“โรบินฮู้ด” เปลี่ยนเกมฟู้ดดีลิเวอรี่ เมื่อ SCB ข้ามพรมแดนธุรกิจแบงก์

สร้างแรงกระเพื่อมให้ธุรกิจ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ไม่น้อย เมื่อปรากฏชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดดเข้ามาในสมรภูมินี้ผ่านบริษัทลูกของเอสซีบี เท็นเอ็กซ์ อีกทีกับ “โรบินฮู้ด” (Robinhood) แอปพลิเคชั่นฟู้ดดีลิเวอรี่ที่ตั้งใจแก้ทุก pain point ที่ร้านอาหารและคนส่ง (ไรเดอร์) ต้องประสบ ไม่ว่าจะเป็นการไม่เก็บค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์ม (GP) ไรเดอร์ก็ไม่ต้องซื้อ “เสื้อและกล่อง” ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายค่าอาหารไปก่อน เพราะระบบชำระเงินเป็น “ดิจิทัลเพย์เมนต์” ทั้งหมด ขณะที่ผู้บริโภคจะได้อาหารตามที่สั่งทั้งราคาและปริมาณเดียวกับที่รับประทานที่ร้าน

ถ้าทำได้จริงก็จะตอบโจทย์ครบ “วินวิน” ทุกฝ่าย

อีกสิ่งที่แตกต่างชัดเจนกับฟู้ดดีลิเวอรี่เจ้าใหญ่ทุนหนาทั้งแกร็บฟู้ด, แพนด้า, ไลน์แมน และโกเจ็กก็คือ “โรบินฮู้ด” ประกาศตัวเป็น “แอปเพื่อคนตัวเล็ก” และถือเป็นภารกิจ CSR ของธนาคารในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารโดยเฉพาะร้านเล็ก ๆ ในการปรับตัว “โกดิจิทัล”

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ในไทยปัจจุบันเป็นบริษัทต่างชาติกว่า 70% โดยมีการใช้งานฟู้ดดีลิเวอรี่สูงถึง 200,000 ครั้งต่อวัน แต่มากกว่า 50% เป็นการสั่งอาหารจากเชนเรสเตอรองต์รายใหญ่ จึงมีร้านเล็กกว่า 200,000 แห่งยังไม่ได้เข้าร่วมแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่

ทำให้มีแนวคิดและเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา ใช้เวลาเพียง 2 เดือนก่อนเปิดให้พนักงานทดลองระบบใน มิ.ย. พร้อมศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคไปพร้อมกัน

“ผู้บริโภคคุ้นเคยกับแอปฟู้ดดีลิเวอรี่เดิมที่มีอยู่ จึงถือเป็นโจทย์สำคัญให้ต้องพัฒนาโรบินฮู้ดให้ดีขึ้นไปอีก ต้องสะดวกและใช้ง่าย”

นอกจากจุดขายต่างไปจากรายอื่นด้วยการไม่เก็บค่าจีพีจากร้านค้า แล้วยังกำหนดด้วยว่าร้านต้องได้รับเงินภายใน 1 ชั่วโมง หลังอาหารส่งถึงมือลูกค้าเพื่อช่วยให้ร้านค้ามีสภาพคล่องหมุนเวียนในธุรกิจ

สำหรับส่วนลดกระตุ้นการขายก็มีตั้งแต่ส่วนลดจากร้านค้า 8% ทั้งปีทุกเมนู

โดยให้ร้านค้าเลือกเข้าร่วมเพื่อมอบส่วนลด 8% ให้ลูกค้าได้โดยตรง เป็นการเพิ่มโอกาสทางการขาย และสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว รวมถึงมีโปรโมชั่นเพิ่มโอกาสในการขายช่วงนอกเวลาขายดี (off-peak) เป็นต้น

ไม่ใช่เท่านั้น ยังจะมีพนักงานไทยพาณิชย์กว่า 500 สาขาในการให้คำปรึกษาสำหรับร้านค้าที่ไม่ชำนาญในการใช้แอปพลิเคชั่นและสร้างคอนเทนต์ ฝั่งลูกค้าหรือผู้บริโภคก็จะมีทั้ง AI ช่วยแนะนำร้านอาหารให้ตรงความชอบของลูกค้า

“ธนา” บอกด้วยว่า เอสซีบีจะสนับสนุนเงินลงทุนให้กับบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ปีละ 150 ล้านบาท ในช่วงทดลอง 3 ปีแรก

“เมื่อเรามองเป็น CSR เคพีไอของโรบินฮู้ดจึงไม่ใช่รายได้ แต่เป็นการทำหน้าที่สะพานเชื่อมระหว่างร้านเล็กร้านน้อยกว่า16,000 ร้าน กับลูกค้าของร้านให้เจอกันเพื่อช่วยให้ร้านอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผ่านแพลตฟอร์มส่งอาหาร ทำให้ลูกค้ามีความสุขจากการได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพและปริมาณเท่ากับนั่งทานในร้าน ช่วยสร้างงานที่มีผลตอบแทนที่เป็นธรรมอีกนับหมื่นให้ผู้ส่งอาหาร เราจึงไม่ได้เกิดมาเพื่อเล่นสงครามราคา แต่เกิดมาเพื่อช่วยเหลือคนตัวเล็ก”

ส่วนแผนธุรกิจในระยะยาวจะพยายามสร้างให้ “โรบินฮู้ด” ติดตลาดเร็วที่สุด พร้อมขยายพื้นที่บริการไปยังหัวเมืองใหญ่ ๆ (ปัจจุบันกรุงเทพฯ-ปริมณฑล) ส่วนสเต็ปถัดไปคือเพิ่มบริการปล่อยสินเชื่อให้กับร้านค้าและไรเดอร์

“ธนา” ย้ำว่า โรบินฮู้ดไม่ใช่แค่แอปส่งอาหาร แต่จะเป็น food deliverylover community ที่ไม่ได้มีแค่แอปพลิเคชั่นเท่านั้น แต่ยังมีเว็บไซต์ที่จะนำเสนอเรื่องราวร้านอาหารที่เข้าร่วมผ่าน

“เรสเตอรองต์สตอรี่”เพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับประทานอาหารแม้จะไม่ลงแข่งในสงครามฟู้ดดีลิเวอรี่ แต่ก็ตั้งเป้าไว้ว่าภายในสิ้นปีจะมียอดธุรกรรมในแอปพลิเคชั่นเติบโตถึง 20,000 ครั้งต่อวัน มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า30,000 ร้านค้า และมีไรเดอร์ในระบบถึง 15,000 คน ก่อนเปิดบริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564