จีนฮุบค้าออนไลน์ 2 แสนล้าน ยึดอีอีซีตุนสินค้าถล่มราคาทุบSME

ค้าขายออนไลน์
(AP Photo/Sakchai Lalit)

สมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทย 2.2 แสนล้านระอุ พ่อค้าแม่ค้าชาวจีนยกทัพเปิดร้านเองผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซดัง ครีเอตการขายสารพัดรูปแบบ ทั้งจ้าง “ไลฟ์สด” เปิดรับตัวแทนจำหน่ายในไทย และร่วมทุนพาร์ตเนอร์ไทยสยายปีกทำตลาดในไทย เปิดเกมสงครามราคาขายต่ำกว่าทุนแถมส่งเร็ว แถมอาจเจอสองเด้งจากมาตรการภาครัฐ กูรูอีคอมเมิร์ซหวั่นเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ “อีอีซี” เสมือนชักศึกเข้าบ้าน แนะผู้ประกอบการไทยเร่งสร้างแบรนด์หาทางรอดระยะยาว

ชัดเจนว่าโควิด-19 ส่งเสริมให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่เติบโตก้าวกระโดดอยู่แล้ว ยิ่งโตมากขึ้นไปอีก จากมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาทำให้ออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของผู้ประกอบการจำนวนมาก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาช็อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมเข้ากับการผลักดันตลาดผ่านกิจกรรมและโปรโมชั่นต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องของยักษ์แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติทั้งหลาย

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในมหกรรมช็อปปิ้งออนไลน์ 9.9 ที่ผ่านมา ไม่เฉพาะยักษ์แพลตฟอร์มข้ามชาติที่ลงมาเล่น แต่รวมไปถึงผู้ประกอบการค้าปลีก และเจ้าของสินค้าและบริการต่าง ๆ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยได้คาดการณ์ด้วยว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2563 จะเติบโตถึง 35% จากปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่าสูงถึงกว่า 2.2 แสนล้านบาท

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยกุมขมับ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยคนไทยที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของช้อปปี้, ลาซาด้า ปรากฏการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นก็คือ มีผู้ค้าชาวจีนเข้ามาขายสินค้าเอง ทำให้สามารถทำราคาได้ถูกกว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ของไทย จนกลายเป็นกระแสที่มีการพูดถึงในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก

แหล่งข่าวในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยว่า ในเว็บอีคอมเมิร์ซ เถาเป่า (Taobao) ของจีน ยังมีการโปรโมตบริการ รับเปิดร้าน, บัญชีธนาคาร และซิมมือถือ สำหรับการสร้างร้านบนแพลตฟอร์ม “ช้อปปี้” และ “ลาซาด้า” ในประเทศไทยโดยเฉพาะด้วย จึงยิ่งทำให้ผู้ค้าชาวจีนเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทยได้ง่ายขึ้นมาก

พ่อค้าจีนมาเองกระหน่ำราคา

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันมีผู้ค้าจากจีนเข้ามาเปิดร้านขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มอย่างช้อปปี้ และลาซาด้าจำนวนมาก และขายสินค้าราคาต่ำกว่าทุน พร้อมส่งเร็ว โดยเข้ามาได้หลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ ผ่านการจัดการสต๊อกสินค้าโดยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงเมื่อผู้ค้าจีนเปิดร้าน ก็ส่งสินค้ามาไว้ที่โกดังกลางของแพลตฟอร์ม เมื่อมีคำสั่งซื้อ แพลตฟอร์มนั้น ๆ จะส่งสินค้าให้ผู้สั่งซื้อ โดยที่ผู้ซื้อไม่ต้องเสียภาษี เพราะแพลตฟอร์มเป็นผู้จัดการด้านภาษีให้แล้ว ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลบวกต่อผู้บริโภคชัดเจน จากการมีทางเลือกมากขึ้น และได้สินค้าราคาถูก ขณะที่ผลเสียเกิดกับผู้ประกอบการไทย เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้

จะเห็นได้ว่าในช่วงเทศกาลมหกรรมช็อปปิ้งออนไลน์ล่าสุด เช่น 9 .9 ที่พบว่าสินค้าและร้านที่ขายดีบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมาจากผู้ค้าชาวจีน เนื่องจากราคาถูก ทำให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มกังวลว่าจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะเสียส่วนแบ่งให้ผู้ค้าจีนในที่สุด

“การแข่งขันอีคอมเมิร์ซแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไทยไม่สามารถแข่งด้านราคาได้ โดยวันนี้กำลังแข่งกับโรงงานจีนที่เข้ามาขายตรงบนช้อปปี้ และลาซาด้า ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีก็ยากที่จะสู้ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำคือ แข่งเรื่องบริการ คุณภาพ และความน่าเชื่อถือของร้าน รวมถึงต้องเร่งสร้างแบรนด์ เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้ามากกว่าจะดัมพ์ราคาแข่ง”

นายธนาวัฒน์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นผู้ค้าชาวจีนเข้ามาตั้งโกดังในไทยชัดเจน แต่แนวโน้มในอนาคตจะเกิดขึ้นแน่นอน จากการเปิดเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งทำให้ผู้ค้าจีนนำเข้าและพักสินค้า เพื่อรอการจำหน่ายในประเทศผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ เมื่อถึงเวลานั้นการแข่งขันด้านราคาจะยิ่งทวีความแรงขึ้นอีก

