“ลาซาด้า” ลุยลงทุนคลังสินค้า เพิ่มสปีดธุรกิจรับดีมานด์อีคอมเมิร์ซโต

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยโตต่อเนื่อง ทำให้ยักษ์อีคอมเมิร์ซสยายปีกลงทุนไม่หยุด หนึ่งในนั้นคือ “ลาซาด้า” ในเครืออาลีบาบา โดยประกาศว่าจะลงทุนระบบโลจิสติกส์ครบวงจรพร้อมโชว์คลังสินค้าออนไลน์บนพื้นที่ 2.4 หมื่นตร.ม.ให้ดู หลังประสบความสำเร็จจาก 11.11 ล่าสุดทุบสถิติยอดขายใหม่ 1,000 ล้านบาทใน 2 ชม. ส่งสินค้าชิ้นแรกถึงมือลูกค้า 08.01 น.

อีคอมเมิร์ซไทยโตแรง

นายแจ็ค จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า การสร้างระบบโลจิสติกส์ถือเป็นกลยุทธ์หลักของแผนระยะยาวในการสร้างความสำเร็จให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัท โดยจะมีการลงทุนคลังสินค้า และการสร้างระบบครบวงจร รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อผลักดันให้อีโคซิสเต็มทั้งระบบของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโต

โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น และเริ่มคุ้นชินกับการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เช่นกันกับมีจำนวนผู้ขายเพิ่มขึ้น 90,000 ราย

นางสาวสนิฎา มานะกิจภิญโญ รองประธานอาวุโสฝ่ายคลังสินค้าและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าพัฒนาระบบบริหารจัดการคลังสินค้าต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์ให้ผู้บริโภค เช่น การบรรจุสินค้าที่ดีและส่งเร็วขึ้น ซึ่งในช่วงมหกรรมช็อปปิ้งใหญ่ 11.11 ที่ผ่านมา ลาซาด้าสามารถจัดการออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้นให้ส่งได้เร็วขึ้น โดยลูกค้าที่สั่งออร์เดอร์แรกในเวลา 24.00 น. จะได้รับสินค้าถึงบ้านในเวลา 08.01 น. เร็วกว่าปีก่อน จากการพัฒนาระบบคลังสินค้าออนไลน์ (fulfilment)

“การขนส่งสินค้าในไทย ไม่รวมอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีพื้นที่เป็นเกาะ ถือได้ว่ามีอัตราการขนส่งเร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเทศกาล 11.11 ที่ผ่านมา เราใช้เวลาจัดเตรียมสินค้าก่อนนำสินค้าออกจากคลังเฉลี่ย 2 ชม.ต่อออร์เดอร์ จากเดิมที่ใช้เวลาเฉลี่ย 4-5 ชม.ต่อออร์เดอร์ และคาดว่าเทศกาล 12.12 กระบวนการจัดเตรียมสินค้าก่อนออกจากคลังจะต้องเร็วมากขึ้น”

โชว์ศักยภาพคลังสินค้าออนไลน์

ทั้งนี้ ยอดออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้น 35% จากแคมเปญ 11.11 มีเบื้องหลังความสำเร็จมาจากศูนย์คัดแยกสินค้า “ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส” ที่สุขสวัสดิ์ และศูนย์บริหารจัดการคลังสินค้าออนไลน์ (fulfilment) ที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์โลจิสติกส์ TPARK บางพลี 3 สมุทรปราการ มีพื้นที่ 24,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำหน้าที่หลักใน 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1.การนำเข้าสินค้าจากแบรนด์ต่าง ๆ บน LazMall ถึง 700 แบรนด์ รวมสินค้ากว่า 50,000 รายการ 2.การจัดเก็บสินค้าตามหมวดหมู่ต่าง ๆ เช่น เครื่องประดับ สินค้าอุปโภคบริโภค แฟชั่น

ตามด้วย 3.การนำสินค้าออกจากคลังเมื่อได้รับคำสั่งซื้อ โดยมีเทคโนโลยีจากอาลีบาบาเข้ามาช่วย เช่น ระบบจัดการคลังสินค้า Dabao (Dabao warehouse management system) สำหรับควบคุมสินค้าคงคลัง ระบุตำแหน่งสินค้าเมื่อได้รับคำสั่งซื้อ เป็นต้น

สุดท้ายการคืนสินค้ากรณีที่ลูกค้าส่งคืน ซึ่งระบบที่นำมาใช้นี้ช่วยเสริมศักยภาพการจัดการคลังสินค้ากับแรงงานคนได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันมีพนักงาน 180 คน แบ่งเป็น 2 กะ ทำงานตั้งแต่เวลา 08.00-23.00 น.

นอกจากการบริหารจัดการสินค้าออนไลน์แล้ว ยังมีบริการอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ขายแต่ละราย เช่น บริการเช่าพื้นที่เก็บสินค้า บรรจุสินค้า รับและบรรจุสินค้า การคืนสินค้า การร้องเรียนสำหรับสินค้าที่เสียหาย เป็นต้น

“บริการเหล่านี้ช่วยให้แบรนด์และผู้ขายสามารถจัดเก็บสินค้าในคลัง และจัดส่งจากร้านค้าไปถึงลูกค้าที่อยู่ปลายทางได้เร็วขึ้น ด้วยพันธมิตรด้านขนส่งที่มี เช่น ซีเจ ลาซาด้าเอ็กซ์เพรส เคอรี่ฯ และ DHL เป็นต้น สอดรับกับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ รวมถึงการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในอนาคต”

เล็งขยายคลังใหญ่ที่อีอีซี

อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คือ การบริหารจัดการคลังสินค้า ถ้าตลาดโตเร็ว การบริหารจัดการก็ต้องเร็วขึ้น บริษัทจึงมีแผนขยายคลังสินค้าในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) โดยถือเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้นเมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซโตขึ้น ขนาดของคลังสินค้าก็ต้องโตขึ้นทุก ๆ ปี ซึ่งเราต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อม

“ลาซาด้ามีแผนเปิดคลังสินค้าออนไลน์แห่งใหม่บนพื้นที่อีอีซี คาดว่าจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ พื้นที่คลังสินค้าที่อีอีซีจะใหญ่กว่าศูนย์โลจิสติกส์ที่โครงการ TPARK บางพลี 3 หลายเท่าตัว เพื่อรองรับกับการขยายตัวธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะโตขึ้นในอนาคต”

นางสาวสนิฎาย้ำว่า การลงทุนคลังสินค้าบนพื้นที่อีอีซีเป็นการลงทุนระยะยาว รองรับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอนาคต