“อีคอมเมิร์ซ” จาก 10.10 สู่ D2C อย่างแท้จริง

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

การเปลี่ยนแปลงของวงการ e-Commerce ช่วงที่ผ่านมาลองสังเกตดี ๆ คุณจะเห็นโฆษณาที่อยู่ใน Facebook ใน instagram หรือใน social media เริ่มเป็นโฆษณาของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ทุกคนเริ่มเข้ามาขายในออนไลน์

เมื่อก่อนแบรนด์ลักษณะนี้จะเน้นสร้างแบรนด์ให้คนรู้จัก รันโฆษณาให้คนเห็น พยายามให้คนรู้จักสินค้า และให้คนเดินไปซื้อสินค้า แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว โดยเฉพาะในอาทิตย์ช่วงวันที่ 10 เดือน 10 ตอนนี้แบรนด์ต่าง ๆ ใช้เม็ดเงินลงโฆษณาบนโลกออนไลน์

วันนี้เขาไม่ได้พูดเรื่องแบรนด์อีกต่อไปแล้ว แต่พูดเรื่องโปรโมชั่น เช่น ลด 50% ซื้อ 1 แถม 1 เต็มไปหมดเลย

คำถามคือ เมื่อเห็นโฆษณาลดขนาดนี้แล้วเขาไปไหนต่อ เมื่อก่อนเขาจะส่งให้คนไปซื้อ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ตอนนี้เมื่อกดปุ๊บจะส่งไปที่หน้าเว็บเพื่อซื้อได้เลย เข้า Lazada Shop, Shopee Shop

ลองสังเกตดี ๆ เห็นโฆษณาเหล่านี้แล้วลองกดเข้าไปดูต่อ มันจะพาคุณไปยังร้านค้าและสามารถกดสั่งซื้อได้เลย เทรนด์ D2C หรือ direct to consumer มาแล้วครับ นั่นคือการที่แบรนด์ต่าง ๆ

เริ่มมาขายตรงยังผู้บริโภค แบรนด์ที่เป็นพวก FMCG หรือสินค้าอุปโภคบริโภคจากที่ต้องพึ่งพาช่องทางตามซูเปอร์มาร์เก็ต โชห่วย หรือ modern trade ต่าง ๆ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว บอกได้

เลยว่าแบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาในออนไลน์ ใช้เม็ดเงินอัดโฆษณาดึงให้คนเข้าไปกดสั่งซื้อ เข้ามาหน้าร้านในมาร์เก็ตเพลซหรือหน้าเว็บของตัวเองแล้วจ่ายเงินได้เลย ตรงนี้เองที่กำลังจะเปลี่ยน

เท่าที่ผมสังเกตและเริ่มเก็บข้อมูลของหลาย ๆ แบรนด์ จะเริ่มเห็นแล้วในช่วง 10.10 มีความรุนแรงมาก เพราะช่วง 10.10 จะมีเม็ดเงินของทางมาร์เก็ตเพลซเองที่เอามาอัด แต่ละเจ้าจะมีแคมเปญ เช่น brand festival เป็นการกระตุก ปลุกทุกแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ให้เข้าไปขายในออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

เมื่อแบรนด์ต่าง ๆ มีตัวตน สามารถเก็บเงินลูกค้า และสามารถขายของออนไลน์ได้มากขึ้น เม็ดเงินที่เคยใช้ลงโฆษณาเพื่อสร้างแบรนด์ให้คนรู้จัก ก็ถูกบิด เปลี่ยนเป็นว่าไม่ต้องรู้จักแล้ว แต่ให้กดสั่งซื้อ ส่งถึงบ้านได้เลย

จากที่แบรนด์ต้องพึ่งพาช่องทางขายตามห้าง modern trade โชห่วยต่าง ๆ สินค้า 100 บาทจะโดนค่า GP หรือค่าคอมมิสชั่นประมาณ 30-35% แต่เมื่อมาขายตรงกับผู้บริโภค หรือขายผ่านมาร์เก็ตเพลซ คอมมิสชั่นโดนแค่ 2-10% เท่านั้น ทำให้ยังมีค่าที่เคยจ่ายคอมมิสชั่นเหลืออีก 20% เขาเอามาเป็นส่วนลดให้แก่ลูกค้าหรือนำมาเป็นแพ็กของแถม

