“ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” CEO ไปรษณีย์ไทย กับภารกิจยุคดิจิทัล

สัมภาษณ์พิเศษ

กิจการไปรษณีย์ไทยอายุ 137 ปี แต่เป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) มาแล้ว 17 ปี มีบริษัทลูก 1 แห่ง คือ ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น แต่มีโครงการใหม่ ๆ ที่จะร่วมมือกับทั้งรัฐวิสาหกิจด้วยกันและเอกชนอีกเพียบอยู่ในคิวรอเผยโฉม ท่ามกลางกระแส “ดิจิทัลดิสรัปต์” และการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโลจิสติกส์อีกขาหนึ่งในความรับผิดชอบ

“ประชาชาติธุรกิจ” กลับมาคุยกับ “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท คนใหม่ หลังตัดสินใจอำลาตำแหน่งรองเลขาธิการ “กสทช.” มาสมัครชิงตำแหน่งซีอีโอ ปณท และรับบทแม่ทัพมาแล้ว 6 เดือน หลากหลายแง่มุม

Q : เป็นแม่ทัพในกิจการเก่าแก่อายุ 137 ปี

ไปรษณีย์ไทยเกิดมา 137 ปี เป็นหน่วยงานรัฐที่บริการพื้นฐานด้านการสื่อสารให้ประชาชน กรมไปรษณีย์โทรเลขเดิมสังกัดกระทรวงคมนาคม ดูแลเรื่องคลื่นความถี่ ออมสินก็เคยอยู่กับไปรษณีย์ การสื่อสารฯหรือแคท องค์การโทรศัพท์หรือทีโอที ก็เคยอยู่ เมื่อพัฒนาการเกิดขึ้นก็แตกมาเป็นรัฐวิสาหกิจ มีองค์กรกำกับ เป็น กทช. และวันนี้เป็น กสทช. ต่างเป็นญาติกันหมดกิจการไปรษณีย์ใน พ.ร.บ.ไปรษณีย์ 2477 มี 4 บริการ จดหมาย ไปรษณียบัตร ธนาณัติ และโทรเลข

10 กว่าปีที่แล้ว เลิกโทรเลข เหลือ 3 อย่าง วันนี้โดน disrupt จากดิจิทัลหมด จดหมายมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โปสต์การ์ดเหมือนขายได้เฉพาะช่วงบอลโลก ธนาณัติลมหายใจรวยรินเหลือเดือนละ 3 แสนทรานแซกชั่น คนยังใช้ เพราะไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร แต่เนื้อแท้จริง ๆ ของไปรษณีย์คือ กิจการงานสื่อสาร และการสื่อสารพื้นฐานของสังคมคนสมัยก่อนยังไม่มีมือถือ ที่ติดต่อกันได้ด้วยการแปะแสตมป์ หยอดส่งตู้แดง ราคาเท่ากันทั้งประเทศ

ทุกประเทศมีหน่วยแบบนี้ หน่วยที่นำกระดาษมาพิมพ์แล้วขายเป็นแสตมป์แล้วให้บริการ จากเชียงใหม่ไปสุไหงโก-ลกทำไม 3 บาทได้ ก็ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้บริการอยู่ได้ เราไม่ได้คุยแค่ในประเทศ แต่จดหมายส่งข้ามประเทศได้ ก็ต้องมีสหภาพจดหมายระหว่างประเทศกำกับดูแลระหว่างส่งข้ามระหว่างประเทศ

พัฒนาการไม่ได้จบแค่จดหมาย มีพัสดุเข้ามาเป็นชิ้นย่อม ๆ กลายเป็นชิ้นใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ คนเริ่มมองไปรษณีย์เป็นบริษัทขนส่ง

แต่หากมองย้อนไป 10 กว่าปีก่อน ตั้งแต่กระทรวงคมนาคม มาเป็นไอซีที และดีอีเอส โดยเนื้อแท้ของไปรษณีย์จึงคืองานสื่อสาร

Q : มาที่นี่เพราะมองเป็นงานสื่อสาร

ใช่ครับ มองว่าในงานสื่อสารแบบเดิมสามารถที่จะใส่ความเป็นดิจิทัลได้ เพราะ พ.ร.บ.ไปรษณีย์ 2477 ประกอบกับ พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเป็นผู้ให้บริการเมล์ที่สำคัญแบบจดหมายลงทะเบียน ไปรษณีย์ยังมีที่ยืน

ถ้าสังเกตจริง ๆ ไปรษณีย์ทุกประเทศทั้งโลกจะเป็นผู้ยืนยันบุคคล ยืนยันการส่งรับ ทุกวันนี้อีเมล์สะดวก แต่อีเมล์ระหว่างบริษัท A กับบริษัท B นาย ก กับนาย ข ถ้าใช้ฟรีเมล์ไม่ว่าจะเป็น Gmail Outlook Hotmail Yahoo-Mail การยืนยันเกิดจากบริษัทเอกชน ซึ่งเก็บ log ไม่รู้เก็บนานแค่ไหน ไม่รู้ยืนยันได้แค่ไหน

ขณะที่บริษัทไปรษณีย์ไทยคุยกับไปรษณีย์ทั้งโลกแล้ว มีอนุสัญญาข้อที่ 37 ที่ไปรษณีย์ทั้งโลกมาเซ็นตกลงร่วมกันว่าต้องยืนยันให้ระหว่างกัน

แปลว่าถ้าไปรษณีย์ประเทศอื่นทำไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วเกิดต้องไปยืนยันในศาล ไปรษณีย์ไทยต้องทำให้ จุดเกาะเกี่ยวจากสิ่งที่เคยทำอยู่ใน กสทช.มาทำที่นี่ได้ เอามาทำเป็นกิจการอิเล็กทรอนิกส์เมล์ที่จำเป็นต้องมีการยืนยัน เชื่อว่ายังมีคนอยากซื้อ เพราะไม่ใช่แค่หน่วยงานรัฐกับรัฐ หน่วยงานรัฐ กรม A คุยกับกรม B ท้ายที่สุดเอาหนังสือกรม B ส่งไปถึงบริษัท ก แล้วบริษัท ก อาจมีหนังสือโต้ตอบกับบริษัทญี่ปุ่น หากต้องอ้างอิงการส่งรับของ

Q : ไปรษณีย์ไทยจะเข้ามาดูแล

ผมมองว่ายังมีโอกาสในเชิงธุรกิจอยู่มาก ไปรษณีย์ไทยเราพูดได้ว่า เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีคนเยอะที่สุด เพราะเป็นบริการพื้นฐานต้องอยู่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ แปลว่าต้องมีคนเยอะเพื่อเชื่อมจุด ทุกวันนี้เรามีเกือบ 1,500 สาขา มีผู้นำจ่าย 3,500 จุด รวมแล้วมีร่วม 5,000 เพื่อเชื่อม 5,000 จุดเข้าด้วยกัน ก็ต้องมีรถ มีศูนย์ มีรถที่ว่าง มีศูนย์ที่ว่าง

แต่นั่นคือ เรื่องที่ 2 เรื่องแรกคือ ให้บริการพื้นฐานทางการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นจดหมายธรรมดา 3 บาท หรือจดหมายส่งด่วนทั้งในและต่างประเทศ และกำลังจะทำจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

ผมตั้งชื่อภาษาอังกฤษ เพื่อจะได้ครอบคลุมว่า “TDH-total document handling” ทำไมต้องเป็นครบวงจร ในแต่ละกรม กอง หรือในแต่ละบริษัท จะมีระบบในการผลิตเมล์ ไม่ว่าจะเป็นเมล์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเมล์กระดาษอยู่แล้ว เราไปต่อท่อ ถ้าเป็นเมล์กระดาษทำอย่างที่เราเคยทำ เมล์อิเล็กทรอนิกส์จะใช้ระบบใด เราจะเป็นตรงกลาง และเป็นคนยืนยันว่าจะมีการส่งรับ มันสามารถพัฒนาไปเป็น hybrid mail เช่น ผมส่งไปประชาชาติฯ แล้วประชาชาติฯไม่เปิดอ่าน อาจกำหนดไว้ 3 วัน ถ้าไม่กดเปิดอีเมล์นี้ เรารู้ก็จะเปลี่ยนเป็นกระดาษ พรินต์ และใส่ซอง มีบุรุษไปรษณีย์ไปส่งถึงที่

มันจะมีบริการการสื่อสารที่อยู่ได้ในบริบทปัจจุบัน ผมเชื่อว่าไม่ว่าอย่างไร คนไทยหรือประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศจะเป็นต่างชาติหรืออะไรก็แล้วแต่ มีความจำเป็นต้องใช้เอกสารอยู่ ดิจิทัลอยู่ทุกที่ แต่เป็นไม่ได้ทุกอย่าง

การรับฝาก ส่งออก นำจ่าย คืองานของไปรษณีย์ไทย เรากลับมาทำตรงนี้ให้ดี กลับไปดูประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก สหรัฐอเมริกา US-Postal ใหญ่มาก ต้องครอบคลุมทั้งประเทศ ขาดทุนตลอด และรัฐบาลต้องสนับสนุน ถ้าถามผมว่า ใครคือคู่แข่ง ผมว่า ตัวเอง

งานกล่องเป็นงานที่เกิดขึ้นทีหลัง เป็นข้อสอง งานไปรษณีย์คือข้อหนึ่ง แล้วงานไปรษณีย์ดูเหมือนว่าซองจะลดลง แต่ถ้าเราสร้างซองอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา อธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นไปใช้ยืนยันในชั้นศาลทั้งในประเทศและระหว่างประเทศได้ จะยังมีโอกาสในเชิงที่จะให้บริการประชาชนได้มากขึ้นกว่าเดิม

Q : ทำทั้งธุรกิจและรับใช้ประชาชน

รัฐวิสาหกิจเวลาเราพูดธุรกิจ ต้องมองอีกแบบว่า จะต่างจากคนอื่นมาก ๆ รัฐวิสาหกิจมองกำไรแค่ตัวเองอยู่ได้ แต่กำไรสังคมเป็นหลัก เพราะบริษัทไปรษณีย์ไทย รัฐถือหุ้น 100% ถ้าไปรษณีย์มองว่าประโยชน์สูงสุดเป็นของตัวเอง แล้วประชาชนอยู่ที่ 2 บางเรื่องจะกลายเป็นอีกอย่าง

เราอยู่ในกิจการที่ให้บริการพื้นฐานด้านการสื่อสารทางด้านเอกสารที่จำเป็น ถ้าพัฒนาคุณภาพงานต่อเนื่อง ปรับปรุงเพิ่มเติมงานบริการดิจิทัล แล้วปรับภูมิทัศน์ข้างในให้เหมาะสม ถ้าเราเห็นเรื่องต้องทำ เรื่องควรทำ เราก็จะเห็นเรื่องไม่ต้องทำ และไม่ควรทำ โฟกัสทำเรื่องที่อยู่ใน DNA ทำให้มันดี ดีกว่า

Q : เรื่องที่ควรทำ และไม่ควรทำ

พัฒนางานดิจิทัลด้านเมล์ให้ดี ทำคุณภาพด้านการส่งจดหมาย หนังสือลงทะเบียน จดหมายลงทะเบียนตอบรับทำให้ดี พัฒนางานด้านดิจิทัลให้ดี ประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ต้องทำทุกวันอยู่แล้ว หน่วยงานภาครัฐ มีคนพูดมากมายว่า เราคนเยอะไปหรือเปล่า อันนั้นกระบวนการดิจิทัลมาจะเห็นเอง ภาครัฐก็ยังใช้เราค่อนข้างมากก็ยังต้องปรับปรุง และพัฒนางานด้านส่งพัสดุภัณฑ์ให้ดีขึ้นไปอีก

