‘หัวเว่ย’ ย้ำลงทุน 5G ฟื้นเศรษฐกิจ ดันไทย ‘ดิจิทัลฮับ’ อาเซียน

Huawei หัวเว่ย
REUTERS/Aly Song/File Photo

นับเป็นหนึ่งผู้เล่นหลักในแวดวงโทรคมนาคมและไอซีทีทั้งในระดับโลกและในบ้านเรา โดย “หัวเว่ย” เข้ามาปักหลักลงทุนในไทยเกินกว่า 20 ปี ปัจจุบันไทยยังถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นตลาดเดียวที่มีครบทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ทั้ง carrier, enterprise, consumers และ cloud & AI

เฉพาะศูนย์บัญชาการที่ตึก “จี ทาวเวอร์” รัชดาฯ มีพนักงานกว่าพันคน (80% เป็นคนไทย) ซึ่งปลายเดือนที่แล้วยังเพิ่งไปร่วมงาน Job Expo Thailand 2020 รับสมัครงานทั้งฟูลไทม์และพาร์ตไทม์เพิ่มเติม ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 และการเมืองไทย

“อาเบล เติ้ง” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า บริษัทยังมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลงทุนในไทย เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านด้าน “ดิจิทัล” อย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา (โอเพ่นแล็บ) ที่กรุงเทพฯ, การเปิดศูนย์ทดสอบทดลองเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่อีอีซี และล่าสุดร่วมกับดีป้า เปิดศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) พัฒนาเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค

โดยมองว่าอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตโควิด-19 ได้พร้อมกันด้วย ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากในหลายประเทศที่จีดีพีของประเทศเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนด้านไอซีที

“ทุก 1 ดอลลาร์ที่ลงทุนด้านไอซีทีจะเกิด 20 ดอลลาร์ในเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่มีคนแค่ 2% ในอุตสาหกรรมไอซีที แต่มีส่วนในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของโลกได้ถึง 15% ฉะนั้นจึงชัดเจนว่าการลงทุนด้านไอซีทีมีความสำคัญมาก และจะเป็นกลไกสำคัญในการทำให้เกิดการฟื้นฟูของเศรษฐกิจได้”

แม่ทัพหัวเว่ยกล่าวว่า การส่งเสริมผลักดันไทยแลนด์ 4.0 และสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ถือได้ว่าเดินมาถูกทางแล้ว ไม่ว่าจะโดยกระทรวงดีอีเอส, กสทช. หรือคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ เป็นต้น โดยในแต่ละปีประเทศไทยมีการลงทุนด้านไอซีทีเพิ่ม 30% ต่อปี และคาดว่าปีหน้าจะมากกว่า 30% เนื่องจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มเห็นประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น 5G, คลาวด์คอมพิวเตอร์, เอไอ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่จะมากขึ้น

แม้แต่ในช่วงโควิด-19 ก็ไม่ได้หยุดลงทุน แต่กลับยิ่งมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะ 5G ดังจะเห็นตัวอย่างในหลายยูสเคส ซึ่งหัวเว่ยเองก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วม เช่น ที่ร่วมกับ กสทช.และโรงพยาบาลศิริราช ในโครงการนําร่องรถอัจฉริยะไร้คนขับ ยกระดับการแพทย์ไทยสู่ยุค 5G เป็นต้น

“การใช้งานโมบายบรอดแบนด์ในไทยเติบโตก้าวกระโดดมาก จากที่เคยมีสัดส่วนต่อประชากรเพียง 10% เพิ่มเป็น120% ภายใน 10 ปี ส่งผลให้ดัชนีการแข่งขันด้านโมบายบรอดแบนด์ไทยขึ้นสู่อันดับ 10 ของโลก และอันดับ 39 ในภาพรวม ซึ่งต้องยอมรับว่า กสทช.มีบทบาทมากผ่านการจัดสรรคลื่นด้วยการเปิดประมูล ตั้งแต่ 3G, 4G และ 5G”


และว่าปัจจุบันในเชิงภูมิศาสตร์ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว หากต้องการเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล หรือดิจิทัลฮับ ควรดำเนินการเพิ่มเติมใน 3 ด้าน 1.มีนโยบายด้านการคลังและภาษี 2.มีนโยบายส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาคส่วนต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G และ 3.ส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากร เช่น มีโครงการบ่มเพาะ และจัดการแข่งขันระดับชาติ เป็นต้น ซึ่งหัวเว่ยพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอีโคซิสเต็มส์ที่สมบูรณ์