โจทย์ยาก “แกร็บ” ฝ่าเกมแข่งดุ ชู “คลาวด์คิตเช่น” เพิ่มสปีด “ฟู้ดดีลิเวอรี่”

แจ้งเกิดได้สวยงามในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมตอกย้ำความสำเร็จให้บรรดาผู้ให้บริการ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” แพลตฟอร์มทำให้การแข่งขันในสมรภูมินี้ร้อนฉ่าขึ้นในทันที จากทั้งคู่แข่งหน้าเดิมและหน้าใหม่ที่ประกาศตัวกระโดดเข้าสู่สมรภูมินี้กันอย่างคึกคัก ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจธนาคาร ดังเช่น “เอสซีบี” กับฟู้ดดีลิเวอรี่แพลตฟอร์มชื่อ “โรบินฮูด”

แม้จะแข่งกันแรงในการอัดโปรโมชั่นดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เจ้าใหญ่ ๆ เริ่มขยับใหญ่ด้วยการปรับราคาค่าคอมมิสชั่น ที่เรียกเก็บกับร้านค้าเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 35%

หนึ่งในผู้เล่นหลักในธุรกิจนี้ คือ “แกร็บฟู้ด” ซึ่งเติบโตอย่างมากช่วงโควิด-19 ทั้งในแง่จำนวนเครือข่ายร้านอาหารและเครื่องดื่มกว่า 80,000 ร้านทั่วประเทศ และพื้นที่บริการที่ครอบคลุมถึง 35 จังหวัดทั่วประเทศ

“แกร็บฟู้ด” ดาวรุ่งกู้วิกฤต

“จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงสร้างธุรกิจในไทยประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจขนส่งคน คือ แกร็บคาร์ แกร็บไบก์ ซึ่งช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้รับผลกระทบ ทำให้ยอดผู้ใช้บริการเริ่มหายไปตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และทันทีที่ประกาศล็อกดาวน์ในปลายเดือน มี.ค. ยอดผู้ใช้บริการหายไปทันที 90% เนื่องจากกลุ่มหลักเป็นนักท่องเที่ยว

ถัดมาคือธุรกิจบริการทางการเงิน มีบริการปล่อยกู้ให้พาร์ตเนอร์ (คนขับ) เช่น ปล่อยกู้สำหรับการซื้อโทรศัพท์มือถือแก่คนขับแกร็บ ก็ได้พักชำระหนี้ให้เป็นต้น

ธุรกิจสุดท้าย คือ ธุรกิจขนส่งอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบเชิงบวกจากมาตรการล็อกดาวน์ เพราะผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้ ส่วนร้านอาหารก็ไม่สามารถให้บริการที่ร้านได้ แต่ผู้บริโภคยังมีดีมานด์ทำให้ธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่แกร็บฟู้ด เติบโตขึ้นทุกด้าน มียอดผู้ใช้บริการสั่งอาหารเฉพาะเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 2 เท่า เทียบกับเดือน ม.ค. 2563 รวมถึงมียอดผู้ใช้บริการรายใหม่เติบโตขึ้นถึง 3 เท่า

นอกจากนี้ จำนวนร้านอาหาร เครื่องดื่มที่เข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ก็เพิ่มสูงขึ้นมากเป็น 80,000 ราย และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการ 35 จังหวัด และมีพาร์ตเนอร์ (คนส่งอาหาร พัสดุ คนขับแกร็บคาร์ แกร็บไบก์)มากถึง 100,000 คนทั่วประเทศที่พร้อมให้บริการ ค่าบริการส่งเริ่มต้นที่ 10 บาท ตามระยะทาง

ฟู้ดดีลิเวอรี่แข่งแรง

แนวโน้มที่เกิดขึ้นทำให้ปัจจุบันภาพรวมการแข่งขันฟู้ดดีลิเวอรี่ค่อนข้างสูง จากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากกลุ่มฟู้ดดีลิเวอรี่ บริษัทเทคโนโลยีด้วยกันเองอย่างฟู้ด แพนด้า, ไลน์แมน, โกเจ็ก(หรือเก็ทเดิม) ยังมีกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะธนาคารโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ด้วย เช่น โรบินฮูด (Robinhood) จากกลุ่มเอสซีบี หรืออีทเทเบิ้ล (Eatable) แพลตฟอร์มสั่งอาหารจากบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด ในเครือกสิกรไทย เป็นต้น

