ไทยคม…แจงทุกข้อสงสัย ไทยคม 5

ไทยคม

ไทยคม แจงข้อสงสัยไทยคม 5 ย้ำดำเนินการโปร่งใสตามข้อกำหนดสัมปทาน ชี้รัฐสามารถใช้ประโยชน์จากดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก

กลายเป็นประเด็นร้อนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ส่งหนังสือถึง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้ดำเนินการสร้างและส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 และ หากไม่ส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ให้จะต้องจ่ายชดเชยเป็นเงินกว่า 7,790 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2563 และค่าปรับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะส่งมอบดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 หรือชำระเงินค่าเสียหาย

ความเคลื่อนไหวล่าสุด นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ดำเนินการจัดส่งดาวเทียมขึ้น ให้บริการครบถ้วนตามเงื่อนไขสัมปทาน จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ตามข้อเรียกร้องของกระทรวงดีอีเอส

โดยปัจจุบัน ยังมีดาวเทียมอีก 2 ดวง คือ ไทยคม 4 และไทยคม 6 ที่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้กับกระทรวงดีอีเอสแล้ว ซึ่งดาวเทียมทั้ง 2 ดวงมีอายุวิศวกรรมเกินระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งกระทรวงดีอีเอสสามารถนำไปบริหารจัดการต่อไปได้

“เงื่อนไขสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐบาลกับไทยคมถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ 30 ปีก่อน ทำให้เกิดประเด็นต่าง ๆ ขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามขอให้ รัฐฯพิจารณาถึงเจตนาหลักที่ไทยคมได้ทำ และสร้างผลประโยชน์ให้แก่ภาครัฐมาตลอด ซึ่งตามหลักแล้วเราก็สร้างดาวเทียมครบแล้ว”

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกันการดำเนินการตามสัญญาจนถึงปัจจุบัน บริษัทได้ทำการจัดสร้างและโอนกรรมสิทธิ์ดาวเทียมให้รัฐไปแล้ว 6 ดาว ซึ่งมากกว่าที่กำหนดในแผน

ส่วนกรณีดาวเทียมไทยคม 5 ที่ขัดข้อง และต้องปลดระวางไปนั่น ทางกระทรวงฯ ก็รู้ถึง อายุการใช้งาน ที่ออกแบบไว้ ซึ่งบริษัทก็ได้ขออนุมัติจัดส่งว่า ดาวเทียมไทยคม 5 จะครบอายุการใช้งานเกินกว่าอายุที่กำหนด ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องปลดระวางในวันที่ 26 ก.พ. 2563 โดยบริษัทได้มีการหารือกับกระทรวงดีอีเอสและกสทช.ล่วงหน้า พร้อมแจ้งแผนการปลดระวางให้ทุกฝ่ายทราบแล้ว ก่อนขออนุมัติดำเนินการ

ADVERTISMENT

อีกทั้งที่ผ่านมา บริษัทก็ได้ดำเนินการนำส่วนแบ่งรายได้จากลูกค้า นำส่งกระทรวงดีอีเอสเป็นค่าชดเชย รวมถึงเจรจากับบริษัทประกันภัย เพื่อนำเงินสินไหมทดแทนส่งมอบต่อกระทรวงฯ ทั้งนี้บริษัทยังคงมีดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องตลอดอายุสัมปทาน และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง รัฐสามารถนำดาวเทียมทั้ง 2 ดวงไปบริหารจัดการต่อได้

นายอนันต์ ย้ำว่าที่ผ่านมาไทยคมไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ถ้าไม่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ ซึ่งครั้งนี้เราก็ดำเนินการตามเงื่อนไขถูกต้อง และบริษัทไม่เห็นว่า ทางรัฐจะเสียผลประโยชน์อะไร เนื่องจากบริษัทได้นำดาวเทียมขึ้นให้บริการและโอนกรรมสิทธิ์ให้กับกระทรวงดีอีเอสครบถ้วนตั้งแต่จัดส่งดาวเทียม และยังชำระส่วนแบ่งรายได้ของดาวเทียมทั้ง 6 ดวง รวมกันจนถึงปัจจุบันคิดเป็นมูลค่ากว่า 13,792 ล้านบาท ซึ่งถ้าเราสร้างดาวเทียมไม่ดี ผิดสเปก รัฐก็ต้องปฎิเสธการรับส่วนแบ่งรายได้ตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยคมอยู่ระหว่างปรึกษาที่ปรึกษาทางกฎหมาย ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ คาดว่ากว่าจะถึงขั้นตอนการตั้งอนุญาโตตุลาการก็ต้องใช้ระยะเวลาอีก 1 ปี เช่นเดียวกับกรณีข้อพิพาทไทยคม 7 และไทยคม 8 ในปี 2560 ที่เพิ่งแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วเสร็จในปีนี้

ย้อนรอยข้อพิพาทไทยคม 7 และไทยคม 8

ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมว่า หากย้อนกลับไปกรณีข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 นั้น เกิดจากการประกาศใช้ พ.ร.บ องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2553 โดยระบุว่า กิจการโทรคมนาคม และกิจการดาวเทียมสื่อสารมอบหมายให้ทาง กสทช. ออกใบอนุญาตประกอบการให้แก่ บมจ.ไทยคมและให้ก่อสร้างดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ขึ้น เพื่อให้บริการ

ทั้งนี้การออกใบอนุญาตจาก กสทช. เป็นการอนุญาตให้ บมจ.ไทยคม สามารประกอบกิจการโทรคมนาคมในราชอาณาจักรไทย ไม่ใช่อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ หรือใช้วงโคจร ซึ่งการใช้สิทธิในการเข้าถึงตำแหน่งวงโครจร ถือเป็นทรัพยากรของรัฐ เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาสัมปทาน ซึ่ง ไทยคม จะต้องปฎิบัติตามเงื่อนไขสัญญาของสัมปทานเพื่อให้รัฐได้สิทธิผลประโยชน์

ทำให้ กระทรวงดีอีเอสฯ ได้เรียกร้องให้ ไทยคม และบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ปฎิบัติตามข้อสัญญา ดังนั้นวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ทาง ไทยคม จึงได้ยื่นเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อพิจารณาข้อขี้ขาดพิทาท ที่เกิดขึ้นระหว่าง กระทรวงดีอีเอส และ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)  ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท

โดยทางกระทรวงดีอีเอส แจ้งว่า ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาณดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ขณะที่ไทยคมมีความเห็นต่างว่า การดำเนินการดาวทียมทั้ง 2 ดาว เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบของการรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยที่บริษัทไทยคมฯ ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ และไมได้กระทำการที่ขัดต่อสัญญา ซึ่งปัจจุบันคดีก็ยังไม่สิ้นสุด