มองแง่ดี ประโยชน์ที่ไมโครซอฟท์จะได้หากปิดดีลสำเร็จ คือเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ TikTok โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไมโครซอฟท์ไม่ถนัด นอกจากช่วยเพิ่มรายได้จากการโฆษณาแล้วยังต่อยอดการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์รวมถึงบริการอื่นสำหรับ consumer market ในอนาคตด้วย

แต่ปัญหาคือไมโครซอฟท์ไม่ได้จะซื้อกิจการ TikTok ทั้งหมดเหมือนการควบรวมกิจการทั่วไป แต่ขอแบ่งซื้อเฉพาะในอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของอเมริกาด้านการแชร์ข้อมูลข่าวสารร่วมกันผ่านเครือข่ายที่มีชื่อว่า Five Eyes (ความจริงมีอังกฤษอีกประเทศ)

หมายความว่าจำนวนลูกค้า ข้อมูลการใช้งาน และรายได้จากโฆษณาจะหดลงเหลือแค่ที่หมุนเวียนใน 4 ประเทศนี้ และคาดกันว่าไมโครซอฟท์ต้องลงทุนสร้าง infrastructure มหาศาลเพื่อแยก operation ออกมาจากบริษัทแม่ที่จีนทำให้อาจได้ไม่คุ้มเสีย

ต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จหรือ “เสน่ห์” ของโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok คือการเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้คน “ทั่วโลก” ผ่านคอนเทนต์ที่ผู้ใช้เป็นทั้ง “ผู้ผลิต” และ “ผู้เสพ” ยิ่งมีคนใช้มากก็ยิ่งมีคอนเทนต์มาก ยิ่งมีคอนเทนต์มาก ก็ยิ่งมียอดคนดูมากยิ่งมีคนดูมาก รายได้จากการโฆษณาก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

แต่ดีลนี้ทำให้ TikTok โดนแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ TikTok เวอร์ชั่นดั้งเดิมของ ByteDance จากจีน และอีกส่วนคือ TikTok เวอร์ชั่นไมโครซอฟท์ ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วผู้ใช้งานของไมโครซอฟท์จะดูคอนเทนต์ยอดฮิตจากประเทศอื่นนอกเหนือจาก 4 ประเทศเครือข่ายหรือไม่ หากดูไม่ได้ เสน่ห์ของ TikTok จะหายไปหรือไม่ และหากดูได้จะแก้ปัญหา “ความกังวล” ของทรัมป์เรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยของผู้ใช้งานชาวอเมริกันอย่างไร

หากเป้าหมาย คือ การแยก TikTok ออกจากจีน ไมโครซอฟท์ยังต้องลงทุนสร้างทีมรวมทั้ง infrastructure ใหม่ เพื่อให้ TikTok ทั้ง 2 เวอร์ชั่นมี servers, codebase และฐานลูกค้าแยกจากกันเด็ดขาด

ไม่ใช่แค่ไมโครซอฟท์ หรือ ByteDance ที่ได้รับผลกระทบ แต่ทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่นี้ได้รับผลกระทบพร้อมกันไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ซื้อโฆษณาแต่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้น้อยลง influencers ที่มียอดฟอลน้อยลง และตัวผู้ใช้ที่จะมีคอนเทนต์ให้เลือกเสพน้อยลง

การแยก TikTok เป็น 2 เวอร์ชั่นมาพร้อมต้นทุนมหาศาล ขณะที่รายรับหรือฐานผู้ใช้ที่ “คาดว่า” จะได้ก็น้อยลง ขัดทฤษฎี economy of scale หัวใจของความสำเร็จของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียโดยสิ้นเชิง

หากดูตัวเลขผู้ใช้พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและยุโรป ต่อให้เอาลูกค้าทั้ง 4 ประเทศของไมโครซอฟท์รวมกันก็ยังไม่ถึง 1 ใน 3 แถม TikTok เวอร์ชั่นดั้งเดิมก็รุกครองตลาดเกือบหมดโลกทำให้มองไม่เห็นว่าไมโครซอฟท์จะสอดแทรกหาตลาดใหม่ได้อย่างไร

TikTok จัดเป็นคลื่นมหัศจรรย์ลูกใหม่แห่งโลกออนไลน์ ใช้เวลาไม่ถึง 3 ปี กลายเป็นแอปที่มีผู้ใช้มากที่สุดแอปหนึ่งของโลก ตัวเลขทางการจาก TikTok ในปี 2018 ระบุว่ามีผู้ใช้ 500 ล้านคนใน 150 ประเทศทั่วโลก แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าปัจจุบันน่าจะกว่า 800 ล้านคนแล้ว

การเติบโตก้าวกระโดดนี้ทำให้ Facebook และ YouTube ถึงกับต้องทำแอปเลียนแบบชนิดไม่ต้องรักษาภาพลักษณ์พี่ใหญ่ ทั้งยังทำให้ผู้นำมหาอำนาจอย่างทรัมป์นั่งไม่ติดต้องงัดกฎหมาย “ความมั่นคง” เป็นข้ออ้างในการขู่จะแบน TikTok ในอเมริกาจนเป็นที่มาของ “ดีลประวัติศาสตร์” ที่ไมโครซอฟท์กำลังปวดหัวอยู่ในขณะนี้


ล่าสุดมีข่าวว่า Twitter ก็สนใจอยากซื้อกิจการ เช่นกันใครได้ยังไม่ลุ้นเท่ากับเมื่อได้ไปแล้วจะเป็นขุมทรัพย์แหล่งใหม่หรือระเบิดเวลาที่สร้างความปวดหัวให้เจ้าของใหม่ไม่แพ้เจ้าของเดิมกันแน่