“หัวเว่ย” ปูพรมสมาร์ทดีไวซ์ ฟื้นเชื่อมั่นแบรนด์-ปั๊มยอด

Huawei หัวเว่ย
REUTERS/Aly Song/File Photo

สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ตั้งแต่ปี 2561 ลากยาวถึงปัจจุบัน สร้างผลกระทบให้สมาร์ทโฟนแบรนด์จีน “หัวเว่ย” ในหลายมิติ ส่งผลถึงยอดขายและความเชื่อมั่นทั่วโลก รวมถึงตลาดประเทศไทยด้วย

ล่าสุดส่วนแบ่งตลาดตกมาอยู่ อันดับ 4 จากปีก่อนอันดับ 2 จึงเป็นภารกิจสำคัญในฐานะผู้บริหารใหม่ที่เข้ามารับช่วงต่อตั้งแต่ 13 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป

“เกวิน เฉิง” ผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) โดยเขากล่าวว่า ในช่วง 5-10 ปีจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศหลักที่หัวเว่ยจะเดินหน้าลงทุนต่อ ทั้งพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ภายใต้แนวคิด ชีวิตเอไอ ไร้รอยต่อ ที่มีระบบอีโคซิสเต็มครบถ้วน

“เกวิน เฉิง” ผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)
“เกวิน เฉิง” ผู้อำนวยการ บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)

โดยพัฒนา “HUAWEI Moblie Services” หรือศูนย์บริการและแอปพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนหัวเว่ย รวมถึงวิดเจตอัจฉริยะบนสมาร์ทโฟน และแท็บเลต เป็นตัวช่วยการค้นหาแอปพลิเคชั่น และคีย์เวิร์ดต่าง ๆ แบบเดียวกับเสิร์ชเอนจิ้นทั่วไป เข้ามาเสริมศักยภาพให้ การใช้งานของสมาร์ทโฟนและแท็บเลต ส่วนด้านฮาว์ดแวร์จะมีดีไวซ์ที่ออกแบบมาให้ใช้ได้ทุกสถานการณ์

“ตลาดสมาร์ทโฟนและดีไวซ์ต่าง ๆในไทยมีโอกาสขยายตัวอีกมาก โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค ทั้งยังคาดการณ์ด้วยว่า กลุ่มสินค้า IOT จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จากการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค”

ทิศทางในปี 2564 จะเดินหน้าขยายธุรกิจในไทย โดยเตรียมเปิดตัวสินค้าทั้งกลุ่มสมาร์ทโฟน สมาร์ทดีไวซ์ เช่น แล็ปทอป แท็บเลต สมาร์ทวอตช์ สมาร์ทออดิโอ เป็นต้น รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50 SKU จากที่ปีนี้มีสินค้าใหม่ 30-40 SKU ซึ่งในไตรมาส 4 ปีนี้ ก็มีการเปิดตัวมาต่อเนื่อง ทั้งหูฟังรุ่นท็อป, แว่นตาอัจฉริยะ, นาฬิกาสมาร์ทวอตช์รุ่นเรือธง

ล่าสุดเตรียมเปิดตัว HUAWEI Mate 40 Series 5G ในไทย หลังเปิดตัวในระดับโลกไปแล้วเมื่อปลาย ต.ค.ที่ผ่านมา

กลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจคือ มุ่งเน้นการพัฒนาอีโคซิสเต็มภายใต้กลยุทธ์ 1+8+n หรือการเชื่อมต่อสมาร์ทดีไวซ์ในอีโคซิสเต็ม โดย 1 หมายถึง สมาร์ทโฟน เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทุกอุปกรณ์ในอีโคซิสเต็มเข้าด้วยกัน ส่วน 8 คือ สมาร์ทดีไวซ์ต่าง ๆ เช่น แล็ปทอป แท็บเลต สมาร์ทวอตช์ เป็นต้น และ n คือ internet of thing ที่เชื่อมต่อทุกอย่างเข้าด้วยกัน

ความท้าทายในตลาดไทยมาอยู่ที่คนไทยมีแบรนด์ลอยัลตี้อยู่แล้ว ดังนั้น การทำให้รู้จักและยอมรับแบรนด์หัวเว่ยเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญ ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยคุณภาพบริการและนวัตกรรมที่มอบให้ทำให้คนไทยยอมรับแบรนด์หัวเว่ยมากขึ้น ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 4 จากปีก่อนอยู่อันดับ 2 ในตลาดสมาร์ทโฟน

“หัวเว่ยทำให้คนไทยรู้จักแบรนด์ผ่านการนำเสนอโปรดักต์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะสินค้าตระกูลแฟลกชิปโมเดล ที่มาพร้อมเทคโนโลยีเอไออัจฉริยะสำหรับกล้องถ่ายภาพ แบตเตอรี่อึด

รวมถึงมีฐานการผลิตและศูนย์บริการต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั่วโลก เช่น มีฐานผลิตที่อินเดีย ญี่ปุ่น และยุโรป และเชื่อว่าหัวเว่ยจะยังคงสร้างการเติบโตในตลาดไทยได้”

“เกวิน” ทิ้งท้ายถึงประเด็นปัญหาเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่เกิดขึ้น จนทำให้ต้องหยุดผลิตชิปเซตไปว่า หลังผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ คือ โจ ไบเดน ถือเป็นสัญญาณที่ดี และเชื่อมั่นว่าหัวเว่ยจะสามารถดำเนินธุรกิจและสร้างการเติบโตต่อไปได้ทั้งในตลาดไทยและทั่วโลก