“ดีแทค” ย้ำ 5G พลิกโฉมประเทศได้ ต้องมีคลื่นครบ กระทุ้งรัฐเร่งไทม์ไลน์ จัดสรรคลื่น 3500MHz

ผู้บริหารดีแทค-5G

นายมาร์คุส แอดอัคทุสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่าดีแทคต้องการเห็นภาครัฐเร่งวางกรอบเวลาในการจัดสรร และบริหารจัดการความถี่ 3500 MHz โดยเร็ว เนื่องจากเป็นแบนด์หลักที่มีการใช้กว่า 70% ทั่วโลก ทำให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก economy of scale ทั้งในส่วนของอุปกรณ์ของผู้ให้บริการ และผู้ใช้งาน จึงประหยัดการลงทุนได้มาก และนำศักยภาพ 5G มาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้เติบโต และแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว และยั่งยืน

โดย ดีแทคมองว่าผู้ให้บริการแต่ละรายควรได้รับอนุญาตในการใช้งานคลื่นความถี่ระหว่าง 80-100 MHz ของย่านความถี่ 3500 MHz เพราะเป็นจำนวนที่เหมาะสมต่อการให้บริการ 5G

“จริง ๆ เราเคยเสนอแนะเรื่องนี้กับ กสทช. ตั้งแต่ก่อนการประมูลคลื่น 5G เมื่อต้นปีผ่านมาบ้างแล้วซึ่งแถบคลื่นบางส่วนใช้งานโดยดาวเทียมไทยคม ซึ่งจะหมดสัมปทานใน ก.ย.ปีหน้า ในระหว่างนี้จึงควรมีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้นำคลื่นมาใช้ได้ทันที เพื่อไม่ให้เสียโอกาสเช่นเดียวกับในอดีตกับการจัดสรรคลื่น 2100 MHz สำหรับ 3G ทำให้ไทยช้ากว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกราว 10 ปี”

นายอธิป กีรติพิชญ์ ผู้เชี่ยวชาญและวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ของดีแทค กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น การเชื่อมต่อโทรคมนาคม ด้วยเทคโนโลยี 5G พร้อมไปกับอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โดยต้องพัฒนาควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปแบบเดิมไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางราง ถนน ทางอากาศ และทางน้ำ

และเพื่อให้เศรษฐกิจในอนาคตมีความยืดหยุ่นและแข่งขันได้มากขึ้น ทุกภาคส่วนต้องเชื่อมต่อออนไลน์ โดยมีเศรษฐกิจแบบไฮบริด (Hybrid economy) เป็นทางเลือกใหม่ให้ประเทศไทยได้ซ่อม และสร้างเพื่อก้าวไปในอนาคต แต่ต้องมั่นใจได้ว่าประเทศต้องมีรากฐานที่มั่นคงของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบนิเวศดิจิทัล ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะใหม่ด้านดิจิทัล บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความเท่าเทียมกันทางสังคม

5 G

“เมื่อบริษัทโทรคมกว่า 70% ทั่วโลก ใช้คลื่น 3500MHz เป็นย่านหลักสำหรับ 5G รวมถึงอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศหลักในการให้บริการ และพัฒนา 5G ทำให้เกิดระบบนิเวศของ 5G คลื่น 3500 MHz ที่มากกว่า จาการเลือกใช้งานคลื่น 3500 MHz ที่มากกว่า ส่วนคลื่น 2600 MHz มีเพียงผู้ให้บริการไม่กี่ประเทศในโลก เช่น ไชน่าโมบายล์ของจีน หมายความว่าอุปกรณ์และระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ รวมถึง use case ของ 5G จะถูกจำกัดกรอบให้แคบลงจากผู้ให้บริการไม่กี่ราย”

นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ที่มุ่งไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ด้วยว่า มีการตั้งคณะกรรมการ 5G แห่งชาติ (National 5G Task Force) คล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่ได้มีการระบุการใช้งานคลื่นความถี่ 3500 MHz เป็นคลื่นหลักสำหรับ 5G และคลื่น 700 MHz แล้ว โดยแผนใช้คลื่น 3500 MHz ในการให้บริการในช่วงปี 2021 อีกทั้งมีแผนนำ 5G พัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ เมืองอัจฉริยะ ระบบสาธารณสุขหรือการแพทย์ (smart health) และด้านการศึกษา (smart education)

ผู้บริหารดีแทค