ทำไมวันนี้ “สตาร์ตอัพไทย” ถึงน่าลงทุน

pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

 

วิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมกลุ่มสตาร์ตอัพไทย จากที่ต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน และอาจมีเพียงไม่กี่รายที่จะอยู่รอด

วันนี้หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้หลายรายทยอยแลนดิ้งแล้ว เนื่องจากไม่มีนักลงทุน

โจทย์ใหญ่ คือ ทางรอดของสตาร์ตอัพไทยคืออะไร ?

ธุรกิจในประเทศไทยยุคโควิดจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้โดยนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในธุรกิจ และธุรกิจสตาร์ตอัพไทยช่วงก่อนโควิดหลายรายเรียกว่าอาการน่าเป็นห่วงอยู่แล้ว ยิ่งหลังโควิดยิ่งมีการทยอยแลนดิ้งแล้วเพราะหานักลงทุนไม่ได้ แต่ละรายหาทางรอดตายให้ได้เร็วที่สุด

ก่อนตัดสินใจแลนดิ้ง (landing) หรือปิดตัวอยากให้ดูก่อนว่าธุรกิจมี asset หรือจุดเด่นอะไรอยู่บ้าง เช่น มีซอฟต์แวร์ไหม มีฐานลูกค้าเท่าไหร่ มี business model อะไร แล้วลองมองคนหรือองค์กรที่ใหญ่กว่าหาทาง

ไปรวมกับเขา เพราะการขายไปอย่างน้อยก็ยังได้เงินหรือยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อ

หรือใช้วิธีการปรับธุรกิจไปเป็นแบบอื่นที่ใกล้เคียงหรือต่อยอดได้ ปรับไปแล้วไม่แน่ว่านักลงทุนอาจหันกลับมาสนใจก็ได้ หรือหากมองแล้วว่ายังมีอนาคตดีอยู่ ลอง lean ตัวเองลงหรือจำศีล ไม่ปิดไปทันที โดยหันมาลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด ให้อยู่ต่อได้นานมากขึ้น เพื่อรอตลาดกลับมา หรือปรับ business model เปลี่ยนมุมมอง การเปลี่ยนที่ยืนแค่นิดเดียวอาจช่วยได้มาก จริง ๆ มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว

“ผมอยากให้น้อง ๆ สตาร์ตอัพคุยกับคนอื่นเยอะ ๆ เปิดโลกให้กว้างมากกว่าที่เป็นอยู่ เราจะเห็นอะไรใหม่ ๆหรือคิดว่าไม่ไหวแล้วจริง ๆ ตอนนี้เป็นจังหวะเหมาะที่จะแลนดิ้งได้แต่ต้องมีศิลปะ ลองสร้างทางเลือกหลาย ๆ ทางก่อนตัดสินใจปิด จังหวะดี ๆ อาจได้คนที่พอดี มีความต้องการเหมือนเรามาร่วมงานกันก็ได้”

ตัวอย่าง startup ที่ผมเพิ่งเข้าไปลงทุนในช่วงหลังโควิด-19 คือ www.Vecabo.com (Hisobus.com เดิม) ผมมีโอกาสเจอน้องโอม Jeerayut Sudjarean CEO ของ Hisobus.com

เขามานำเสนอธุรกิจ Hisobus.com ซึ่งผมดูแล้วก็น่าสนใจแต่ไม่มาก ถ้าจะรอดได้ต้องปรับธุรกิจให้กว้างขึ้น และไปเน้นเรื่องระบบ data มากกว่าการให้บริการ booking รถ เลยคุยกับเขาว่าถ้าจะให้ลงทุนต้องปรับโมเดลอย่างที่ผมแนะนำและให้ผมโค้ช รวมถึงทำตามแผน

ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนจาก Hisobus.com เป็น Vecabo.com ให้บริการกว้างกว่าแค่รถบัส รวมไปถึงมีบริการบริหารรถ และ asset ของบริษัทรถได้ และขยายไปถึงเรือยอชต์ และเครื่องบินเจ็ตในเฟสต่อไป และหานักลงทุนคนอื่นมาร่วมลงทุนด้วยเพื่อให้บริษัทนี้เติบโตไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ภาครัฐก็ได้พยายามช่วยเหลือทำหลายนโยบาย มีการตั้งกองทุนขึ้นมาซึ่งเป็นการรวมตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย เช่น กลุ่ม ปตท. CP ไทยเบฟ ฯลฯ ร่วมกัน

ตั้งกองทุนชื่อว่า InnoSpace ขึ้นมาเพื่อช่วยสตาร์ตอัพในประเทศไทย

นี่เป็นทางออกหนึ่งสำหรับคนที่กำลังจะคิดแลนดิ้งธุรกิจให้ขายหุ้นให้คนทั่วไปได้ คือ การออกเป็นหุ้นกู้

แปลงสภาพ หรือ convertible debenture ได้แล้ว ทำให้ขายหุ้นให้นักลงทุนได้แต่เป็นเหมือนเงินกู้

นักลงทุนแปลงสภาพเงินกู้เป็นหุ้นได้ในอนาคต ผมมองดูแล้วว่าจะเป็นการเปิดทางให้คนทำธุรกิจที่ไม่จำเป็นแต่สตาร์ตอัพเท่านั้น มีวิธีระดมเงินรูปแบบใหม่เข้ามาในธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น

สำหรับในมุมของเจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะในยุคโควิดที่ต้องการให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และต้องการเอาดิจิทัลเข้ามาใช้แต่ไม่รู้วิธีการจะนำเข้ามาได้อย่างไร อยากได้เทคโนโลยีแต่ไม่มีคนทำ ขณะที่เด็ก ๆ อยากทำแต่ไม่มีทุน สตาร์ตอัพไทยมีเทคโนโลยีดี ๆ แต่ขาดคนจับคู่ให้ผู้ที่ทำธุรกิจอยู่แล้วอาจต้องปรับตัวมากขึ้นเพื่อเข้าถึงสตาร์ตอัพ

รุ่นใหม่ ๆ เช่นเดียวกัน สตาร์ตอัพเองก็ต้องพยายามเข้ามาหาผู้ใหญ่ให้มากขึ้น เพื่อให้แมตช์กันได้ลงตัว การลงทุนในสตาร์ตอัพช่วงเริ่มต้นใช้เงินไม่มาก บางธุรกิจใช้เงินแค่หลักแสนหรือล้านต้น ๆ.