Q : เวตน้ำหนักกันอย่างไร

หลายคนในนี้เวตจากรายได้ แต่ผมบอกว่าพัสดุชิ้นหนึ่งอาจมีความหมายประมาณหนึ่ง เพราะมีมูลค่า แต่กระดาษใบหนึ่งอาจเปลี่ยนชีวิตคนได้เลย เรื่องแรกที่พยายามทำคือ รักษาคุณภาพ สร้างคุณภาพให้ดี สร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้ไปรษณีย์ แล้วก็ดิจิทัลไลซ์ให้มีเมล์อิเล็กทรอนิกส์ที่ดี ทุกวันนี้เมล์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันเป็นฟรีเมล์ ข้อมูลอยู่ต่างประเทศหมด คนที่ให้บริการท่านฟรี แต่เอาข้อมูลไปหารายได้ความเป็นส่วนตัวไม่ได้ แล้วไม่มีองค์กรใดไปกำกับ

ไม่ใช่เป็นปัญหาแค่ประเทศไทย เป็นปัญหาของทั้งโลก เมกะแพลตฟอร์มพวกนี้รู้จักพวกเรามาก และเอาข้อมูลเราไปหารายได้เยอะกว่าที่เราให้เขา

วันนี้เป็นคำถามที่เราต้องทำไป คิดไป สำหรับไปรษณีย์แล้ว วันแรกการส่งรับสิ่งที่อยู่ในเมล์ เราไม่มีสิทธิ์รู้ วันนี้เรามาทำอิเล็กทรอนิกส์เมล์ เราก็ยังยืนยันกับผู้ใช้บริการของเราว่า สิ่งที่เคยเป็นมาแบบใดยังเป็นแบบนั้น

เรามี พ.ร.บ. มีระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฉะนั้นอะไรที่เป็นของประชาชน เราต้องไม่ดู เคยเป็นอย่างไรกับเมล์กระดาษก็ต้องเป็นที่ดีกว่านั้นที่เมล์อิเล็กทรอนิกส์

Q : ทำไปถึงไหนแล้ว

ก็ส่งไปถึงกระทรวงว่าจะเอาเข้าคณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ หรือไป ครม. เพราะต้องมีรายละเอียดทางกฎระเบียบระหว่างหน่วย มีที่ปรึกษามาดูทั้งเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และความเป็นไปได้เชิงธุรกิจ และดูว่าต้องลงทุนเท่าไหร่ เพื่อให้คณะกรรมการอนุมัติในการจัดซื้อจัดจ้าง ลงทุนระบบเมล์อิเล็กทรอนิกส์

Q : รายได้หลักทุกวันนี้แบ่งเป็นอะไรบ้าง

ตัวซองได้น้อยลง ตัวกล่องได้มากขึ้น สำหรับผมมองว่า ซองยังทำได้มากขึ้นกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นซองฟิซิเคิล ถ้าพัฒนาคุณภาพ แล้วซองที่เป็นดิจิทัล อันนี้ยังไม่รู้ว่าเพดานรายได้อยู่ตรงไหน เพราะวัน ๆ เราไม่มีสารสนเทศที่จะรู้เลยว่า บริษัทข้ามชาติที่มาให้บริการเมล์ฟรี หรือคนไทยที่ส่งเมล์มีเยอะขนาดไหน แต่มองได้ว่าวันนี้การใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นตลอด ตัวเลขล่าสุดที่ กสทช.ทำ 55 ล้านคนแล้ว ถ้าเราทำได้ 55 ล้านคน บวกนิติบุคคลอีก 20 ล้าน สบาย ๆ 70 ล้านคน ส่งเมล์วันละเมล์เดียว ผ่านเรา

Q : เราต้องมีอีเมล์ฟรี

อีเมล์ของไปรษณีย์ไทยน่าจะเป็นเรื่องฟรี ถ้าเป็นบริการภาครัฐ แต่บริการเอกชนที่ต้องเป็นการยืนยัน เพราะเทียบเคียงสิทธิ์เท่ากับจดหมายลงทะเบียนตอบรับจะมีราคาอยู่ ตรงนี้จ้างที่ปรึกษาดูก่อนผมเข้ามา ก็ได้ถามเขาเพิ่มไป มีโมเดลหลากหลาย อย่างฝรั่งเศสคิดตามขนาดไฟล์ที่ส่ง แต่ผมว่าคนไทยคงไม่ได้ เกิดส่งรูปภาพเยอะ ๆ คิดเงินเยอะก็ไม่ใช้ เราต้องแบบไทย ๆ คนไทยจะคิดถึงเรื่องคุณภาพก่อน

