“ทีโอที” ปักธงหารายได้ใหม่ สยายปีกธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ

อีกไม่กี่อึดใจถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะได้เห็นการควบรวมระหว่าง 2 องค์กรรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารของไทย “ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม” ควบรวมกิจการกัน พร้อมกับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT ซึ่งขีดเส้นตายไว้ในเดือน ม.ค. 2564

ซึ่งแม่ทัพของทั้งสององค์กรมั่นใจว่าจะตั้งบริษัทใหม่ได้แน่ โดยระหว่างนี้ทั้งคู่อยู่ระหว่างการจัดองค์กรภายในเพื่อเตรียมตัวสำหรับทิศทางและอนาคตใหม่ที่จะมุ่งไปด้วยกัน

สำหรับ “ทีโอที” แนวทางและนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่จะมุ่งไปข้างหน้านั้น “มรกต เธียรมนตรี” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ประกาศชัดเจนว่าจะต้องยึดความเชี่ยวชาญและจุดขายจุดแข็งที่มี คือการเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศ พร้อมไปกับการแสวงหาความร่วมมือใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ภายใต้นโยบาย “เปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า”

ล่าสุดประกาศความร่วมมือกับบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด พัฒนาธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ

ปักธงบุกธุรกิจดาวเทียม

นายมรกตกล่าวว่า ทีโอทีต้องรุกเข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) เพราะเชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็น game changer ของอุตสาหกรรม โดยหวังว่าจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้องค์กรในอนาคตได้ เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่เร็วและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ซึ่งดาวเทียมวงโคจรต่ำตอบโจทย์ได้

ทีโอทีจึงต้องเร่งพัฒนาและศึกษาธุรกิจนี้เริ่มจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมมือกับบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด เมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และโอกาสในการดำเนินธุรกิจ

โดยทีโอทีได้ตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร มีทีมผู้บริหารและพนักงานรวม 50 คนเข้าร่วมโครงการนี้ และมีเป้าหมายต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการให้บริการและเป็นศูนย์กลางเกตเวย์ภาคพื้นดินให้บริการ space IDC และ space digital platform ซึ่งในเบื้องต้นใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทปรับปรุงเกตเวย์ภาคพื้นดิน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรุกธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ

“หลัก ๆ กลุ่มมิว สเปซฯจะเป็นผู้ลงทุน แต่ในอนาคตเราจะจัดสรรงบฯวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างบริการและศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น รวมถึงการศึกษาเรื่องกิจการอวกาศเพิ่มเติมด้วย จุดแข็งของทีโอทีคือการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมครบทุกด้าน ทั้งท่อร้อยสายใต้ดิน, เสาสัญญาณ, ระบบสื่อสารโทรคมนาคม และสายไฟเบอร์ออปติก ถือเป็นโครงสร้างสำคัญที่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำต้องการ”

จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทีโอทีจะมุ่งไปสู่บริการ space IDC และ space digital platform ซึ่งในอนาคตจะมีศักยภาพสูงในหลายด้าน จากความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าภาคพื้นดินด้วยคุณสมบัติที่ได้เปรียบของดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่มีโอกาสมาแทนที่การใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านสาย ทำให้เกิดความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่นการสร้าง internet data center เป็นต้น

รอ “กสทช.” คลอดใบอนุญาต

นอกจากนี้ ทีโอทีและมิว สเปซฯมีแผนเตรียมการทดสอบการให้บริการ space IDC/platform และการสื่อสารระหว่างดาวเทียม intersatellite link โดยใช้เทคโนโลยี space laser รวมถึงการขยายจำนวนเกตเวย์เพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้งาน multi-orbit satellite และ LEO satellite ในจังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นผู้ให้บริการเกตเวย์กับโครงข่ายดาวเทียม LEO ในอนาคตด้วย

นายมรกตกล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมเปิดเสรีกิจการดาวเทียม ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปีหน้า โดย กสทช.จะสามารถออกใบอนุญาตธุรกิจดาวเทียมได้ และทีโอทีก็พร้อมจะเดินหน้าทันที

ด้าน “นายวรายุทธ เย็นบำรุง” กรรมการและประธานฝ่ายบริการ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัดกล่าวว่า บริการรับส่งสัญญาณดาวเทียมในระบบวงโคจรต่ำจะรองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้การสื่อสารกระจายได้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ ล่าสุดได้ส่งอุปกรณ์ขึ้นไปทดสอบกับ Blue Origin จรวดของบริษัทในเครืออเมซอนที่อเมริกา เมื่อ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นการทดสอบครั้งที่ 4 หลังจากนั้น จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และดำเนินการต่อไปก่อนเปิดให้ทดลองเฉพาะบางกลุ่มภายในไตรมาส 4 นี้ เพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียและความเป็นไปได้ รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขก่อนเปิดบริการเต็มรูปแบบในต้นปี 2564

“ในส่วนของงบประมาณการทดสอบโครงการนี้ร่วมกับทีโอที อาจจะไม่สามารถให้รายละเอียดได้ แต่ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทก็ได้ลงทุนแล้ว 180 ล้านบาท”

เจาะดีมานด์ตลาดโต 4 หมื่น ล.

“นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า โครงสร้างธุรกิจของทีโอทีปัจจุบันประกอบด้วยธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน และอินเทอร์เน็ตมือถือ ซึ่งอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้านของประชากรในปัจจุบันอยู่ที่ 50% ของ 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ จึงมีโอกาสเติบโตอีก 50% แบ่งย่อยได้อีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ความสามารถทางการเงินแต่อินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง ซึ่งเป็นโอกาสที่บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำจะกระจายเข้าไปได้ เพราะคู่แข่งน้อย คาดว่าตลาดมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท

อีกกลุ่มคือ กลุ่มที่มีความต้องการแต่ไม่มีความสามารถทางการเงิน ซึ่งทีโอทีมีโอกาสสร้างการเติบโตจากการลงทุนของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ซึ่งที่ผ่านมาทีโอทีเข้าไปทำโครงการเน็ตประชารัฐอยู่แล้ว

ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตมือถือ โดยทีโอทีจะนำบริการดาวเทียมวงโคจรต่ำเข้าไปให้บริการได้หลายส่วน โดยเฉพาะกับโอเปอเรเตอร์มือถือค่ายต่าง ๆ และคาดว่ามีมูลค่าตลาดกว่า 10,000 ล้านบาท จากมูลค่ารวม 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี หากทีโอทีเจาะเข้าไปได้ทั้งสองส่วนก็จะสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีรายได้ใหม่และโอกาสจากการออกไปให้บริการในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา ที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ต่ำกว่าประเทศไทย

ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจสื่อสารปี’64

นายพิสุทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2564 ธุรกิจโทรคมนาคมรวมถึงทีโอทียังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยง และผลกระทบต่อแผนธุรกิจ ทั้งเรื่องการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ การควบรวมทีโอทีกับแคท เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรวงการดาวเทียมใหม่ เนื่องจากเดือน ก.ย. 2564 บริษัท ไทยคมจำกัด (มหาชน) จะหมดสัมปทานไทยคม 4 และไทยคม 6 ลง ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศที่ทีโอทีกำลังศึกษาด้วย

“ที่ผ่านมาทีโอทีเคยเช่าช่องสัญญาณไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์-วัน เป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ในการให้บริการบรอดแบนด์ทั่วประเทศ ต้องเห็นจุดอ่อน จุดแข็งของการให้บริการนี้มาแล้; ซึ่งการให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ จะทำให้ทีโอทีมีต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับไอพีสตาร์-วัน เป็นโอกาสนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดและสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ”