7 เช็คลิสต์ คิดก่อนซื้อสมาร์ทโฟน

ในจังหวะที่ส่งสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น HUAWEI nova 7 se และ HUAWEI nova 7 สมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ในระดับราคาหมื่นต้น ประกอบกับเข้าโค้งสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายมักเป็นช่วงที่มีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาดจำนวนมาก

“หัวเว่ย”จึงทำข้อมูลเกี่ยวกับสมาร์ทโฟนปี 2020 ก่อนเข้าสู่ 2021 เพื่อแนะนำผู้บริโภคว่าควรต้องเช็คลิสต์อะไรบ้างก่อนเลือกซื้อ สรุปออกมาได้เป็น 7 ข้อนี้ ดังนี้

1. ดีไซน์ต้องเตะตาไม่เหมือนใคร

หลายแบรนด์เริ่มคิดค้นสีใหม่ๆ หรือพื้นผิวด้านหลังของสมาร์ทโฟนที่มีเอกลักษณ์มากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ตามเทรนด์สี หรือแฟชั่นในขณะนั้น และ “สี” ที่มาแรงไม่พ้น ชมพู และม่วง สีที่โดดเด่นอย่างสีที่มีมิติเหลือบเงาสะท้อนแสง หรือบางคนที่ยังติดความเรียบง่ายก็ทำให้มือถือแทบทุกรุ่นมีสีที่เข้ากับทุกการแต่งกายให้เลือก

นอกจากนี้ นวัตกรรมสมัยนี้ยังเอื้อให้ดีไซน์ของมือถือมาในรูปแบบจอแบน จอมน และจอพับ ขึ้นอยู่กับความถนัดในการใช้งาน ขอบจอที่โค้งลงมารับการจับอย่างถนัดมือเป็นตัวเลือกที่ช่วยให้ผู้ใช้จับโทรศัพท์ได้แน่นขึ้นและดูหรูหรา พร้อมจอภาพที่ขยายเต็มหน้าจอดูไร้ขอบ หากใช้ตัวเครื่องสีเงินก็จะดูเนียนไปกับจอ เสมือนเสมาร์ทโฟนแห่งโลกอนาคต

2.กล้องหลังสวยปังลูกเล่นเยอะ

ภาพสวยน่าประทับใจของช่างภาพบนโซเชียลที่ใครเห็นแล้วต่างถามเป็นเสียงเดียวกันว่า “กล้องยี่ห้ออะไร” แม้ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอีกแล้ว แต่ความจริงที่ว่ามือถือเครื่องเดียวเนรมิตภาพทิวทัศน์ที่สวยจนลืมหายใจได้ก็ยังทำให้ตื่นเต้นได้อยู่ดี

“กล้อง”จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนตัดสินใจเลือกสมาร์ทโฟน กล้องหลักเลนส์เดียวทุกวันนี้หากไม่เก่งจริงคงตอบโจทย์ได้ไม่เต็มที่ ยุคนี้ต้องมี 3-5 เลนส์ เพื่อจะได้ถ่ายแบบคมชัดได้ 1 เลนส์ มุมกว้าง 1 เลนส์ เลนส์เทเลโฟโต้ 1 เลนส์ และบางคนอาจต้องการถ่ายภาพแบบมาโคร เลนส์มุมแคบพิเศษอีก 1 เลนส์
อีกฟังก์ชั่นน่าสนใจเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กล้องหลัง คือการถ่ายภาพโหมดกลางคืน โดยการนำเทคโนโลยีจากกล้องดี เอสแอลอาร์มาใช้เพิ่มความสามารถในการรับแสงของเลนส์ ทำให้ Grain และ Noise ลดลง ภาพไม่หยาบ เห็นรายละเอียดในความมืดมากขึ้น ส่วนที่สว่างไม่จ้าเกินไป ยิ่งมี “เอไอ”ที่ทำให้ภาพมีความนิ่ง และระบุวัตถุได้ด้วยก็ยิ่งดี

3.กล้องหน้าต้องถ่ายแล้วดูดีสีไม่โป๊ะ

กล้องหลังล้ำแล้ว กล้องหน้าก็ต้องตามทัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีคนช่วยถ่ายภาพทุกครั้งที่อยากลงโซเชียล สิ่งที่ใครๆ กำลังมองหา คือกล้องหน้าที่ถ่ายแล้วสวยโดยไม่ต้องเข้าแอปแต่งรูป และถ่ายในที่มืดได้คมชัดพอๆ กับการใช้กล้องหลังจึงควรเลือกสมาร์ทโฟนที่มี “เอไอ”ช่วยถ่ายเซลฟี่ โดยทำหน้าชัดหลังเบลอได้อย่างสมูท มีบิวตี้โหมดปรับให้ผิวหน้าดูกระจ่าง และเรียบเนียน

ถ้าสายชิลอยากให้ถ่ายภาพเซลฟี่ตอนกลางคืนบนร้านอาหาร หรือรูฟท็อปบาร์ได้สวยด้วยกล้องหน้าก็ควรมีเทคโนโลยีลด Noise และ AI HDR+ ลดแสงจ้าด้านหลัง หากลดเงาสะท้อนบนกระจกหน้าต่างได้ด้วยก็จะทำให้เห็นวิวยามค่ำคืนผ่านกล้องหน้าได้ชัดเจน

4.วิดีโอต้องโปรระดับวล็อกเกอร์

ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่กล้องดิจิทัลที่ถ่ายวิดีโอออกมาได้คุณภาพดี แต่สมาร์ทโฟนก็เพิ่มความสามารถให้กล้องสำหรับโหมดวิดีโอมากขึ้นเช่นกัน ทำให้คนรักการบันทึกเรื่องราวเป็นวิดีโอแชร์ลงช่องทางต่างๆ ไม่ต้องซื้อกล้องเพิ่ม

กล้องหลังที่มีเทคโนโลยีลด Noise ทำให้การอัดวิดีโอ คมชัดทั้งเวลาแสงมาก และแสงน้อยทั้งการถ่ายกล้องหน้าและหลัง ถ้าสมาร์ทโฟนมีข้อได้เปรียบเรื่องกล้องหน้าและหลังทำให้เพิ่มลูกเล่นโหมดถ่ายวิดีโอแบบ dual view ขึ้นมาได้โดยไม่ต้องตัดต่อด้วยโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ และถ้ากล้องหน้าถ่ายเซลฟี่วิดีโอแบบใส่บิวตี้โหมด และควบคุมการสั่นสะเทือนได้ การถ่าย และตัดต่อวล็อกด้วยตัวเองก็จะยิ่งง่ายขึ้น

5.ขุมพลังต้องจัดเต็มจัดหนัก

หลังพิจารณาจากสิ่งที่สมาร์ทโฟนทำได้แล้ว บางคนอาจมองข้ามสิ่งที่ทำงานเบื้องหลัง นั่นคือ “ชิปเซ็ต” ประกอบด้วยยูนิตต่างๆ ที่ทำให้เครื่องแรง ประหยัดพลังงาน ภาพลื่น รวมถึงช่วยเติมเต็มฟีเจอร์อัจฉริยะที่ใช้บนกล้องต่างๆ หาก CPU เป็น octa-core จะโพรเซสได้เร็ว ส่วน GPU ควรเลือกที่ทำให้เล่นเกมหนักๆ ได้ สิ่งที่ช่วยเรื่อง “เอไอ” กล้องคือ NPU

ดังนั้นขณะที่เลือกอย่าลืมตรวจสอบสิ่งเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะได้สิ่งที่มองหาในคุณภาพที่ตรงใจที่สุด โดยตั้งแต่ปีนี้ ชิปเซ็ต 5G เป็นหนึ่งปัจจัยที่หลายคนกำลังมองหา

6.การจัดการแอปต้องฉลาด

ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นทุกปี ในมือถือรุ่นใหม่ๆ มาพร้อมฟังก์ชันการใช้แอปที่สะดวกขึ้น นักเล่นเกมอาจชอบฟังก์ชันที่ทำให้ตอบแชทได้โดยไม่ต้องออกจากเกม หรือไม่ก็เล่นโซเชียลมีเดียระหว่างรอเกมโหลดข้อมูลเสร็จได้อีก หากตั้งค่าให้จอไม่ลดแสงลงจากการเอามือบังเซ็นเซอร์แสงก็จะเป็นสมาร์ทโฟนในฝันของเกมเมอร์ได้เลย

7.ฟีเจอร์การสื่อสารต้องล้ำหน้า

การสื่อสารไม่ได้หยุดอยู่แค่การโทรเข้าออก และการแชท ทั้งการคุยส่วนตัว และการประชุมทำให้คนใช้วิดีโอคอลกันมากขึ้น แม้ไม่มีแล็ปท็อป โดยสมาร์ทโฟนบางรุ่นมีฟีเจอร์ที่ติดตั้งมาในเครื่องพร้อมให้วิดีโอคอลจากที่ใดก็ได้ และแชร์ไฟล์งานให้คู่สนทนาเห็นได้โดยไม่ต้องโหลดแอปประชุมอีกด้วย