Q : ส่งกล่องหรือพัสดุเป็นไพรออริตี้ที่ 2

ถือว่าหล่อเลี้ยงคนก็ต้องทำ เพราะจุดแข็งของไปรษณีย์อย่างหนึ่ง คือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่เคยพึ่งพิงงบประมาณภาครัฐ เขาเก่ง เขาดิ้นรน เขาอยู่ได้ ไม่เป็นภาระใคร แต่ประเด็นที่เราได้ยินเสมอ คือในเชิงคุณภาพ มีพื้นที่ให้ปรับปรุงก็พัฒนากันไปเรื่อย ๆ

แม้เราจะบอกว่า priority แรกคือ เมล์ แต่โลจิสติกส์ก็ทำ จึงเกิดคำถามตามมามากมายว่า ในแง่ราคาแข่งได้ไหม คืออย่างไรก็กลับมาที่การแข่งขัน มองตรงนี้อย่างไร และจุดยืนที่ให้นโยบาย

ผมว่าอย่างหนึ่งที่สำคัญที่เราพูดคุยกัน ผมพูดคุยตั้งแต่เดือนแรก ๆ แล้วว่า ควรมีองค์กรกำกับดูแล เพราะโดย พ.ร.บ. 2477 กิจการงานซองเป็นของไปรษณีย์เท่านั้น วันนี้เอกชนส่งเต็มไปหมดเลย ไปไล่ปรับได้ซองละ 10 บาท ก็ทะเลาะกันเปล่า ๆ จึงอยากได้องค์กรกำกับดูแลว่างานซองเอาอย่างไร ซองแบบส่งเซมเดย์ เน็กซ์เดย์ ให้เอกชนแข่งก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ซองพื้นฐาน อย่าลืมนะครับ ตอน 3 บาท เชียงใหม่-สุไหงโก-ลก อยู่ทุกตำบล หมู่บ้าน หรือตอนที่คิดว่าอยากส่งฟรี ทุกคนคิดถึงไปรษณีย์ แต่พออยากส่งเร็ว เราไม่ใช่ทางเลือกแรก

คิดถึงส่งฟรีคิดถึงไปรษณีย์ เอาต้นทุนมาไว้กับเรา จึงอยากได้องค์กรกลางมากำกับดูแล อย่างโมเดลสวีเดน กสทช.ของสวีเดนจะดูเรื่องไปรษณีย์ด้วย

Q : มีการกำกับดูแลเพื่อ

หนึ่ง กล่อง ราคาคืออะไร การคุ้มครองผู้บริโภคคืออะไร ส่งไม่ได้ตามวันเวลาที่ส่ง ที่รับปาก ปรับยังไง ของหายปรับยังไง ผมว่าทุกวันนี้ที่เราเริ่มเจอคือ ทุนข้ามชาติเข้ามา ชวนคุณไปเป็นแฟรนไชส์ วันนี้แฟรนไชส์คือลูกค้า ได้รับการคุ้มครองหรือเปล่า กฎของโลกเวลาบริษัทใหญ่ทำสัญญาแฟรนไชส์กับบริษัทเล็ก บริษัทใหญ่ไม่เคยเสียเปรียบเลย และท้ายที่สุด ต้นทุนแบบนั้นผลักจากบริษัทใหญ่ไปยังตัวเล็กตัวน้อย แล้วตัวเล็กตัวน้อยผลักไปไหน ผลักไปผู้บริโภค

ถ้าไม่มีองค์กรกลางกำกับดูแล ทุกอย่างจะกลับไปที่ สคบ. ถึงบอกว่าโมเดลสวีเดนน่าสนใจ เพราะไม่ต้องไปสร้างหน่วยงานใหม่ แก้ พ.ร.บ.กสทช.เพิ่มงานนี้ เพิ่ม 2-3 สำนัก ทำได้เลย กสทช.มีหน่วยงานกระจายอยู่ทั่วประเทศแล้ว ทำได้เลย

กสทช. ก็เป็นญาติของไปรษณีย์มาตั้งแต่ต้น เท่าที่ซาวนดิ้งทั้งคนข้างในองค์กร และในอุตสาหกรรมส่งกล่อง เขาก็อยากได้ เพราะไปถึงจุดหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเรากลัวการแข่งขัน ไม่ใช่ว่าเราไม่ปรับปรุง ไม่พัฒนาประสิทธิภาพ แต่ที่เรากลัวคือ มาขายราคาถูก ๆ มีอะไรการันตีว่าของหายไปแล้วทำอย่างไร มันจะไม่เกิดแค่บริษัทเดียว ผมกล้ายืนยันเลย ไม่ใช่แค่บริษัทไปรษณีย์ไทยที่ของหาย เพียงแต่เราอยู่มาก่อน ไม่ใช่ว่าเราโดนขโมยบริษัทเดียว

ท้ายที่สุด ประสบการณ์ของผู้ใช้บริการจะเหมือน ๆ กัน แต่เพื่อให้การแข่งขันเท่าเทียมกัน ผู้บริโภคควรต้องมีการคุ้มครองดูแล

ไปรษณีย์ไทยมีเรื่องที่คนอื่นทำไม่ได้เยอะ ทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ พื้นที่ดิจิทัลยังทำได้อีกเต็มไปหมด แค่การส่งรับ และการยืนยันการส่งรับระหว่างประเทศ ต้องใช้หน่วยงานอารมณ์รัฐ อารมณ์รัฐวิสาหกิจที่ไปยืนยันกับศาล ยืนยันกับไปรษณีย์ประเทศอื่น ๆ ว่ามีการส่งรับ นี่คืองานไปรษณีย์ไทย

Q : วันหนึ่งต้องส่งกี่ชิ้น กี่กล่อง

ประมาณ 8 ล้านชิ้น เป็นซอง 30-40% ผมว่าความเป็นรัฐ อย่าไปใหญ่เยอะ ให้เอกชนใหญ่ไป ประเทศจะวิน ถ้าตลาดโต เราก็ต้องไป ต้องดูทิศทางผู้ถือหุ้นจะว่าอย่างไร

โดยส่วนตัวจะมีแพลตฟอร์ม TDH อยู่ที่บริษัทแม่ และมีแพลตฟอร์มระวางว่างที่บริษัทลูก “ไปรษณีย์ดิสทริบิวชั่น” คือสมมติคุณมีรถกระบะวิ่งจากอยุธยามากรุงเทพฯ ขนของมา 1,500 บาท ขากลับตีรถเปล่า ถ้าเรามีแพลตฟอร์มนี้ให้ใช้ฟรี ถ้าคุณมีรถ 20 คัน คุณอาจบอกว่าสมัครแบบพรีเมี่ยม เพราะต้องลงทะเบียนเยอะ ไปรษณีย์บอกว่างั้นเราดูแลเรื่องการจ่ายเงิน เพราะคุณกับคนจ้างไม่เคยเจอกัน เงินเข้าบัญชีคุณ ไปรษณีย์เก็บค่าธรรมเนียมก็ได้

รัฐวิสาหกิจในความหมายของผมคือ ต้องพร้อมขาดทุนบางเรื่อง ให้ตัวเล็กตัวน้อยกำไร

อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคุยกับสภาพัฒน์แล้วว่า โอเค เราเข้าใจดีว่า กระทรวงการคลังอยากได้ประสิทธิภาพ เขาถึงประเมินเราจากยอดขายและกำไร แต่ถ้าพูดแบบนั้นอย่างเดียวแห้ง ๆ จะไม่มีรัฐวิสาหกิจใดกล้าทำแพลตฟอร์ม เพราะแพลตฟอร์มมันต้องขาดทุนช่วงแรก

Q : จุดแข็งและสิ่งที่ต้องรักษาไว้คืออะไร

ความเป็นไปรษณีย์ คนชมเราเรื่องหนึ่งเสมอ คือ “จ่าซองผิด ยังส่งได้ถูก” ทักษะนี้เกิดเพราะทำซอง เมื่อก่อนใช้มือเขียน จะไปส่งบ้านไหน บุรุษไปรษณีย์ต้องอ่าน ทักษะพวกนั้นสร้างมานับ 10 ปี เรากำลังพูดถึงคนที่อยู่มานาน

ถ้าเรานำจุดแข็งตรงนี้ ที่ในสายตาคนอื่นมองเป็นจุดอ่อน เพราะต้องมีคนเยอะ พลิกไปทำอย่างอื่นได้ไหม ก็ต้องมีความร่วมมือหลายอย่าง ก็กำลังทำ มี 10 กว่าอย่าง บางอย่างเข้ามติบอร์ดแล้ว บางอย่างอยู่ในอำนาจ ผมก็จะทำเลย

เราต้องสู้ให้มีรายได้พอสำหรับ 4 หมื่นกว่าคน อะไรที่ไม่ควรทำ อะไรที่ต้องร่วมทุน อะไรที่ควรทำเพิ่ม อย่างแพลตฟอร์มระวางว่าง แพลตฟอร์ม TDH

Q : ผลประกอบการยังกำไร

ยังทำได้อยู่ แต่เนื่องจากว่าเอกชนมาแล้วหั่นราคา ความสามารถในการทำกำไรก็ต่ำลง หลายคนกังวลเรื่องกำไรเป็นสรณะ ส่วนตัวผมมองว่ากำไรเป็นตัวแถม กระบวนการใช่หรือเปล่า ทิศทางเราใช่หรือเปล่า ถ้าทิศทางเราคือการบริการประชาชน มีกำไรบางอย่างในใจแล้ว เช่น แพลตฟอร์ม ระวางว่าง มองว่าทำเพื่อให้คนตัวเล็กอยู่ได้

คือสมาทานคำว่า “แข่งขันกับกำไร” อย่างเดียว เราจะไม่ทำหลายอย่างให้กับประชาชนตัวเล็กตัวน้อย อย่าลืมว่ากิจการนี้ตั้งแต่ก่อตั้ง ใช้หัวใจที่ใหญ่มากในการทำเรื่องระดับชาติบางเรื่อง และหลายเรื่อง ถ้าเอากำไรขาดทุนไปจับหมดคงไม่ได้

ไปรษณีย์ไทยคือเป็นแพลตฟอร์มยุคโบราณ มีตู้แดง มีคนขับมอเตอร์ไซค์ มีที่ทำการ คนอาจมองว่าไม่ทันสมัย แต่คือสิ่งที่ให้สังคมเป็นกำไร ทิศทางคนรุ่นเก่าวางไว้ค่อนข้างโอเคมาก บางเรื่องก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นปัจจุบัน

Q : รัฐมนตรีให้นโยบายไม่ต้องกำไรก็ได้

ผมว่า ท่านรัฐมนตรีมองว่า กำไรจะไปอยู่ที่ประชาชน

ชมคลิปสัมภาษณ์

ไปรษณีย์ไทย : กำไรประชาชน มาก่อนการแข่งขัน

ฟัง “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” CEO ไปรษณีย์ไทย เล่าแนวคิดบริหารกิจการอายุ 137 ปี ท่ามกลางกระแส “ดิจิทัล ดิสรัปต์” หลังตัดสินใจอำลาตำแหน่งรองเลขาธิการ “กสทช.” มาสมัครชิงตำแหน่ง CEO ปณท และรับบทแม่ทัพมาแล้ว 6 เดือน.พร้อมมุมมองในการทำงานรัฐวิสาหกิจ เช่น “รัฐวิสาหกิจในความหมายของผมคือ ต้องพร้อมขาดทุนบางเรื่อง ให้ตัวเล็กตัวน้อยกำไร”.และ “ถ้าสมาทานคำว่าแข่งขันกับกำไรอย่างเดียว เราจะไม่ทำหลายอย่างให้กับประชาชนตัวเล็กตัวน้อย อย่าลืมว่ากิจการนี้ตั้งแต่ก่อตั้ง ใช้หัวใจที่ใหญ่มาก ในการทำเรื่องระดับชาติบางเรื่องและหลายเรื่อง ถ้าเอากำไรขาดทุนไปจับหมดคงไม่ได้.อ่านข่าว “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” CEO ไปรษณีย์ไทย กับภารกิจยุคดิจิทัลhttps://www.prachachat.net/ict/news-526503

โพสต์โดย Prachachat – ประชาชาติ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2020