ตรงนี้เป็นความน่ากังวลของร้านโชห่วย ห้างต่าง ๆ ที่กำลังจะโดนข้ามไป

ผมคุยกับหลายร้านค้าก็เริ่มเจอปัญหานี้เหมือนกัน บางร้านค้าเคยขายตรงผู้บริโภค และแบรนด์เคยขายผ่านตัวแทนหรือดีลเลอร์ต่าง ๆ เริ่มเกิดปัญหาว่าแบรนด์ขายแข่งกับดีลเลอร์ แบรนด์ขายแข่งกับร้านโชห่วยโดยตรง

และเมื่อตัวเองเป็นเจ้าของสินค้ามาขายตรงก็มี margin มีกำไรมากขึ้น

สามารถลดราคาลงไปได้เยอะ สามารถมีของแถมได้เยอะ ฉะนั้น ตอนนี้จึงเกิดเหตุการณ์ที่ไปปลุกกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มหนึ่ง จากเดิมซื้อของตามห้าง เมื่อมีการขายบนออนไลน์ มีโปรโมชั่น

ซื้อ 1 แถม 1 ซึ่งถูกกว่าเยอะมาก ซื้อปุ๊บแป๊บเดียวก็มาส่ง นี่คือ D2C มาแล้วและมาเร็ว

เมื่อแบรนด์ต่าง ๆ คิดว่าใช่จึงมีการปรับตัว สิ่งที่ตามมาคือ เอเยนซี่มีการปรับตัวเองมากขึ้น จากที่เคยสร้างแบรนด์ ทำให้คนรู้จัก ทำโฆษณาให้คนดูเยอะ ๆ เริ่มมีการสร้างหน่วยงานหนึ่งขึ้น

คือ หน่วยงานด้านอีคอมเมิร์ซ เพราะแบรนด์ไม่ได้ต้องการแค่สร้างแบรนด์แต่อยากขายของเลย อยากได้เม็ดเงินเลย

ประโยชน์จึงตกอยู่ที่ 1.ผู้บริโภค สามารถซื้อสินค้าแบบเดิมในราคาที่ถูกลง ขั้นตอนเดิมกว่าสินค้าจากโรงงานจะมาถึงมือผู้บริโภค มันผ่านตัวกลางหลายตัวกลาง margin หรือคอมมิสชั่นต้องจ่ายให้เบี้ยบ้ายรายทาง กว่าถึงมือผู้บริโภคถูกกินไปหลายทอด แต่ตอนนี้มันถูกตัดออกไปแล้ว ฉะนั้น ผู้บริโภคจะได้เปรียบคือสามารถซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง ได้ของแถมเพิ่มมากขึ้น

2.คือบรรดามาร์เก็ตเพลซต่าง ๆ เพราะแบรนด์ต่างมองว่าจะไปขายที่ไหนดี ง่ายที่สุดกระโดดเข้ามาในมาร์เก็ตเพลซที่มีทุกอย่างพร้อมแล้วทั้งแพลตฟอร์ม คนซื้อ ฯลฯ มีทุกอย่าง และ 3.ที่ได้เปรียบเห็นได้ชัด คือ ต่างประเทศ บริษัทโฆษณาต่าง ๆ Google, Facebook รับไปเต็ม ๆ

ตอนนี้แบรนด์ต่าง ๆ แห่มาซื้อโฆษณาพวกนี้เพิ่มมากขึ้น หลังจากนี้ไปเราจะเริ่มเข้าสู่ยุค D2C หรือ direct to consumer อย่างแท้จริง โดยเฉพาะ 10.10 เป็นตัวกระตุ้น คือปรากฏการณ์ที่ปลุกทุกแบรนด์ต่าง ๆ ให้เข้ามาขายตรงกับผู้บริโภค