เปิดแนวรุกเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐผนึกเอกชนต่อยอดพัฒนา “คน”

การขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นนโยบายสำคัญในการสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจของรัฐบาล และยิ่งอาจต้องเร่งให้เร็วขึ้นเพราะวิกฤตโควิด-19 เพิ่มสปีดให้ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” โดยรวมอยู่แล้วจึงน่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยภาครัฐควรเป็นแม่งานหลักในการเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม พร้อมไปกับการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดบริการ และเร่งพัฒนาบุคลากร เสริมทักษะด้านดิจิทัลให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บมจ.มติชนจัดเสวนาภายใต้หัวข้อ “รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” เชิญตัวแทนภาครัฐและเอกชนจากหลากหลายธุรกิจมาแบ่งปันความรู้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไปพร้อม ๆ กัน

ดัน ศก.ดิจิทัลเพิ่มจีดีพีประเทศ

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า สดช.มีเป้าหมายใหญ่ในการผลักดันให้เทคโนโลยีดิจิทัลมีสัดส่วน 11% ของจีดีพีประเทศ แม้จะเป็นการประเมินก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19แต่เชื่อว่าหลังโควิดก็ยังเดินต่อได้ สัดส่วนอาจลดลงมา หรืออยู่ที่ 9-10%ของจีดีพีประเทศ โดยจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การค้า และการท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแรง

และที่ผ่านมา สดช.ได้ลงไปพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ตั้งแต่ระดับรากหญ้าผ่านการสร้างศูนย์ดิจิทัลชุมชนในแต่ละจังหวัดรวม 10 ศูนย์ เพื่อเสริมองค์ความรู้ด้านการขายสินค้าออนไลน์ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ การมีสายสัญญาณไฟเบอร์ในโครงการ “เน็ตประชารัฐ” รวมถึงการใช้คลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งมีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ควบคุมเรื่องความปลอดภัยในการเรียกดูข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กร และการจัดทำร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ที่มุ่งสนับสนุนให้เกิดดาวเทียมที่ใช้ในการวิจัยและสร้างศักยภาพด้านอวกาศในไทยให้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

“ไทยมีความพร้อมในการพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลโดยเมื่อต้นปีหลังประมูลคลื่น 5Gก็มีโจทย์ว่าจะนำ 5G ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร โดย สดช.ได้ร่วมกับโอเปอเรเตอร์ทั้งเอไอเอส และทรูมูฟ เอช รวมถึงมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในการนำอุปกรณ์ IOT และสัญญาณ 5G ไปใช้ในแปลงเกษตรเพื่อคำนวณทิศทางแสง ปริมาณน้ำ คาดว่าในอนาคตจะขยายความร่วมมือนี้ไปยังจังหวัดภาคใต้”

ปณท เร่งต่อยอดเพิ่มบริการ

ฟากฝั่งธุรกิจขนส่งพัสดุรายใหญ่อย่างไปรษณีย์ไทย นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การแข่งขันธุรกิจขนส่งพัสดุแรงขึ้นจากสงครามราคา ซึ่งตอนนี้มีบริษัทขนส่งไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท บริษัทจึงต้องปรับตัวปรับองค์กรก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลให้เร็วขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดสร้างบริการใหม่ ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาโครงการ “TDH(Total Document Handling)”

หรือระบบยืนยันการรับ-ส่งอีเมล์ โดย ปณท จะทำหน้าที่เป็นบุคคลที่ 3 ในการรับ-ส่งเอกสาร พัสดุเช่นเดิม ทั้งมีบริการ “ไฮบริดเมล์” คือ ถ้าผู้รับไม่อ่านอีเมล์ภายในเวลาที่กำหนดก็จะพรินต์เอกสารและใส่ซองไปส่งให้ถึงบ้าน พร้อมให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน มีทั้งการให้บริการฟรีและเก็บค่าบริการ

นอกจากนี้ ยังเตรียมนำข้อมูลที่บริษัทมีมาต่อยอดสร้างบริการอื่น ๆ เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น บริษัทลูกจะพัฒนาแพลตฟอร์ม “ระวางว่าง” บริการขนส่งสินค้าจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งสำหรับรถขนส่งไปรษณีย์และรถขนส่งของประชาชนทั่วไปที่ต้องตีรถเปล่ากลับไปยังจุดหมายเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ขณะนี้อยู่ระหว่างของบประมาณสนับสนุนจาก สดช.

