ภารกิจ Mars mission ฤๅแค่ฝันที่ยังห่างไกลความจริง?

mars mission
ภาพจาก Pixabay
เทคไทม์
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

อีลอน มัสก์ เป็นที่จดจำในฐานะเจ้าของเทค สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ 2 แห่ง คือ บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า “เทสลา” (Tesla) และบริษัทเดินอากาศ “สเปซเอ็กซ์” (SpaceX)

เป้าหมายของเขาคือปฏิวัติการเดินทางทั้งบนพื้นโลกด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่จะแทนที่การเดินทางโดยใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้ รวมไปถึงปฏิวัติการเดินทาง “ข้ามจักรวาล” ระหว่างโลกกับดาวอังคารที่เขาอยากทำให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ของมวลมนุษยชาติ

อีลอนในฐานะซีอีโอและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิศวกรรมของ SpaceX ใช้เวลาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาในการบอกเล่าความฝันและกล่อมให้แฟนคลับของ SpaceX ทั่วโลกเชื่อว่ามนุษย์โลกสามารถยึดครองดาวอังคารเหมือนช่วงล่าอาณานิคมในอดีตได้

แน่นอนว่าสำหรับติ่งของอีลอนที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคนบนทวิตเตอร์ วิสัยทัศน์นี้สุดจะเร้าใจกว่าหนังไซไฟ

ติดอยู่ตรงที่ว่าโครงการยึดครองดาวอังคารนี้ต้องใช้เงินมหาศาลขนาดที่รัฐบาลประเทศมหาอำนาจยังไม่กล้าแม้แต่จะคิด

โครงการที่พอจะมีสเกลใกล้เคียงกันได้แก่ โครงการ Apollo ของ NASA ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่มีการส่งนักบินอวกาศ 12 คนไปดวงจันทร์และหากใช้อัตราเงินในปัจจุบันเป็นตัวคำนวณ โครงการนั้นใช้เงินไปทั้งสิ้นกว่า 2.8 แสนล้านเหรียญ

อีลอนหวังว่ารายได้อื่น ๆ ของ SpaceX เช่น บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม (ที่ยังอยู่ในช่วงทดลอง) บวกกับเงินทุนที่เขาระดมมาได้อีกกว่า 6 พันล้านเหรียญน่าจะพอนำมาจุนเจือโครงการบุกดาวอังคารได้

ต้นปี 2019 อีลอนให้เคยสัมภาษณ์ว่า Mars mission แรกของ Starship ที่จุผู้โดยสารได้ราว 100 คน น่าจะเกิดขึ้นได้กลางปีนี้ เขาถึงกับบอกว่าราคาตั๋วเดินทางจะอยู่ในเรต 5 แสนเหรียญ เป็นราคาเบา ๆ ที่เศรษฐีจ่ายได้สบาย ๆ หรือถ้ามีดีมานด์สูง ราคาก็อาจต่ำลงมาเหลือแค่ 1 แสนเหรียญ

แต่จนถึงวันนี้บริษัทเพิ่งอยู่ขั้นการสร้างแบบจำลองของ Starship เท่านั้น โดยเพิ่งมีการทดสอบบินไปครั้งเดียวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ความสูง 150 เมตร ก่อนลงจอดที่ลานจอดใกล้ ๆ โดยมีการประเมินว่าอาจต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญกว่ายานลำนี้จะสำเร็จออกมา

แต่หากทำเป็นลืม ๆ ไป สมมติว่าข้ามช็อตไปถึงวันที่ยานลำนี้สามารถออกเดินทางไปดาวอังคารได้จริง อุปสรรคที่ตามมาคือ การสร้าง “บ้าน” ให้ชาวโลกได้อาศัยโดยไม่ถูกรมด้วยแก๊สพิษหรือรังสีอันตรายต่าง ๆ ตายเสียก่อน

สำหรับปัญหานี้ อีลอน อ้างไปถึงคอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า terraforming หรือการทำให้ดาวดวงอื่นมีสภาพที่มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ได้ด้วยการอัดก๊าซเข้าไปเพื่อทำให้ชั้นบรรยากาศอุ่นขึ้น

ไมเคิล เมเยอร์ นักวิทยาศาสตร์ของ NASA บอกว่า terraforming ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เขาคิดว่าการ terraform ดาวอังคารด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เพราะบนดาวอังคารไม่มีทั้งออกซิเจนและแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของมนุษย์

สิ่งที่เขาคิดว่าเป็นไปได้คือทำให้ดาวอังคารเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของการเดินทางสำหรับคนรวย

ขณะที่ โรเบิร์ต ซูบริน ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศและเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เหนียวแน่นของอีลอน กลับออกโรงสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่ นำมาซึ่งการค้นพบ “นวัตกรรม” และศักยภาพในตัวมนุษย์มากมาย ดังนั้นการบุกยึดดาวอังคารก็น่าจะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเชิงนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่นกัน

เขาไปไกลถึงขั้นบอกว่ากลุ่มคนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการเดินทางจะต้องเสียสละทรัพย์สินที่มีเพื่อให้การเดินทางครั้งนี้ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับสมัยก่อนที่ใครอยากเดินทางสู่โลกใหม่ก็ต้องขายที่นามาจ่ายเป็นค่าตั๋วเดินทางนั่นเอง

แต่อย่าเพิ่งคิดไปไกล เพราะตอนนี้โครงการยึดดาวอังคารของอีลอนยังอยู่ในขั้นฟักตัว เอาแค่ว่าจะสร้างยานให้เสร็จพร้อมบินได้จริงเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้ นี่ยังไม่นับเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาขึ้นเพื่อทำให้ดาวอังคารกลายเป็นบ้านหลังที่สองของมนุษย์อีก ซึ่งแค่ 2 เรื่องนี้ก็ทำให้ความฝันของอีลอนดูช่างห่างไกล

แต่ต่อให้เบาหวิวและล่องลอยดุจปุยนุ่นแค่ไหนก็มีคนเอาใจช่วยโครงการนี้กันเยอะมาก

ใครจะรู้ วันหนึ่งมนุษย์อาจได้ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่บนดาวอังคารกันจริง ๆ ก็ได้