ฝันดันไทยสู่โลจิสติกส์ฮับ ขนส่ง Last Mile วังวนสงครามราคา

ปัจจุบันธุรกิจโลจิสติกส์มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ติด 1 ใน 3 ธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่โลกหลังโควิด-19 ไทยจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์การค้า ดึงจุดแข็งสร้างรายได้เข้าประเทศ และธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยมูลค่าตลาดที่ใหญ่ และข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์กับเป้าหมายผลักดันไทยเป็น “โลจิสติกส์ฮับอาเซียน” ถ้าทำได้จะมีรายได้ก้อนใหม่เข้ามาเติมรายได้จากท่องเที่ยวที่หายไป

ธุรกิจโลจิสติกส์ทะลุล้านล้าน

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ธุรกิจโลจิสติกส์มีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการกว่า 20,000 รายทั่วประเทศ เป็นธุรกิจบริการที่สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับ 3 รองจากธุรกิจท่องเที่ยวและค้าปลีกค้าส่งธุรกิจโลจิกติกส์แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่ การขนส่งทางน้ำ ทางอากาศ ทางบกคลังสินค้า และการขนส่งสินค้าจากร้านค้าถึงผู้บริโภคโดยตรง หรือ last mile

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจขนส่งในประเทศในกลุ่ม last mile โตก้าวกระโดด เป็นธุรกิจดาวรุ่งที่หนุนให้โลจิสติกส์ในภาพรวมปีนี้ขยายตัว เพราะผู้บริโภคหันมานิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก”

การขนส่งในส่วนอื่น เช่นขนส่งทางน้ำโตไม่มาก ขณะที่การขนส่งทางอากาศต้องหยุดลงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาซึ่งในภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ปีนี้อาจต้องพิจารณาช่วงไตรมาส 4 อีกครั้ง เพราะขนส่งทางอากาศเริ่มกลับมา

“โลจิกติกส์แข่งกันที่ต้นทุน ใครบริหารจัดการต้นทุนได้ต่ำก็อยู่ได้ เช่น จีนที่กระจายสินค้าไปทั่วโลกได้ เพราะส่งออกมาก ทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำ เมื่อเทียบกับไทยที่มีปริมาณส่งออกน้อย ทำให้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุน”

นายสุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศจีนโตขึ้น และขยายไปในหลายประเทศ ถ้ามองอีกมุมเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย เพราะเมื่อส่งออกสินค้าจำนวนมากไม่ได้เหมือนจีนก็หันมาส่งออกด้าน “บริการ” แทนได้ ด้วยการดึงให้นักลงทุนเข้ามาใช้บริการโลจิกติกส์ ทั้งการขนส่ง และตั้งคลังสินค้า โดยใช้โอกาสนี้สร้างไทยเป็นฐานโลจิสติกส์กระจายสินค้าไปประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงประเทศอื่นในอาเซียนถ้าทำได้หรือโตแค่ 10% จากตลาดรวมปัจจุบันจะมีรายได้เพิ่มปีละแสนล้านบาท

4 แนวทางปั้น “โลจิสติกส์ฮับ”

อย่างไรก็ตาม แรงสนับสนุนสำคัญที่จะผลักดันให้ไทย เป็น “โลจิสติกส์ฮับ” อาเซียนได้สำเร็จ คือการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ทางสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย และผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าพบรัฐบาล เพื่อนำเสนอแนวทางแล้ว มีแนวคิดหลักอยู่ที่การลดขั้นตอนการทำงาน ลดต้นทุนการดำเนินงาน และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ 1.การสร้างตลาดใหม่ให้สินค้าส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และผลิตภัณฑ์ฮาลาล โฟกัส 2 ตลาดหลัก คือ ดูไบ และจีน

แนวทางที่ 2.พัฒนาแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย ทั้งเปลี่ยนผ่านกระบวนการโลจิสติกส์ไปสู่ “ดิจิทัลโลจิสติกส์” สร้าง single standard สำหรับการจัดการโลจิสติกส์ในประเทศสู่การเป็น “ดิจิทัลโลจิสติกส์ฮับ” ด้วยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลหน่วยงานรัฐ อำนวยความสะดวกในการขยายตลาดให้โลจิสติกส์ไทย เดินหน้าสู่ “ดิจิทัลโลจิสติกส์ฮับอาเซียน” เร็วขึ้น แนวทางที่ 3.ตั้งศูนย์โลจิสติกส์เพื่อพัฒนาอีคอมเมิร์ซสำหรับชุมชน

“รัฐบาลควรสนับสนุน กลุ่มเอสเอ็มอีเช่น พัฒนาคุณภาพสินค้า ลดกระบวนการเอกสาร ให้ส่งออกได้เร็ว และสุดท้าย คือ ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้สอดรับกับการเป็นโลจิสติกส์ฮับของอาเซียน ทั้งลดขั้นตอนเอกสาร อำนวยความสะดวกเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างประเทศ”

Last Mile แข่งดัมพ์ราคา

ในฟาก last mile delivery หรือการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ในประเทศมีการแข่งขันตัดราคาค่าส่งโดยผู้เล่นไม่ต่ำกว่า 13 ราย เช่น เคอรี่, เจแอนด์ที, เบสท์, แฟลชเอ็กซ์เพรส, ลาลามูฟ, เอสซีจี เอ็กซ์เพรส เป็นต้น

นายไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นจ์ จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ SCG Express กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขนส่ง last mile แข่งกันมากจากการเข้ามาของรายใหม่ โดยสิ่งแรกที่ทุกรายทำคือ สร้างการรับรู้ด้วยการแข่งลดราคาค่าส่ง เนื่องจากช่วงแรกใช้เงินลงทุนสูงสร้างเครือข่าย ถ้าได้ปริมาณการส่งมากจะช่วยบาลานซ์ต้นทุนได้

ขณะที่บริษัทพยายามไม่ลงไปแข่งราคา แต่เน้นสร้างความต่างด้วยบริการ เช่น จัดส่งแบบแช่เย็นหรือแช่แข็งเป็นนวัตกรรมจากญี่ปุ่น ขนส่งสินค้า cool TA-Q-BIN สำหรับพัสดุที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ เช่น ของสด อาหารทะเล เป็นต้น

“last mile delivery ตกอยู่ในเกมเผาเงินชิงฐานลูกค้า ถ้ามองในแง่จำนวนผู้เล่นที่มีอยู่ในขณะนี้ ถือว่าล้นตลาดแล้วแต่ในอนาคตอาจมีรายใหม่มาอีก มองว่าต้องเป็นรายใหญ่จริง ๆ เพราะใช้เงินลงทุนสูง ไม่อย่างนั้นจะอยู่ยาก”

เอสซีจีฯแตกไลน์ส่งยารักษาโรค

บริษัทได้พัฒนาบริการใหม่ ๆ เช่นระบบขนส่งยาให้ผู้ป่วย โดยร่วมกับเชนโรงพยาบาลใหญ่ เริ่มทดลองในพื้นที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแล้ว และเตรียมนำผลที่ได้มาปรับปรุงระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งยาให้แม่นยำขึ้น

“การขยายตัวของ 5G ทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ตลอด แต่ยังต้องทานยาต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง อาจพบแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีนได้ เพื่อจ่ายยาต่อ และแพทย์ส่งยาไปให้ที่บ้านผ่านระบบที่เรากำลังพัฒนา ซึ่งต้องทำให้แม่นยำให้ผู้ป่วยได้รับยาที่ถูกต้องเสมือนไปโรงพยาบาล”

และจะขยายระบบขนส่ง last mile delivery ไปยังประเทศซีแอลเอ็มวี รองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอนาคต

“แฟลชฯ” ระดมเงินสู้ต่อ

อีกความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา คือ การระดมทุนรอบใหม่ของ “แฟลชเอ็กซ์เพรส”รองรับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ โดยนายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด เปิดเผยว่า การเติบโตของบริษัทใน 2 ปีที่ผ่านมา และจากสถานการณ์โควิด-19 ผลักดันให้อีคอมเมิร์ซเติบโตชัดเจนส่งผลให้ธุรกิจขนส่งเนื้อหอม ล่าสุดได้รับเงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาทในรอบระดมทุน series D จากผู้ลงทุนหลายธุรกิจ เช่น โลจิสติกส์ และพลังงาน เป็นต้น

“ธุรกิจนี้แข่งขันกันแรง มีการจัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง โฟกัสที่ราคาถูก และบริการที่ดีซึ่งในไตรมาส 4 บริษัทจะขยายธุรกิจไปยังประเทศ AEC ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มขนส่งแบบใหม่ที่เชื่อม AEC และไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน จะเป็นแพลตฟอร์มต้นแบบสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบขนส่งของไทยได้”