สาวไทยขึ้นอันดับ 1 ในเอเชีย 72% ค้นข้อมูล รักสวยรักงาม บนทวิตเตอร์

สายไทย
PHOTO : FREEPIK

เจาะบิวตี้คอมมูนิตี้ สาวไทยรักสวยรักงามอันดับ 1 ในเอเชีย พบกว่า 72% ค้นข้อมูลบน “ทวิตเตอร์”

วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ทวิตเตอร์ ประเทศไทย รายงานผลสำรวจของ Euromonitor International บริษัทวิจัยการตลาด เรื่อง “เทรนด์ความงามและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวของชาวเอเชีย” โดยระบุว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดของโลกด้านความงาม และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล คิดเป็น 32% ของตลาดโลก

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดของภูมิภาคนี้ ที่เติบโตเร็วที่สุด โดย 77% ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทย มีความสนใจในเรื่องของการดูแลผิวพรรณและร่างกายของตัวเอง และ 1 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้มีความสนใจในเรื่องเครื่องสำอางเป็นอย่างมาก

รายงานดังกล่าวระบุว่า ผู้คนบนทวิตเตอร์ที่สนใจด้านความงามจะมีแพสชั่นในเรื่องนี้ และอยากเป็นคนแรกที่ค้นพบ ต้องการซื้อ และทดลองเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ความงามใหม่ ๆ โดย 72% เข้าทวิตเตอร์เพื่อค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ความงามใหม่ ๆ และกว่า 50% อยากเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้ซื้อและได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

กลุ่มผู้หญิงมีสัดส่วนถึง 62% ที่สนทนาและแสดงความเห็นเรื่องความงามบนทวิตเตอร์ประเทศไทย ในขณะที่การพูดคุยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลเริ่มขยายถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชายมากขึ้น สำหรับแบรนด์ที่ปรับตัวได้ทันกับยุคสมัยจึงมักเลือกใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้จากข้อมูลที่มีอยู่ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์

ผู้คนบนทวิตเตอร์ที่มีความสนใจเรื่องความงามเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความหลากหลาย และสนใจเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องของความงามด้วย เช่น เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ, ดนตรี, การดูแลสุขภาพ, อาหาร และเครื่องดื่ม และการทำอาหาร

จากความสนใจเหล่านี้เป็นโอกาสที่เปิดกว้างให้นักการตลาดทั้งหลายได้สร้างบทสนทนาที่หลากหลายในการเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายด้วย 74% ของผู้ที่สนใจเรื่องเครื่องสำอางจะหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อ โดยจะมีการตั้งคำถามบนทวิตเตอร์และมองหาคำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เพราะอยากเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ซื้อสินค้าและให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของคนอื่นๆ บนทวิตเตอร์เป็นอย่างมาก

ผู้ที่มีความสนใจเรื่องความงามจะมีการใช้แฮชแท็กต่างๆ ในการทวีตข้อความ แฮชแท็กความงามที่นิยมใช้ในประเทศไทย ได้แก่ #ไว้รีวิวห้ามขายของโว้ยยย, #HowToPerfect, #ใช้ดีบอกต่อ, #ของดีบอกต่อ, #ของมันต้องมี โดยแบรนด์ใช้คำค้นหาด้วยแฮชแท็กเหล่านี้จะทราบถึงเทรนด์ที่กำลังเป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมายในเชิงลึกได้

นอกจากนี้การใช้แฮชแท็กยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่แบรนด์สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาได้อีกด้วย

พลังของการบอกต่อนับเป็นเครื่องมืออันทรงพลังอย่างหนึ่ง คนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เรื่องของความสวยงามมักจะชอบทวีต, รีทวีตและโควททวีตเพื่อแสดงความคิดเห็น โดย 46% มักแสดงความคิดเห็นต่อผลิตภัณฑ์ที่เคยใช้ ขณะที่ 53% แฟนๆ ด้านความงามในประเทศไทยมักบอกต่อถึงผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ต่าง ๆ

รวมทั้งการรีวิวพร้อมติดแฮชแท็ก #ไว้รีวิวห้ามขายของโว้ยยย กับ #ใช้ดีบอกต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชื่นชอบความงามบนทวิตเตอร์มักจะใช้ในการรีวิวผลิตภัณฑ์

แม้ชื่อเสียงของแบรนด์จะมีความสำคัญ แต่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ก็ยังคงมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เสมอ แบรนด์ความงามสัญชาติไทยเริ่มพยายามลองทำอะไรใหม่ๆ มากขึ้น มีการติดอาวุธด้านความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องเทรนด์ความนิยมของผู้บริโภคในประเทศ และเริ่มมีการใช้งานทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค

เช่น แบรนด์ไทยอย่าง Skinsista เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “HYAx5 Ceramide booster” บนทวิตเตอร์ด้วยคลิปวิดีโอ เน้นจุดขายผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง สร้างการรับรู้ และสร้างบทสนทนา

อีกแบรนด์ก็เช่น OLAY Essence Water โดยมองไปถึงกลยุทธ์ที่มุ่งสร้างเอ็นเกจกับบิวตี้คอมมูนิตี้ของทวิตเตอร์ ด้วยการร่วมงานกับอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ใช่ บวกกับพลังของการสนทนาบนทวิตเตอร์ทำให้แบรนด์สร้างการรับรู้และการจดจำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลอดจนเชื่อมต่อกับลูกค้าใหม่ๆ ได้ด้วย

แบรนด์ต่างๆ ใช้กลยุทธ์แบ่งออกเป็น 3 เฟส คือ ช่วงสร้างกระแส (tease), ช่วงเปิดตัว (reveal), ช่วงเสริมความแข็งแกร่ง (reinforce) ภายใต้กลยุทธ์ “40:60” เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายทราบเกี่ยวกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยงบ 40% ใช้ในช่วงสร้างกระแส และช่วงเปิดตัว อีก 60% ใช้ช่วงสุดท้าย เป็นการเสริมความแข็งแกร่ง


เรียกว่า กลยุทธ์ “เล่นใหญ่ก่อนแล้วค่อยเสริมทัพ” มาจากการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้ทวิตเตอร์และยังเป็นการเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนที่คุ้มค่าให้แบรนด์ได้มากที่สุด