รูปแบบโมเดลธุรกิจอาจแตกต่างกันออกไป แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่เติบโตขึ้น ซึ่งจากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์มูลค่าตลาดว่าอยู่ที่ 35,000 ล้านบาท

“ถ้าพิจารณาจากตัวเลขในฐานะผู้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ถือว่าตลาดนี้ใหญ่กว่านี้มาก และถ้าเทียบกับตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่า 300,000 ล้านบาท ฟู้ดดีลิเวอรี่ก็กินส่วนแบ่งอยู่เพียง 10% ดังนั้นจึงเชื่อว่าตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่มีโอกาสที่จะขยายตัวแบบก้าวกระโดด เพราะคนไทยทานอาหารหลายมื้อ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มความถี่ในการสั่งอาหาร และการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ ๆ ก็ถือเป็นผลดี และสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภค”

เร่งพัฒนา “คลาวด์คิตเช่น”

ขณะที่ทิศทางธุรกิจในครึ่งปีหลัง “จันต์สุดา” บอกว่าจะเน้นการออกแคมเปญพิเศษ “GrabFood Free Your Hunger” โดยฟรีค่าส่งระยะรัศมี 3 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ 25 ส.ค.-4 ต.ค.นี้ เพื่อสร้างสีสันและกระตุ้นตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ให้คึกคักยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจะเดินหน้าขยายโมเดล “แกร็บคลาวด์คิตเช่น”

คาดว่าจะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 2-3 แห่ง จากปัจจุบันมีแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ “แกร็บคลาวด์คิตเช่น” สาขาสามย่าน สาขาถนนวิภาวดี 64 และสาขาทองหล่อ ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

สำหรับ “แกร็บคลาวด์คิตเช่น” ออกแบบให้เป็นครัวกลางที่รวบรวมร้านอาหารและเครื่องดื่มมาไว้ในที่เดียว เพื่อช่วยลดช่องว่างและข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้งของร้านอาหารในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมเพิ่มตัวเลือกด้านอาหารที่หลากหลายขึ้น โดยมีพื้นที่เฉลี่ย 300 ตารางเมตร มีร้านอาหาร เครื่องดื่มให้บริการ 12-16 ร้านต่อสาขา โดยร้านอาหารและเครื่องดื่มที่รวบรวมมาไว้ที่ “แกร็บคลาวด์คิตเช่น”

เป็นการนำข้อมูลในการระบุสถานที่ตั้งมาวิเคราะห์และพัฒนา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละพื้นที่มากขึ้น

“จันต์สุดา” มองว่า พฤติกรรมผู้บริโภครูปแบบวิถีปกติใหม่ (new normal)ยังไม่หายไป จึงพัฒนาบริการใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมปัจจุบัน เช่น บริการแกร็บมาร์ท (GrabMart) บริการซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา

ปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์ชั้นนำกว่า 1,100 ร้านค้า เช่น เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล, ท็อปส์ เดลี่, แม็กซ์แวลู และร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่าง (specialty store) “เดทตอล” เป็นต้น มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

จากข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าผ่านแกร็บมาร์ตในเดือน มิ.ย. พบว่ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 5 เท่า เทียบกับยอดการสั่งซื้อในเดือน เม.ย. ทั้งได้พัฒนากลุ่มสินค้าพร้อมปรุง (ready to cook) ด้วยการนำดาต้าจากความต้องการของผู้บริโภคมาพัฒนาเป็นเมนูอาหาร เช่น พัฒนาเมนูอาหารอย่างก๋วยเตี๋ยวผัด ร่วมกับซอสปรุงอาหารแม็กกี้ (Maggi) และให้แกร็บมาร์ตส่งวัถตุดิบก๋วยเตี๋ยวผัด พร้อมซอสแม็กกี้ให้ผู้บริโภค


“ความท้าทายของแกร็บ คือ การสร้างสมดุลระหว่างพาร์ตเนอร์ (ร้านค้า คนส่ง) และผู้บริโภคให้ได้ ทำให้จึงต้องพัฒนาบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง”