อลหม่านเรียงช่องทีวีดิจิทัล “ทีวีดาวเทียม-เคเบิล” ปรับตัวอุตลุด

รับศึกรอบด้านสำหรับทีวีดิจิทัล เพราะไม่เพียงต้องเผชิญกับเม็ดเงินโฆษณาทีวีที่ลดลงจากหลายปัจจัย ที่หนักสุดน่าจะมีสาเหตุจาก “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน แม้คู่แข่งที่เป็นช่องทีวีดิจิทัลจะหายไปแล้วถึง 7 ช่อง ขณะที่โรดแมปการจัดทำเรตติ้งกลางเพื่อสร้างมาตรฐานให้ทีวีดิจิทัลยังไม่ชัดเจน

ล่าสุดยังเผชิญกับปัญหาเก่าที่วนกลับมากวนใจอีกครั้ง กรณี “การเรียงช่อง” เมื่อศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ปี 2558 จากการฟ้องร้องของผู้ประกอบกิจการโครงข่ายทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี

แม้จะเหลือคดีของ ทรู วิชั่นส์ ที่ยังต้องรอฟังคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุด แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าคงไม่ผิดไปจากเดิม โดยตัวแทนสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่าผลตัดสินดังกล่าว ทำให้ทีวีดิจิทัลเสียผลประโยชน์จากที่ผ่านมาได้ทุ่มงบฯประชาสัมพันธ์หมายเลขช่องไปแล้ว อีกทั้งทำให้ผู้ชมเกิดความสับสนจากการเรียงช่องใหม่ นั่นหมายถึงผลกระทบต่อเรตติ้ง และจะส่งผลกระทบต่อรายได้โฆษณาตามมา

ศึกชิงหมายเลขช่อง

แหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัล กล่าวว่า หากต้องกลับไปเรียงช่องเหมือนหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 ที่ระบุให้ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีจัดอันดับช่อง 10 ลำดับแรกได้เอง ส่วนเลข11-46 เป็นช่องทีวีดิจิทัล สาธารณะ และธุรกิจ จะทำให้การแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิทัลรุนแรงขึ้นอีก และเกิดการจับจองพื้นที่ช่องหมายเลข 1-10 อันดับแรก

“ช่องไหนที่ต้องการพื้นที่ดี ๆ ก็ต้องยอมควักเงินจ่ายให้เจ้าของโครงข่ายนั้น ๆ ผู้เล่นรายใหญ่ สายป่านยาวก็อาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับช่องเล็ก เป็นปัญหาใหญ่ เพราะลำพังแค่หาโฆษณาในสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแบบนี้ก็ยากอยู่แล้ว”

ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศใหม่จาก กสทช. เท่ากับว่า โครงข่ายทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี อาจจะสามารถเรียงช่องเองได้ เป็นสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากที่ทีวีดิจิทัลเริ่มออกอากาศ ปี 2557 โดยเลขช่องทีวีดิจิทัลวางไว้ 2 ตำแหน่ง คือ หมายเลขบน

โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลที่เลือกจากลำดับการประมูล และหมายเลขบนแพลตฟอร์มเคเบิลและทีวีดาวเทียม พร้อมทั้งสร้างมูลค่าให้เลขช่องอันดับที่ 1-10 เพราะแต่ละโครงข่ายจะให้พื้นที่กับพันธมิตรตัวเองและโดนตีกันจากคู่แข่ง ด้วยการจับจองพื้นที่ บนตำแหน่ง 10 ช่องแรกใช่หรือไม่ว่าการอยู่รอดของทีวีดิจิทัลก็จะยากขึ้น

เนื่องจากต้องรับมือจากหลายปัญหา ทั้งการเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ที่แย่งความสนใจผู้บริโภค และเม็ดเงินโฆษณาทีวี 60,000 ล้านบาทและต้องยอมรับว่า แม้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบแอนาล็อกสู่ทีวีดิจิทัลแล้ว แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดยังชมฟรีทีวีผ่านทีวีดาวเทียม เคเบิลท้องถิ่นอยู่มากถึง 10 ล้านครัวเรือน จาก 22-23 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ถือเป็นฐานใหญ่ของการดูทีวีของประเทศ ดังนั้นผลจากการเรียงช่องตามประกาศปี”56 กับปี”58 จึงส่งผลกระทบต่อทีวีดิจิทัลต่างกันด้วย

ทีวีดิจิทัลค้านเรียงช่องใหม่

“สุภาพ คลี่ขจาย” นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล(ประเทศไทย) กล่าวว่าสมาคมทีวีดิจิทัลขอแสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้เรียงช่องตามประกาศเรียงช่องปี 2558 เพราะหากมีการเรียงช่องใหม่ตามที่โครงข่ายทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีเรียกร้อง จะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลอย่างมหาศาล

สอดรับกับ “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า หากประกาศเรียงช่องปี 2558 โดนยกเลิก จะสร้างความเสียหายในแง่เม็ดเงินโฆษณาทีวีกว่า 10,000 ล้านบาท

“ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่องจีเอ็มเอ็ม 25 และช่องวัน 31 ย้ำว่า หาก กสทช. ยกเลิกการเรียงช่องปี 2558 เท่ากับเปิดทางให้แพลตฟอร์มต่างๆ เรียงช่องเองได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้เจ้าของช่อง และทำให้เสียโอกาสทางการแข่งขันด้วย

ยันไม่กระทบตำแหน่งเดิม

“สมพร ธีระโรจนพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเรียงช่องใหม่ครั้งนี้ ช่องทีวีดิจิทัลยังอยู่ในตำแหน่งเดิม มีเพียงช่องทีวีสาธารณะ คือ ช่อง 5 และไทยพีบีเอส เท่านั้นที่ต้องย้ายตำแหน่งใหม่ เพราะอันดับที่ 1-10 แต่ละโครงข่ายจะนำกลับมาเรียงลำดับ

“ก่อนที่ศาลปกครองกลางมีคำตัดสินออกมาเมื่อวันที่ 13 ก.ย 62 ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ก็ได้ดำเนินการตามประกาศเรียงช่อง ปี 58 ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนส่วนนี้ไว้ เนื่องจากตอนนั้นกสทช.ต้องการเปลี่ยนผ่านทีวีแอนาล็อกสู่ดิจิทัล ซึ่งทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีก็ให้ความร่วมมือมาตลอด”

ดังนั้น เมื่อการเปลี่ยนผ่านแล้วเสร็จ ทาง กสทช.ก็ควรคืนพื้นที่ให้เจ้าของโครงข่าย

ทีวีดิจิทัล-ดาวเทียม…ดิ้นสู้ฟัด

ที่ผ่านมาการเพิ่มขึ้นของฟรีทีวีสร้างผลกระทบ ให้ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี เนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น การแข่งขันสูง ขณะที่งบฯโฆษณาวิ่งเข้ามาฟรีทีวีมากกว่า ทำให้ช่องทีวีดาวเทียม ต้องปิดตัวลงเรื่อยๆ และหลายรายต้องปรับตัว เช่น พีเอสไอ เปลี่ยนจากการเป็นผู้จำหน่ายจานดาวเทียม มาขายเครื่องใช้ไฟฟ้า แอร์ กล้องวงจรปิด โดยใช้จุดแข็งของทีมช่างติดตั้งจานดาวเทียมเข้ามารีสกิล เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ เช่นเดียวกับ อินโฟแซท ขยายไลน์มาขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม เครื่องซักผ้ามินิเพื่อสร้างรายได้ใหม่ ๆ หรือ ไอพีเอ็มที่หันมาขายอุปกรณ์เสริมสำหรับทีวีมากขึ้น

ขณะที่ทีวีดิจิทัลแม้ออกอากาศมา 7 ปี เหลือผู้รอดเพียง 15 ช่อง จาก 24 ช่อง ก็ยังเหนื่อย แม้แต่ช่องใหญ่รายเดิมอย่าง ช่อง 33HD (ช่อง 3) ที่ต้องมีการลดพนักงานและปรับตัวต่อเนื่อง.หรือกรณี อสมท ที่เผชิญปัญหารายได้ลดลงต่อเนื่องทำให้ขาดทุนติดต่อหลายปี ขณะที่ช่องอื่นๆ เช่น เวิร์คพอยท์ ช่องวัน 31 เป็นต้น ก็ต้องวิ่งหาช่องทางเพิ่มรายได้ เช่น การเปิดพื้นที่ให้ทีวีโฮมชอปปิ้งเข้ามาเช่าเวลาโฆษณา ซึ่งก็ทำได้แค่ประคองตัว แต่ที่ฉีกสุดต้องยกให้ช่อง8 (อาร์เอส) เปลี่ยนเกมจากธุรกิจสื่อและบันเทิงสู่คอมเมิร์ซ “RS Mall”แพลตฟอร์มขายสินค้าหลากหลายตั้งแต่สินค้าสุขภาพจนถึงอาหารสัตว์ผ่านทีวี