ย้ำ “กสทช.” ไม่ใช่ “กสทบ.” ส่งไม้ต่องาน “OTT- เรียกคืนคลื่น”

สัมภาษณ์พิเศษ

5 ต.ค.ที่ผ่านมาครบวาระด้วยวัย 70 ปี ประธาน กสทช. “พลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี” ก่อนที่คณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งครบวาระ 6 ปี ในวันที่ 6 ต.ค. 2560 แต่ทั้งหมดยกเว้นประธานนั่ง “รักษาการ” ต่อได้ในระหว่างที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คัดเลือกบอร์ดใหม่

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ประธาน กสทช. ดังนี้

Q : ผลงานสำคัญ 6 ปีที่ผ่านมา

เปลี่ยนระบบจากการให้สัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต ทั้งในโทรคมนาคม และบรอดแคสต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีแต่คนบอกว่าทำไม่ได้หรอก เพราะยาก แต่เราทำได้การเปลี่ยนไปเป็นระบบไลเซนส์ทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีกติกาชัดเจน และสามารถบริหารจัดการคลื่นที่มีจำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด

การเปลี่ยนเทคโนโลยีจาก 2G เป็น 3G 4G ก็ด้วย ถ้าปล่อยเอกชนทำเองก็ไม่ค่อยอยากทำเพราะลงทุนสูง ฝั่งทีวีก็เหมือนกัน ถ้าไม่ระบุไว้ขาใหญ่ในวงการรวยกันพุงปลิ้น ไม่คิดจะเปลี่ยนอะไร

Q : งานที่อยากย้อนกลับไปแก้ไข

ทุกงานไม่มีอะไรสมบูรณ์ 100% มีจุดอ่อนมากบ้างน้อยมาก อย่างประมูล 3G คลื่น 2100 MHz ก็ต้องดูว่าใช้อะไรอ้างอิง คนส่วนใหญ่มองว่า ต้องได้เงินเยอะ ๆ แต่ถ้าค่าบริการแพง กสทช. ก็โดนอีก ทุกอย่างมีเงื่อนไขผูกกัน ประมูลครั้งหน้าได้ราคาต่ำกว่าเดิม กสทช.ก็โดนอีก ราคาขึ้นอยู่กับดีมานด์ จังหวะของเทคโนโลยี ความพร้อมของแต่ละประเทศ

ประมูลทีวีดิจิทัลด้วย ไม่มีใครเอาปืนไปจี้ให้ประมูล แต่คนมองว่า กสทช.ทำให้คนเจ๊งไปหลายคน ช่องมากไป แต่ถ้าให้ช่องน้อยก็หาว่าเอื้อประโยชน์ขาใหญ่

Q : งานที่ยังไม่ได้ดั่งใจหรือหยิบมาทำไม่ทัน

เรื่องแรกคือเทคโนโลยีปัจจุบันก้าวเร็ว มีการหลอมรวมกันระหว่าง 2 ซีก พ.ร.บ.เก่ายังแยก 2 ฝั่ง และมีข้อจำกัดเยอะให้เราทำอะไรไม่ได้ OTT (Over The Top) เป็นตัวอย่างชัด อีกเรื่องคือ การทำหน้าที่ของตัวแทนประเทศในเทคโนโลยีด้านนี้ยังไม่ชัดเจนว่า ใครทำอะไรอย่างไร ทั้งที่เราประสานกับ ITU เพราะมีส่วนที่ต้องแยกเป็นงานของเรากับของกระทรวงดีอี

Q : การทำงานที่มีสองบอร์ด

การออกแบบโครงสร้างตามกฎหมาย มีเจตนารมณ์ให้คานกันก็ถือว่าประสบความสำเร็จมาก แต่ก็สามารถทำงานสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้ มองอีกด้านว่าถ้าบอร์ดทำงานแบบไม่ขัดกันเลย ก็พากันเข้ารกเข้าพงได้ ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนที่ดี

