แผนเศรษฐกิจดิจิทัล อีคอมเมิร์ซกับการพัฒนาประเทศ

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมได้รับการติดต่อจากท่านนายกฯ เชิญผมและสมาคมอีคอมเมิร์ซเรื่องที่จะนำอีคอมเมิร์ซเข้ามาพัฒนาประเทศได้อย่างไรบ้าง เราเข้าไป 3 หน่วยงาน คือ หน่วยงานด้านสมาคมอีคอมเมิร์ซ สมาคมด้านสื่อโฆษณาดิจิทัล และสมาพันธ์ด้านโลจิสติกส์

สมาคมอีคอมเมิร์ซนำเสนอหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนำอีคอมเมิร์ซมาประยุกต์ใช้ มาช่วยเรื่องเศรษฐกิจ เข้าใจว่าที่ท่านเรียกสมาคมอีคอมเมิร์ซเพราะเห็นแล้วว่าในยุคหลังโควิด จะมีบทบาทมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี

เราได้พูดถึงเรื่องความน่าเป็นห่วงของธุรกิจ e-Commerce เพราะอยู่ในมือของต่างชาติ เป็นห่วงในแง่ของภาครัฐที่ทำงานกระตุ้นอีคอมเมิร์ซตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังทำได้ไม่ค่อยดีไม่มีหน่วยงานดูแลด้านนี้โดยตรง

ผมบอกกับท่านตรง ๆ เลยว่า การทำงานของภาครัฐบางทีซ้ำซ้อนกัน พอจะทำเรื่องอีคอมเมิร์ซ ทุกกระทรวงจะรับลูกและมีนโยบายอีคอมเมิร์ซของตัวเอง แต่สิ่งที่เราเห็นคือทุกคนก็ทำอีคอมเมิร์ซ ทุกคนสร้างเว็บไซต์ อบรมเหมือนกัน กลุ่มคนฟังก็เป็นกลุ่มเดิม

เพราะประเทศไทยไม่มีกรอบแผนการทำงานที่ชัดเจน เช่น จะทำอีคอมเมิร์ซ หน่วยงานนี้ไปทำเรื่องอบรม หน่วยงานนี้ทำเรื่องแพลตฟอร์ม หน่วยงานนี้ไปทำเรื่องการกระตุ้นให้เกิดความน่าเชื่อถือ ฯลฯ คือ ต้องแบ่งงานกันแต่โครงสร้างของภาครัฐ เมื่อมีนโยบายอะไรออกมาต่างคนก็ต่างทำ ที่ผ่านมาจึงกลายเป็นว่ามีการทำงานซ้ำซ้อนกันตลอด

เมื่อได้คุยกับท่านนายกฯ จึงคุยเกี่ยวกับเรื่องการบูรณาการ เพราะงบประมาณที่ใช้ไปไม่เกิดประสิทธิผล ท่านนายกฯจึงบอกให้สำนักงบประมาณดูเรื่องนี้ให้ดี พอดีมีท่านที่มาจากสภาพัฒน์จึงบอกให้ดูดี ๆ เพราะซ้ำซ้อนกันจริง ๆ

แล้วผมก็พูดถึงเรื่องการที่ควรต้องมีองค์กรกลางดูแลอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย อาจมาจากความร่วมมือของหลายกระทรวง เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ทุกกระทรวงจะได้รับลูกไปแล้วทำงานร่วมกันภายใต้กรอบเดียวกัน ผมเอาภาพของมาเลเซียที่เคยไปช่วยเขาให้ดูท่านนายกฯก็รับฟังด้วยดี

ส่วนอื่น ๆ ผมพูดถึงเรื่องการช่วยผู้ประกอบการโดยเฉพาะฝั่งเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราพยายามที่จะอบรมผู้ประกอบการให้รู้จักเทคโนโลยี เช่น ให้นำไปขายต่างประเทศ ให้ทำอีคอมเมิร์ซ ฯลฯ แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะผู้ประกอบการไม่ได้โฟกัสกับอีคอมเมิร์ซ มีหน้าร้านที่ต้องทำ เมื่อจะทำออนไลน์จึงไม่มีเวลา ผมจึงมองว่าลองเปลี่ยนโฟกัสใหม่ มาสร้างผู้ช่วยผู้ประกอบการ หรือ e-Commerce enabler ในประเทศไทยมีบริษัทที่ทำด้านนี้โดยตรง ไปช่วยผู้ประกอบการเอาสินค้าเข้าสู่ออนไลน์ ไปขายต่างประเทศจะเกิดผลมากกว่าการนั่งอบรม

เรื่องที่น่าสนใจมากอีกเรื่องคือ นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ เห็นได้ชัดว่ารัฐเริ่มเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น ผมจึงเสนอว่า ทำไมเราไม่ให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีแก่ธุรกิจที่เข้าสู่ออนไลน์ เดี๋ยวนี้กรมสรรพากรออก e-Tax invoice ได้ เมื่อซื้อสินค้าออนไลน์ ระบบจะส่งใบเสร็จออนไลน์ไปที่อีเมล์ลูกค้าได้ทันที กรมสรรพากรจะทราบว่า สินค้าชิ้นนี้ขายได้เท่าไร เมื่อผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ e-Tax invoice เราจะนำสินค้าเหล่านี้มารวมในที่เดียวเป็นมาร์เก็ตเพลซกลางแล้วเปิดเป็น “ชิม ช้อป ใช้ ดิจิทัล”

เมื่อเป็นดิจิทัลแล้ว เงินทุกบาทต้องนำมาใช้ซื้อสินค้าของผู้ประกอบการบนออนไลน์ ซื้อแล้วผูกเป็น e-Tax invoice รัฐก็จะติดตามการซื้อขายได้เป็นการดึงเอกชนเข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์ เมื่อมีชิมช้อปใช้ออนไลน์หลาย ๆ ธุรกิจก็อยากเข้ามาออนไลน์ เพื่อรับเม็ดเงินส่วนนี้ ท่านนายกฯมีความสนใจ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ

ผมอยากเล่าบรรยากาศข้างในสักหน่อย ผมไม่เคยเจอท่านนายกฯ แต่สิ่งที่ประทับใจมากคือ เมื่อพวกเราพูดอะไรไป ท่านตั้งใจฟัง จดทุกอัน ไฮไลต์ตลอด เป็นคนเดียวที่ตั้งใจที่สุดในห้องนั้น มีอายคอนแท็กต์ที่เอาคนทั้งห้องอยู่ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นความตั้งใจ กำลังใจท่านดีมาก บอกว่าเป็นหน้าที่ของผม ผมต้องทำให้ได้


ก็ดีใจนะครับที่ท่านมีความตั้งใจ สิ่งสำคัญคือจะผลักดันเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ บางทีการทำงานจะมารอรัฐติดต่อกลับแล้วค่อยทำไม่ได้ บางทีเราต้องเดินนำหน้า ต้องขานรับ เดินนำและจูงมือภาครัฐไปด้วยกัน คือสิ่งที่เราต้องทำ จะมัวแต่รอภาครัฐขยับแล้วมาสะกิดไม่ได้แล้วครับ