“โซเชียลมีเดีย” ลุยขายของ ส่องเทรนด์ “ไลฟ์สด-เซเลบมาร์เก็ตติ้ง”

ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตก้าวกระโดดโดยปีนี้สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยคาดว่าจะโต 35% หรือมีมูลค่าแตะ 2 แสนล้านบาท ซึ่งการเติบโตหลัก ๆ มาจากอีมาร์เก็ตเพลซ 3 รายใหญ่ คือ ลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดีเซ็นทรัล

ขณะที่เทรนด์ “ไลฟ์คอมเมิร์ซ” หรือการไลฟ์สดขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถสื่อสารกับผู้ขายได้โดยตรง รวมถึงกระแสอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้ง หรือการดึงเซเลบริตี้ บุคคลที่มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ มาช่วยขายสินค้า ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน

ผุดสารพัดฟีเจอร์ใหม่

เริ่มด้วย “ไลน์” ปลุกกระแสโซเชียลคอมเมิร์ซ โดยดึง “ป้าตือ สมบัษร ถิระสาโรช” มาทำรายการ LINE SHOPPING Tues Live ทอล์กโชว์และไลฟ์สดขายสินค้าทั้งแฟชั่น เครื่องสำอางและอาหาร เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดการซื้อของบน LINE SHOPPING ฝั่ง “อินสตาแกรม” ลุกขึ้นมาเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่“Instagram Shopping” เพิ่มแท็กบอกรายละเอียดสินค้า และแท็กโฆษณา ให้สินค้า เข้าถึงและปิดการขายได้ง่ายขึ้น

“ชวดี วงศ์พยัด” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการซื้อออนไลน์เปลี่ยนไป โดยผู้บริโภคทั่วโลกหันมาซื้อของผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 85% ของประชากร โดยอินสตาแกรมมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านบัญชีต่อเดือน และ 90% กดติดตามบัญชีธุรกิจอย่างน้อย 1 บัญชี

“มีธุรกิจที่เปิดร้านในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอตส์แอป กว่า 200 ล้านราย เป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มช่องทางขาย ล่าสุดจึงเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่Instagram Shopping เพื่อช่วยธุรกิจตั้งแต่ระดับเอสเอ็มอีจนถึงแบรนด์ใหญ่ ให้เชื่อมต่อกับผู้บริโภคง่ายขึ้น ทั้งนำเสนอผ่านภาพนิ่ง วิดีโอ ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจตัวตนของแบรนด์มากขึ้น”

ในส่วนแพลตฟอร์ม อีมาร์เก็ตเพลซ “ลาซาด้า” ก็ไม่พลาดเทรนด์นี้ โดย “ภารดี สินธวณรงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า โซเชียลคอมเมิร์ซ เป็นเครื่องมือสำคัญกระตุ้นให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโต เพราะสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรง โดยลาซาด้า ก็มีฟีเจอร์ไลฟ์ขายของให้แบรนด์และร้านค้าซึ่งสามารถสร้างสีสันและช่วยปิดการขายให้แบรนด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นกันกับ “ช้อปปี้” ที่ก็มีฟีเจอร์ไลฟ์ขายสินค้า และพยายามเติมเครื่องมือใหม่ ๆ สร้างสีสัน และกระตุ้นยอดขายให้ผู้ค้าด้วย

นักช็อปเอเชียดูรีวิวก่อนซื้อ

นอกจากกระแสไลฟ์คอมเมิร์ซแล้ว รูปแบบการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ หรือการดึงเหล่าคนดังมาแนะนำสินค้าก็เป็นอีกเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคเอเชีย รวมถึงคนไทย

“สุวิตา จรัญวงศ์” ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง Tellscore ผู้ให้บริการธุรกิจ influencer marketing กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกโตขึ้น รวมถึงไทย โดยสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยคาดว่า ปีนี้จะโตขึ้น 35% จากปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ของคนเอเชียต่างจากฝั่งตะวันตก โดยคนเอเชียตัดสินใจซื้อจากการอ่านรีวิวของ เซเลบริตี้ หรือเหล่าคนที่มีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ ทำให้เทรนด์อินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งได้รับความนิยม โดยเฉพาะตลาดจีน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นยอดขาย และเชื่อว่าจะได้รับความนิยมในตลาดออนไลน์ไทยเพิ่มขึ้นด้วย

สะท้อนจากข้อมูลสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลผ่านอินฟลูเอนเซอร์ปีนี้โต 30% จากปีก่อนที่โตเพียง 12-13% เท่านั้น (เฉพาะผลิตคอนเทนต์ โฆษณา ไม่นับรวมอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำอีคอมเมิร์ซ) ถือว่าเติบโตมากกว่าการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้นในปีก่อนด้วยซ้ำ

อินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้ง

จากโอกาสที่เกิดขึ้น Tellscore ได้เปิดบริการใหม่ “Tellscore Shop” โดยต่อยอดจากจุดแข็งที่มีคือ การสร้างคอนเทนต์รีวิว จากอินฟลูเอนเซอร์ในเครือข่าย 45,000 คน แบ่งเป็น 12 หมวด เช่น ท่องเที่ยว สินค้าไอที เป็นต้น เพื่อช่วยผู้ประกอบการขายของ โดยอินฟลูเอนเซอร์แต่ละรายจะนำลิงก์ (URLs) ของผู้ประกอบการที่ Tellscore สร้างขึ้นไปโพสต์บนโซเชียลมีเดียของตนเอง และทำหน้าที่แนะนำสินค้า เมื่อผู้บริโภคกดไปที่ลิงก์นั้นก็จะสั่งสินค้าและจ่ายเงินได้ทันทีเป็นการเพิ่มโอกาสทางการขาย

อย่างไรก็ตาม “Tellscore Shop” ไม่ใช่แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซ แต่เป็นลิงก์ที่สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกและมีอินฟลูเอนเซอร์ที่ Tellscore เลือกให้เป็นผู้แนะนำสินค้า “โมเดลนี้น่าจะช่วยให้แบรนด์ขายสินค้าได้ง่ายขึ้น เพราะสอดรับพฤติกรรมการซื้อคนไทยที่อ่านรีวิวก่อนซื้อ”

ในช่วงแรก Tellscore Shop เปิดให้บริการใน 2 กลุ่มลูกค้าก่อน คือ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และแฟชั่นไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมจากนักช็อปไทยเป็นอันดับต้น ๆ และจะขยายไปยังกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ต่อไป
เทรนด์ใหม่ ๆ บริการใหม่ ๆ ที่ออกมาต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การช่วงชิงพื้นที่ขายให้ลูกค้ามากที่สุด จึงเป็นอีกแรงส่งสำคัญในการปลุกตลาดอีคอมเมิร์ซให้ยิ่งเติบโต