เรื่องบอร์ดแต่ละคนมีภารกิจที่จะผลักดันตามเป้าหมายตามสายงานของตนเองที่ได้รับแต่งตั้งมาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะแต่ละคนก็ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกัน อุปสรรคในการทำงานจริง ๆ คือ ความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างบอร์ดกับสำนักงาน ว่างานของสำนักงานแค่ไหน เขาเป็นนิติบุคคลที่ต้องมีอำนาจในการจัดการพอสมควร แต่ด้วย พ.ร.บ.กลายเป็นคณะกรรมการมีส่วนตัดสินในหลายเรื่องทำให้บางเรื่องที่ไม่ควรมีปัญหาก็มีอาทิ การใช้งบประมาณที่เขาไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเปิดให้บอร์ดมีอำนาจพอสมควร ซึ่งไม่ได้มีใครผิด เพราะไม่ได้มีการเขียนให้ชัดเจนว่าเรื่องนี้ทำได้หรือไม่ได้

Q : คนมองว่า กสทช.เอื้อเอกชน

ก็นี่ไง ถึงบอกว่าจะให้เอกชนเขาล้มหายตายจากไปเลยใช่ไหม จะให้บี้ราคากันสุด ๆ ถ้าสุดท้ายเขาไม่มาประมูล จะมีรายใหม่เข้ามาไหม กิจการพวกนี้เป็นกิจการที่ใช้เงินลงทุนสูง มองมิติเดียวไม่ได้ เอกชนลงทุนต้องมีกำรี้กำไรด้วย กิจการโทรคมนาคมทั่วโลกก็อยู่ในมือเศรษฐีลำดับต้น ๆ ของประเทศ เพราะต้องมีตังค์ลงทุน แต่เราก็เอา USO (บริการสาธารณะอย่างทั่วถึง) มาช่วยโดยให้เขาจ่ายเงินสมทบ

Q : หลายคนเรียก กสทบ.

ไม่ใช่เพื่อทหารหรอก เพียงแต่คนที่เข้ามาเป็นทหารเยอะ ก็มาจากการเลือกของ ส.ว. ในบอร์ดก็เป็นด็อกเตอร์ทั้งนั้น เรื่องจะเรียกคืนคลื่นทหาร หลายอย่างพอติดเรื่องความมั่นคงก็ไปไม่รอด อย่างวิทยุสื่อสารที่ใช้กันอยู่ จะให้เปลี่ยนคลื่นใหม่ก็ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งกองทัพ จะทำใครเป็นสปอนเซอร์ก็ยังไม่มี จู่ ๆ เราจะทำได้อย่างไร จริง ๆ ก็มีทางออก เช่น นำเงินประมูลคลื่นมาใช้ กฎหมายใหม่เปิดช่องให้ ถ้าบอร์ดชุดใหม่จะทำก็ไปต่อได้ กับฝั่งทหารเองเราก็โดนต่อว่ามาเยอะ เรียกว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

Q : เป็นประธานกองทุนหมื่นล้าน

คนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า กองทุน กทปส. (กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ) มีเงินเยอะ จริง ๆ 70 – 80% มีเจ้าของคือ

งาน USO 2 – 3 หมื่นล้านตามเก็บเงินสมทบมา และเขาก็มีแผนแม่บทดำเนินการอยู่แล้ว เหลือไม่มากพันกว่าล้านบาท ที่ต้องมาจัดสรร เข้าใจเลยว่าคนมีเงินนี่ลำบากใจจริง ๆ พอเริ่มจัดสรรเงินก็เริ่มมีปัญหาเลยว่าทำไมคนนั้นได้ คนนี้ไม่ได้

Q : พ.ร.บ.ใหม่อิสระน้อยลง

ใช่ จะอิสระไปทั้งหมดก็ยาก รัฐบาลเขาต้องการขับเคลื่อน 4.0 ที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยี ถ้าไม่มีเน็ตประชารัฐก็แทบทำอะไรไม่ได้เลย คอนเน็กทิวิตี้ไม่มี เป็นอีกเรื่องที่พยายามผลักดันมา

Q : ความท้าทายของบอร์ดใหม่

เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป การหลอมรวม OTT ต้องจัดการให้ได้ อินเทอร์เน็ตที่เป็นพื้นฐานของทั้งหมด จะทำอย่างไร จะผลักดันให้ผู้ใช้งานเข้าใจและเท่าทันกับเชื้อโรคร้ายที่ตามมากับการใช้งาน อย่าง ไซเบอร์แอคแทค ระบบต่าง ๆ ล่มไปจะทำอย่างไรมีอะไรรองรับ เรื่องคอนเทนต์ต้องให้เยาวชนตระหนักเรื่องนี้