เขตปลอดอากรฯชักศึกเข้าบ้าน

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเปิดเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่อีอีซี ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เปรียบได้กับการชักศึกเข้าบ้าน เนื่องจากมีประกาศกรมศุลกากรที่ 204/2562 ให้ของที่นำออกจากเขตปลอดอากรฯ แล้วนำเข้ามาในราชอาณาจักร สามารถนำกลับเข้ามาในเขตปลอดอากรฯได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีภายใน 14 วัน จากเดิม 1 วัน ถือว่าสร้างความเสียเปรียบให้ผู้ประกอบการไทย เพราะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซหรือผู้นำเข้าจากต่างประเทศไม่ต้องเสียภาษี หากมีการปฏิเสธการรับสินค้าของผู้ซื้อ

ขณะเดียวกันมีผู้ค้าจีนเข้ามาเปิดร้านในแพลตฟอร์มช้อปปี้ และลาซาด้ามากขึ้น โดยขายของในราคาถูก และส่งเร็วกว่าผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าแล้วมาพักไว้ที่โกดังในไทย ซึ่งลักษณะของการเข้ามาตั้งโกดังในไทยอาจมีน้อยราย แต่มีการนำเข้ามาในปริมาณที่มาก และหลายหมวดสินค้าทำให้ได้เปรียบ ได้ราคาขายที่ต่ำกว่าผู้ค้าไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ค้าไทยขนาดเล็กและกลาง

แนะภาครัฐออกโรงหนุนผู้ค้าไทย

นายภาวุธแนะนำด้วยว่า ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งขยับตัวด้วยการสร้างสตอรี่ และสร้างแบรนดิ้งให้สินค้าของตนเอง รวมถึงมีการบริหารจัดการต้นทุนร้าน และเพิ่มประสิทธิภาพทางการขายให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ

ขณะที่ ดร.ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้อำนวยการหลักสูตร DNAbySPU คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และผู้เชี่ยวชาญการตลาดออนไลน์ แสดงความเห็นว่า ทางรอดของผู้ค้าไทยคือการสร้างแบรนด์ เพื่อหนีการแข่งขันราคา รวมถึงรัฐบาลต้องให้ความรู้ด้านการขายสินค้าผ่านออนไลน์ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์ม และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการขายให้

ผู้ค้าไทย เช่น ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุน หรือตั้งทีมซัพพอร์ตผู้ค้าไทยสำหรับการขายบนออนไลน์ พร้อมคัดเลือกสินค้าจากโครงการ “โอท็อป” หรือสินค้าเด่นประจำชุมชน เข้ามาทำตลาด รวมถึงมีการใช้เครื่องมือออนไลน์ในการช่วยโปรโมต เพื่อสร้างยอดขายให้ผู้ประกอบการไทยเหล่านี้ มากกว่าการใช้เม็ดเงินไปกับการออกบูทแสดงสินค้า

นอกจากนี้ ภาครัฐควรเป็นตัวกลางในการเจรจากับแพลตฟอร์มข้ามชาติทั้งช้อปปี้ และลาซาด้า เพื่อลดค่าธรรมเนียมหรือไม่ต้องหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายจากผู้ค้าไทยรายย่อย

นอมินีเกลื่อนตลาด

ดร.ธีรศานต์กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้ามาของผู้ค้าจีนในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ มีตั้งแต่การจ้างคนไทยไลฟ์ขายของผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงการเปิดหาตัวแทนจำหน่าย และส่งสินค้าให้ หรือหากระดับใหญ่ขึ้นมาก็จะเป็นลักษณะร่วมกับพาร์ตเนอร์คนไทย ในการเปิดโกดังเพื่อนำเข้าสินค้า พักสินค้า และเมื่อมียอดสั่งซื้อ พาร์ตเนอร์ไทยก็จะบริหารจัดการให้ และแบ่งส่วนแบ่งการขายระหว่างกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย เนื่องจากขายของราคาต่ำ สะท้อนจากสินค้าขายดีติดอันดับแพลตฟอร์มช็อปปิ้งใหญ่ เช่น หมวก กระเป๋า สินค้าแฟชั่น ส่วนใหญ่มีการนำเข้ามาจากจีน

“ถ้าเห็นโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการใช้ภาษาไทยแปลก ๆ ก็จะสังเกตได้เลยว่า เป็นผู้ค้าจีน ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ค้าจีนมีความเชี่ยวชาญการทำโฆษณาและขายสินค้าบนออนไลน์อยู่แล้ว ส่วนสินค้าจะได้คุณภาพหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง แต่ที่แน่ ๆ คือจูงใจให้คนซื้อ ด้วยราคาถูก และส่งของเร็วถึงหน้าบ้าน ซึ่งในแง่การแข่งขันแล้ว ทำให้ผู้ค้าไทยเหนื่อยขึ้น ขายของยากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคมีความเสี่ยงสูง เพราะได้ของราคาถูก แต่ถ้าสินค้าไม่ได้คุณภาพก็ไม่สามารถคืน หรือเรียกร้องอะไรได้ เพราะผู้ค้าจีนเข้ามาเปิดหน้าร้านเฉย ๆ ไม่มีการตั้งบริษัท”

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาได้ ดังนั้นการสร้างแบรนด์จึงเป็นทางรอดในระยะยาว ประกอบกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างมีมาตรการสแกนผู้ค้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพออกจากตลาด ขณะที่ผู้บริโภคเองก็คงค่อย ๆ เรียนรู้การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ เชื่อว่าในท้ายที่สุด ตลาดอีคอมเมิร์ซจะแข่งกันที่คุณภาพมากกว่าราคา ซึ่งในตลาดไทยอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