“บิ๊กเทค” ในวันที่ความ “บิ๊ก” อาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป

คอลัมน์ Tech Time
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

จากที่เคยได้รับการชื่นชมในฐานะเป็นผู้เข้ามา disrupt อุตสาหกรรมเพื่อทำให้ชีวิตของผู้บริโภคง่ายขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้ภาพพระเอกของบริษัท “บิ๊กเทค” กำลังถูกแทนที่ด้วยภาพของเอกชนตัวร้ายที่ร่ำรวยจากการเอาเปรียบคู่แข่งและบิดเบือนกลไกตลาด

รายงานการสอบสวนของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐที่มีความยาว 449 หน้าชี้ว่า บริษัท “บิ๊กเทค” อย่าง Apple Amazon Facebook และ Google มีอำนาจเหนือตลาดในลักษณะผูกขาดก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเช่น Amazon ถูกกล่าวหาว่านำข้อมูลของคู่ค้ามาสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง

Apple โดนเรื่องการผูกขาด app store Facebook โดนทั้งเรื่องการซื้อกิจการคู่แข่งเพื่อขยายอาณาจักรไปจนถึงการปล่อยให้มีการเผยแพร่ hate speech บนแพลตฟอร์ม ในขณะที่ Google ถูกกล่าวหาเรื่องผูกขาดการซื้อขายโฆษณาออนไลน์

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภาครัฐและนักการเมืองมอง “บิ๊กเทค”ด้วยความหวาดระแวงน่าจะมาจากความ “บิ๊ก” ที่นับวันจะทวีความ “บิ๊ก” แบบไม่มีวันสิ้นสุดของบริษัทเหล่านี้นั่นเอง

ดูง่าย ๆ เมื่อ 5 ปีก่อน Apple Amazon Google Microsoft และ Facebook มีมูลค่ารวมกัน 2 ล้านล้านเหรียญ วันนี้บริษัททั้ง 5 มีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 7 ล้านล้านเหรียญ

เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในเวลาแค่ 5 ปี กลายเป็นกลุ่มบริษัทอภิมหามั่งคั่งและทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

มูลค่าตลาดที่สูงลิ่วมีรากฐานมาจากการเติบโตของรายได้และความเชื่อมั่น

ของนักลงทุนว่าไม่มีพลังอำนาจใดจะสามารถสั่นคลอนความแข็งแกร่งของ

“บิ๊กเทค” ได้ ความมั่งคั่งระดับ 3 ล้านล้านเหรียญยิ่งทำให้บริษัทเหล่านี้ดู

“อมตะ” เข้าไปอีกจนหน่วยงานต่าง ๆ เริ่มหวั่นเกรงว่าหากปล่อยเนิ่นนานไปจะมีอิทธิพลของ “บิ๊กเทค” จะยิ่งแผ่ขยายจนทำลายระบบการแข่งขันลงได้

หลายคนอาจเถียงว่า การมีอำนาจผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในทุกอุตสาหกรรม แต่ “บิ๊กเทค” ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกลายเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งเดียวที่สามารถเข้าครอบงำอุตสาหกรรมอื่นได้อย่างที่ไม่มีอุตสาหกรรมไหนทำได้มาก่อน

เช่น Amazon ที่เริ่มต้นจากการเป็น e-Commerce เมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ทั้งในวงการเทคโนโลยี (บริษัทลูก Amazon web services ที่มียอดขาย 3.5 หมื่นล้านเหรียญในปีที่แล้วจนกลายเป็นเบอร์ 3 แห่งวงการซอฟต์แวร์ เป็นรองแค่ Microsoft กับ Oracle) วงการสื่อ (ซื้อ Washinton Post ยักษ์ใหญ่แห่งวงการสื่อในปี 2013) และวงการค้าปลีกทั้ง offline/online (ซื้อ Whole Foods ห้างค้าปลีกเบอร์ต้น ๆ ของประเทศในปี 2017)

