“กสทช.” เฟ้นแนวทางกำกับ ส่งเสริม “โลคอลคอนเทนต์”

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปชัดเจน ปัจจุบันคนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่หมดไปกับบริการวิดีโอออนดีมานด์ทั้งหลาย ทำให้บริการ OTT ทั้งที่ดูฟรีและจ่ายเงินโตต่อเนื่อง

ในเวลาเดียวกันได้สร้างผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

“พันเอกนที ศุกลรัตน์” รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวโดยอ้างอิงจากข้อมูลของ Ovum Research บริษัทจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลจากอังกฤษที่ ระบุว่า แนวโน้มผู้ใช้บริการ OTT ในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี และส่งผลต่อการเปลี่ยนในหลายมิติให้แก่อุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะธุรกิจฟรีทีวี และเคเบิลทีวี จากการเข้ามาของแพลตฟอร์มข้ามชาติ

เช่น เน็ตฟลิกซ์ และวิว เป็นต้น ซึ่งเข้ามาแย่งความสนใจผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณาไป อีกส่วนคือการเกิดขึ้นยูทูบเบอร์ ถือเป็นปัญหาสำคัญของหน่วยงานกำกับทั่วโลกที่ต้องหาแนวทางในการดูแลที่เหมาะสม

โดยผู้ใช้บริการ OTT ในปี 2561 มี 1.19 ล้านคน เพิ่มเป็น 1.33 ล้านคน ในปี 2562 และ 1.52 ล้านคน ในปี 2563 และคาดว่าปี 2564 จะเพิ่มเป็น 1.78 ล้านคน และ 1.99 ล้านคน ในปี 2565

“ตลาด OTT ทั่วโลกโตขึ้นทุกปีและเข้ามาแย่งรายได้จากสื่ออื่น ๆ ไป ดังนั้นสิ่งที่ กสทช.ต้องทำคือ เข้ามากำกับดูแลแพลตฟอร์มเหล่านี้ด้วยการออกพระราชบัญญัติเพื่อกำกับดูแล แต่อาจต้องใช้เวลา ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องพิจารณาว่าการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT ทำได้แค่ไหน และจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย”

“พันเอกนที” ระบุว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้เข้ามาสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น เพราะไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับใด ๆ ไม่ต้องเสียภาษี และมีต้นทุนทางการเงินต่ำ ทำให้การแข่งขันของแพลตฟอร์ม OTT ระดับโลกกับระดับท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน เนื่องจากการแข่งขันในธุรกิจนี้ต้องแข่งกันที่ปริมาณ คือถ้ามีคนดูมาก ต้นทุนการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ก็จะต่ำลงแม้การเข้ามารุกตลาดไทยของแพลตฟอร์มต่างชาติจะมีข้อจำกัดด้านภาษาเป็นกำแพงอยู่ แต่ในอนาคตต้องพิจารณาว่าแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาในไทย ต้องมีเงื่อนไขเกี่ยวกับสัดส่วนโลคอลคอนเทนต์เหมือนในประเทศแถบยุโรป

“เมื่อเราไม่มีกำลังพอที่จะสร้างห้าง แต่เป็นไปได้ไหมที่เราจะเปิดร้านในห้างและเป็นร้านที่มีชื่อเสียง มีคนอุดหนุนจำนวนมากเป็นร้านของเราเอง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือองค์กรกำกับดูแลต้องการปรับเปลี่ยน ต้องยืดหยุ่นมากขึ้น อะไรที่ต้องเข้าไปกำกับก็ต้องกำกับ อะไรที่ต้องส่งเสริมก็ควรทำ เพื่อสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรม โดย กสทช.เองจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับโลกใหม่ที่เกิดขึ้นด้วย”