แนะดึงเทคโนโลยีเสริมจุดแข็ง

ตัวแทนจากทางภาคเอกชนอย่างดับบลิวเอชเอ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร ก็เร่งให้ภาครัฐทรานส์ฟอร์มไปสู่รัฐบาลดิจิทัลให้เร็วขึ้น

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้ได้ผลต้องพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจโลกควบคู่ไปกับจุดเด่นของประเทศ เพื่อให้เห็นทิศทางของประเทศชัดเจน เพราะดิจิทัลเป็นเรื่องที่กว้างและเปลี่ยนตลอดเวลา ดังนั้น ต้องโฟกัสและนำเทคโนโลยีเข้าไปต่อยอดเพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจที่ไทยแข็งแกร่ง เช่น ถ้าไทยแข็งแรงสินค้าเกษตรก็น่าจะนำเทคโนโลยีมากระตุ้นการผลิตได้หรือไม่ เพื่อผลักดันให้สินค้าเกษตรเติบโต

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังถือเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ยักษ์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่างอาลีบาบามองเห็นศักยภาพและเตรียมเข้ามาลงทุน สะท้อนว่าภาคเอกชนพร้อมแล้วและไปกันลึก ไปไกลแล้ว ที่ผ่านมาดับบลิวเอชเอฯได้นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาในหลายส่วนของธุรกิจที่มี

ล่าสุุดอยู่ระหว่างทดลองนำโครงข่าย 5G ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และทำให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจและพร้อมเข้ามาร่วมทุนกับเรา

“การนำประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ ภาครัฐต้องเป็นผู้นำในการทรานส์ฟอร์มไปสู่รัฐบาลดิจิทัลก่อน ด้วยการพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนใช้ได้ทั่วถึง การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี และการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในโลกดิจิทัล”

พัฒนาคนดิจิทัล 10 ปี 10 ล้านคน

ปิดท้ายด้วยผู้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มาพร้อมภารกิจสำคัญในการพัฒนาและสร้างบุคคลด้านดิจิทัล เพื่อให้การเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแข็งแรงขึ้น

นางมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความท้าทายของการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล คือ การทำให้คนทั้งประเทศเข้าถึงเทคโนโลยีและใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทเองในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ทั้งมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้”มีธุรกิจเกมออนไลน์ การีนา และอีเพย์เมนต์AirPay ก็พยายามเชื่อมระหว่างผู้บริโภคในโลกออฟไลน์กับออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

โดยกลุ่ม sea ได้เดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์ “10 in 10 initiative” เพื่อสร้างคนให้มีทักษะด้านดิจิทัลที่มีเป้าหมายว่าภายใน 10 ปีจะสร้างคนดิจิทัลให้ได้ถึง 10 ล้านคนผ่านโครงการต่าง ๆเช่น ทักษะด้านการตลาดและการจัดการธุรกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การสร้างคลาสเรียนออนไลน์เพื่อสอนกลยุทธ์ทางการตลาดให้ผู้ค้าใหม่บนช้อปปี้ เป็นต้น รวมถึงจับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการช่วยเกษตรกรให้หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ขายสินค้ากว่า1,000 ราย อีกทั้งร่วมมือกับสถานศึกษากว่า 7 แห่งพัฒนาหลักสูตรด้านดิจิทัล และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงานกับบริษัทในเครือ

“เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นวาระการประชุมที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาอย่างต่อเนื่องขณะที่วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญจากการศึกษาพบว่าช่วงโควิดมีคนที่ไม่เคยสั่งสินค้าออนไลน์เข้ามาสั่งสินค้าผ่านช่องทางนี้ถึง 35% และหลังโควิดคนกลุ่มนี้ก็ยังซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ต่อเนื่องถึง 86% แต่ความแตกต่างของแต่ละประเทศในการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐ ซึ่งไทยถือเป็นอีกประเทศที่มีความพร้อมเรื่องนี้”