ความได้เปรียบในแง่ของเงินทุนและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ศูนย์เก็บและกระจายสินค้า ระบบขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และกองทัพพนักงานและลูกจ้างขนาดใหญ่ ทำให้ Amazon ได้เปรียบคู่แข่งในเกือบทุกด้าน แต่ที่ทำให้บริษัทเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักในระยะหลัง คือ การทำธุรกิจแบบไม่ค่อย “แฟร์” เช่น มีการกล่าวหาจากคู่ค้าว่า Amazon รู้ว่า

สินค้าไหนขายดีจากการดูข้อมูลการซื้อขายบนแพลตฟอร์มก่อนจะก๊อบปี้สินค้าแบบเดียวกันออกมาขายแข่ง

ส่วน Google กับ Facebook ถูกมองว่ากำลังสร้างการผูกขาดแบบ “ดูโอ้”(duopoly) ในวงการโฆษณา ปีที่แล้วทั้ง 2 บริษัทมีรายได้รวมกันกว่า 2.3 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากปี 2009 โดยคาดว่าทั้ง 2 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในวงการโฆษณารวมกันกว่า 60%

อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ คือ สำนักข่าวทั้งหลายที่

รายได้จากการขายโฆษณาหดลงจาก 3.8 หมื่นล้านเหรียญในปี 2008 เหลือแค่ 1.4 หมื่นล้านเหรียญในปี 2018

นอกจากนี้ Facebook ยังโดนโจมตีเรื่องจุดยืนทางการเมืองและการรักษาข้อมูลของผู้ใช้งานตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปล่อยให้สายลับรัสเซียเข้ามาใช้แพลตฟอร์มของตัวเองในการช่วยให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง กรณีอื้อฉาวCambridge Analytica ที่ปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานกว่า 87 ล้านบัญชี ตลอดจนการที่ UN เปิดเผยการสอบสวนที่ระบุว่า Facebook มีบทบาทสำคัญในการสร้าง hate speech ที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮินจาในพม่า

ข้อกล่าวหาที่นับวันมีแต่จะมากขึ้น ทำให้ Facebook รวมทั้ง “บิ๊กเทค” ที่เหลือกลายเป็นเป้าให้หน่วยงานรัฐและนักการเมืองขุดคุ้ยมากขึ้นพร้อมกับภาพลักษณ์ที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ในสายตาผู้บริโภคทั้งเรื่องการไม่รักษาข้อมูลของผู้ใช้งาน และการใช้แท็กติกการแข่งขันแบบไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งรายย่อย

รายงานของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาที่ใช้เวลารวบรวมกว่า 16 เดือน อาจจะไม่สามารถเขย่าบริษัท “บิ๊กเทค”

ได้ในชั่วข้ามคืน แต่นักวิเคราะห์มองว่าถ้า โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย.นี้ ก็น่าจะทำให้ “บิ๊กเทค” ต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ ไปตาม ๆ กัน เพราะมันหมายความว่าพรรคเดโมแครต

ที่เฝ้าจับตาดูพฤติกรรมของบริษัทผู้ทรงอิทธิพลเหล่านี้จะผงาดเข้าคุมทั้งทำเนียบขาวและสภาคองเกรสในปีหน้า และขาใหญ่อย่างเอลิซาเบธ วอร์เรน กับ เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกของพรรค

เดโมแครตที่สนับสนุนให้มีการชำแหละบริษัท “บิ๊กเทค” ออกเป็นบริษัทเล็กบริษัทน้อยก็จะกลายเป็นฝั่งที่มีเสียงข้างมากในสภาทันที

การที่นักการเมืองและกลไกของภาครัฐรุกคืบขยับเข้าตรวจสอบ “บิ๊กเทค” อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพร้อมเปิดหน้าชนกับ “บิ๊กเทค” ในฤดูกาลเลือกตั้งเช่นนี้ อาจหมายถึงการลมที่เริ่มเปลี่ยนทิศและมีแนวโน้มว่าการเข้าควบคุมและตรวจสอบ

“บิ๊กเทค” จะทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต