เราจะเดินหน้านำดิจิทัล มาพัฒนาประเทศได้อย่างไร

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ครั้งที่แล้วผมเล่าถึงที่ได้เข้าไปประชุมกับท่านนายกรัฐมนตรีเรื่องแผนเศรษฐกิจดิจิทัลในแง่ของอีคอมเมิร์ซว่าจะพัฒนาประเทศได้อย่างไร

ครั้งนี้ผมจะเล่าต่อในแง่ของอีกสองกลุ่มที่ได้เข้าไปพร้อมกัน คือ กลุ่มโฆษณาดิจิทัลและโลจิสติกส์ว่ามีแง่มุมใดบ้างที่น่าสนใจ

ประเด็นน่าสนใจในฝั่งโฆษณาดิจิทัล คือ การใช้เม็ดเงินกระตุ้นให้คนไทยเก่งเรื่องดิจิทัลมากขึ้นโดยเฉพาะคนทำธุรกิจ เพราะบางคนใช้โฆษณาออนไลน์ไม่เป็น บางคนเอาเงินไปซื้อโฆษณาต่างประเทศ ฯลฯ

ต้องยอมรับว่าเราต้องใช้เงินกับโฆษณาต่างประเทศมาก ทางสมาคมดิจิทัลอยากทำให้เงินที่จ่ายไปแล้วเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากที่สุด

ส่วนสมาพันธ์โลจิสติกส์ อันหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การสร้างหน่วยงานของรัฐโดยตรง เช่น ตั้งสำนักงานด้านโลจิสติกส์

ให้ประเทศ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิศาสตร์เหมาะสมในเรื่องโลจิสติกส์

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับภาครัฐมา การทำงานระหว่างกระทรวงกับการทำงานระหว่างสำนักงาน

อย่างหลังคล่องตัวมากกว่า เพราะสำนักงานสร้างคนเก่ง ๆ ได้มากกว่า สามารถจ้างคนเก่งในเงินเดือนที่สูงได้

เห็นได้จากตัวอย่างที่ผมเคยทำงานด้วย เช่น DEPA ETDA ฯลฯ ที่เหล่านี้มีคนเก่งเต็มไปหมด เห็นด้วยว่าหากภาครัฐอยากกระตุ้นอะไรและอยากได้คนเก่งเข้าไปทำงาน บางทีกลไกการตั้งสำนักงานก็เป็นวิธีที่ดี แต่หากตั้งมากเกินไปอาจซ้ำซ้อนได้เช่นกัน

ในแง่การทำงานทั้ง 3 กลุ่มที่เข้าไปมีการเชื่อมต่อกัน ในฝั่ง e-Commerce ต้องการทำให้คนไทยเก่งมากขึ้น พยายามสร้าง big data ของการทำ e-Commerce ของคนไทยเอง สร้างคนช่วยธุรกิจไทยขายของ

ในฝั่งดิจิทัลต้องการทำให้คนขายของเก่งเรื่องโฆษณา การทําแพลตฟอร์มสื่อของคนไทยขึ้นมาเอง ในฝั่งโลจิสติกส์มีความสอดคล้องกัน คือ เมื่อส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซมาแล้ว ทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมต่อกันได้

ในแง่โลจิสติกส์ คือ ต้องเป็นการช่วยผู้ประกอบการไทยไม่ใช่ผู้ประกอบการ

ต่างประเทศ หรือทำให้ไทยกลายเป็นฮับอย่างแท้จริง ในการประชุมมีการพูดถึงสิงคโปร์ มาเลเซียว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนั้นได้ มีข้อกฎหมายบางอย่างที่เรา

ต้องคุยกันต่อว่าจะเดินอย่างไร

แม้จะยังไม่มีการพูดถึงขั้นการสร้างจุดเชื่อม แต่ได้มีการมอบหมายให้หัวหน้าแต่ละภาคส่วนเข้ามาดูแล อย่างผมเองจะมีสภาพัฒน์ มีสำนักงบประมาณที่เกี่ยวข้องเข้ามาดู จากนี้ไปสมาคมต้องทำงานล่วงหน้าไปและต้องเข้าไปคุยต่อ

เราต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ต้องยอมรับว่าบางหน่วยงานยังไม่เข้าใจการทำงานดีพอ บางคนคิดว่าทำ MOU คือ งานจบแล้ว ได้ภาพแล้วจบ แต่สิ่งที่ต้องสนใจมากกว่าคือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น

เอกชนส่วนใหญ่จะมองผลลัพธ์ แต่กับหน่วยงานของรัฐบางที่จะมองภาพลักษณ์ก่อน ภาพออกไปปุ๊บ ได้ข่าวปุ๊บก็ถือว่าโอเคแล้ว

การบูรณาการภาครัฐต้องมองไปในระยะยาว หลังจากได้มีการพูดคุยกับท่านนายกฯได้พูดถึงเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่ามีบางอย่างที่ไม่ได้เป็นอย่างที่

ท่านคิดไว้ การทำงานภาครัฐบางอย่างยังมีขั้นตอน มีช่องว่าง ท่านอาสาว่าจะรีบจัดการให้โดยเร็ว

ผมได้คุยกันภายในสมาคมอีคอมเมิร์ซว่าหลังจากนี้จะมีการติดตามในสิ่งที่ได้ทำไป เราอยากเห็นอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง เรารอให้รัฐทำอย่างเดียวไม่ได้ ตอนนี้กลไกเอกชนสำคัญมากโดยเฉพาะกลไกเอกชนที่เป็นสมาคม ชมรม สมาพันธ์ต่าง ๆ

ผมว่ากลไกนี้จะช่วยทำให้เกิดการเดินไปข่างหน้าของเศรษฐกิจอย่างเร็วขึ้น เราเห็นว่าอะไรควรทำก็ลงมือทำเลย

เราต้องรวมตัวกันทำ ใช้สมาคม สมาพันธ์ ใช้หน่วยงาน องค์กรเอกชนที่มีความเป็นกลาง เพราะรัฐไม่สามารถช่วยเอกชนรายใดรายหนึ่งได้ แต่หากเป็นการรวมตัวของบรรดาธุรกิจต่าง ๆ ขึ้นมา ช่วยกันคิดแนวทาง คิดแผนการ โปรเจ็กต์ แล้วเดินเข้าไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากประสบการณ์ผมบอกได้เลยว่าเขายินดีช่วย

บางทีรัฐเองมองไม่เห็นปัญหา แต่เอกชนเห็นและรู้วิธีแก้ปัญหา แต่ต้องมีรัฐเข้ามาช่วย เพราะรัฐเปลี่ยนหรือผลักดันเรื่องกฎหมาย เรื่องของกรอบต่าง ๆ เรื่อง regulator อาจมีเรื่องเงินเข้ามาช่วยด้วยบางส่วน แต่หากมีการรวมตัวกันทำงานด้วยกัน ปัญหาหลายอย่างจะแก้ได้ไม่ยากครับ