ธุรกิจรับ Next Normal บูม “IOT-ดาต้าเซ็นเตอร์” เพิ่มโอกาส

หลายคนคงคุ้นชินกับคำว่า “นิวนอร์มอล” (new normal) ที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจากเดิม ทั้งเรียน ทำงานผ่านออนไลน์ หรือสั่งอาหาร ซื้อของผ่านแอปพลิเคชั่นมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ก็ยังส่งผลต่อเนื่องในอนาคต จนกลายเป็นพฤติกรรมหลังโควิด-19 (next normal) ทำให้ธุรกิจต้องปรับแนวทางการรับมือใหม่ ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี เติมนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมหลังโควิดในทุก ๆ มิติ

“สมาร์ทลิฟวิ่ง-IOT” บูม

เริ่มจากส่วนแรกที่ใกล้ตัวผู้บริโภคนั่นคือ บ้าน โดยจากนี้ไปเทคโนโลยีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับอินเทอร์เน็ต (internet of things) จะมีบทบาทต่อวิถีชีวิตมากขึ้น

“วชิระชัย คูนำวัฒนา” Head of Living Solution Business บริษัท เอสซีจีซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่าโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ดิจิทัลดิสรัปชั่นเร็วขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน คือ คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และตระหนักถึงการใช้พลังงานให้คุ้มค่า ทำให้จากนี้ไปสมาร์ทลิฟวิ่ง (smart living)หรือการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ทำให้ชีวิตสะดวกขึ้นเช่น นำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าและใช้อุปกรณ์ IOT ภายในบ้านมากขึ้น

“ชัยยุทธ ชินมหาวงศ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า บ้านในยุคเน็กซ์นอร์มอลต้องสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยผู้บริโภคเริ่มมองหาบ้านที่เป็นได้ทั้งที่พักผ่อนและทำงานในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังต้องการให้บริเวณบ้านปราศจากมลพิษทางอากาศ ทั้งฝุ่นพิษและเชื้อโรค ดังนั้น อุปกรณ์ IOT ต่าง ๆเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องฟอกอากาศที่ใช้เทคโนโลยี AirPlus ลดความชื้นและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบ้าน

ฟู้ดดีลิเวอรี่กับดาต้าเซ็นเตอร์

เช่นเดียวกับบริการผ่านออนไลน์ที่โตขึ้น โดยเฉพาะฟู้ดดีลิเวอรี่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 35,000 ล้านบาท ขณะที่ในมุมผู้ให้บริการก็ต้องดึงดาต้าเข้ามาใช้มากขึ้น”วชิรพงษ์ บูรพาชน” Head of Data Center จาก TrueIDC กล่าวว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ในเน็กซ์นอร์มอลจะถูกสร้างให้เร็วขึ้น เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างทันท่วงที มีการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยปรับอุณหภูมิของพื้นที่เก็บข้อมูลให้มีการใช้พลังงานน้อยลง และใช้ต้นทุนต่ำที่สุดอย่างธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เริ่มนำดาต้าเซ็นเตอร์และ AI เข้ามาช่วยบริหารจัดการ โดยการรวบรวมข้อมูลและพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

“ภัทราวุธ ซื่อสัตยาศิลป์” เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี LINEMAN Wongnai กล่าวว่า วงในได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นด้วยการนำ AI มาใช้ในฟีเจอร์ค้นหาร้านค้า คัดภาพร้านค้ารวบรวมรีวิวและสกัดเป็นคำที่บ่งบอกจุดเด่นของร้านนั้น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นชื่อเมนูเด่น บริการที่ดี ทั้งหมดต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก ทำให้วงในต้องใช้ดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลต่าง ๆ

“คนหันมาสั่งอาหารผ่านแอปมากขึ้น ธุรกิจร้านอาหารก็ต้องปรับตัว โดยใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ในการรวบรวมฐานข้อมูลนำระบบคลาวด์ และระบบ POS มาใช้และจัดโปรโมชั่นให้ตรงใจผู้บริโภคด้วย”

รถไฟฟ้าแทนที่รถน้ำมัน

อีกพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้น คือ การตระหนักถึงการใช้พลังงานที่คุ้มค่า ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น “กฤษฎา อุตตโมทย์” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ฉายภาพว่า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานมากขึ้น สะท้อนจากยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าครึ่งปีแรกนี้ พบว่ามีรถไฟฟ้าที่จดทะเบียนไปแล้วกว่า 3 พันคัน เพิ่มขึ้น

กว่าเท่าตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเหตุผลที่ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังไม่บูม เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจเรื่องอายุการใช้งาน ประกันที่มีราคาสูง และสถานีชาร์จที่มีเพียงพอกับผู้ใช้งาน

ขณะเดียวกัน การเติบโตรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ต้องเร่งขยายสถานีชาร์จ โดย “เลิศชาย แก้ววิเชียร” ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บอกว่า ปัจจุบันไทยมีรถยนต์ไฟฟ้า 1.6 แสนคัน มีหัวจ่ายไฟฟ้าประมาณ 1,800 หัวจ่ายทั่วประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างนำโรมมิ่งเซอร์วิสมาใช้กับหัวจ่าย ซึ่งจะชาร์จไฟฟ้าได้ทุกที่ที่ผ่านระบบเน็ตเวิร์ก

ด้าน “กิตติศักดิ์ เงินงอกงาม”ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน บริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดลต้าได้พัฒนาชาร์จเจอร์รุ่นใหม่ให้ทำงานร่วมกับโซลาร์เซลล์ได้ มีกำลังไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากเดิม 50 กิโลวัตต์ เป็น 100 และ 150 กิโลวัตต์ สามารถชาร์จได้สูงสุด4 คัน อีกทั้งยังสามารถชาร์จได้กับรถยนต์ทุกยี่ห้อและใช้ร่วมกับอุปกรณ์ IOT ได้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งจูงใจให้กลุ่มผู้บริโภคหันมาเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นทั้งหมดคือภาพความเคลื่อนไหวของหลายธุรกิจที่กำลังเติมนวัตกรรมนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาสินค้า บริการให้ตอบโจทย์ความต้องการที่ซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด