“อียู” เอาจริงไล่บี้บิ๊กเทคอเมริกัน

FILE PHOTO: The logos of Amazon, Apple, Facebook and Google in a combination photo from Reuters files./File Photo
คอลัมน์ Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

หลายปีที่ผ่านมา ยุโรปตั้งตนขึ้นเป็นโปลิสแห่งโลกดิจิทัลคอยคุมเข้มพฤติกรรมบรรดาบิ๊กเทคทั้งหลาย ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด หนีไม่พ้นอเมริกา บ้านเกิดของเหล่าบิ๊กเทคทั้ง Google Amazon Facebook Microsoft และ Apple

ทำให้หลายคนหวังว่าเมื่อเปลี่ยนตัวผู้นำสหรัฐจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็น “โจ ไบเดน” แล้วสถานการณ์อาจดีขึ้นแต่นักวิเคราะห์มองว่า เรื่องนี้ซับซ้อนเกินกว่าแค่การเปลี่ยนตัวประธานาธิบดี เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มประเทศยุโรปก็มีหน้าที่ต้อง “ปกป้อง” ผลประโยชน์ของตนเองเช่นกัน ทั้งยังต้องชูเรื่องความโปร่งใส เท่าเทียม และเป็นธรรมอันเป็นหลักการที่ยึดมั่นมาตลอดอีก ศึกนี้จึงน่าจะยืดเยื้อ

ประเด็นร้อนที่น่าจับตามีด้วยกัน 2 เรื่อง คือ การรุกคืบของยุโรปในการเรียกเก็บภาษี digital services tax (DST) กับบิ๊กเทคที่เข้ามาหารายได้จากดินแดนยุโรป และการคุมเข้มของอียูเพื่อต่อต้านการผูกขาดการแข่งขัน

digital services tax เป็นปัญหาค้างคาใจมานานระหว่างยุโรปกับอเมริกา โดยสหภาพยุโรป (EU) เคยเสนอให้มีการเก็บภาษี DST ในอัตรา 3% ของรายได้จากโฆษณาออนไลน์ ตลาดออนไลน์ และการนำข้อมูลผู้ใช้งานแพลตฟอร์มไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ซึ่งบิ๊กเทคที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีนี้ คือ บริษัทที่มีรายได้ต่อปีทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 750 ล้านยูโร และมีรายได้จากประเทศสมาชิก EU ไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ล้านยูโร แต่ข้อเสนอนี้ชะลอออกไปเมื่อต้นปีเพื่อหลีกทางให้เกิดการหารือระหว่างกลุ่มประเทศ OECD กว่า 130 ประเทศ ซึ่งมีอเมริการวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่วันก่อนฝรั่งเศสผู้สนับสนุนหลักในการบังคับใช้ DST ประกาศเดินหน้าเก็บภาษีดิจิทัลกับบิ๊กเทคอย่าง Google Facebook และ Amazon แล้ว เพราะการเจรจาของ OECD ไร้ความคืบหน้าหลังจากอเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์ถอนตัวจากการเจรจาเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

การเดินหน้าท้าชนของฝรั่งเศสครั้งนี้เกิดขึ้น แม้ทรัมป์จะเคยขู่ว่าหากกล้าเก็บภาษี DST กับบริษัทอเมริกัน สหรัฐจะตอบโต้อย่างสาสมด้วยการเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 100%

หลายประเทศในยุโรป เช่น เบลเยียม อังกฤษ ฮังการี ออสเตรีย และสเปน ต่างมีแนวโน้มที่จะนำมาตรการนี้มาปรับใช้ในประเทศของตนเช่นกัน ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นเผือกร้อนที่ “โจ ไบเดน” ต้องขบคิดหาทางออกให้ดี

เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ และรักษาผลประโยชน์ของเอกชนของอเมริกาด้วย และต้องไม่ลืมว่าพรรคเดโมแครตต่อต้านการเก็บ DST มาตลอด โดยอ้างว่าเป็นมาตรการที่ไล่บี้เอกชนสหรัฐอย่างไม่เป็นธรรม

อีกประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กันคือ การที่ EU กระชับวงล้อมตรวจสอบเหล่าบิ๊กเทคอย่างเข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องการใช้อำนาจเหนือตลาดกดดันคู่แข่งรายย่อย

โดยกลาง พ.ย.ที่ผ่านมา EU ประกาศข้อกล่าวหา Amazon ว่าบริษัทละเมิดกฎระเบียบว่าด้วยการแข่งขันของ EU แม้คดีนี้อาจยังต้องใช้เวลาอีกนานแต่ถ้าโดนตัดสินว่าผิดจริงจะต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 10% ของรายได้ทั่วโลก หรือราว 3.7 หมื่นล้านเหรียญ ตามตัวเลขคาดการณ์รายได้ล่าสุดของบริษัท

ที่ผ่านมา EU พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นแค่เสือกระดาษ โดยมี Google เป็นพยานในฐานะที่เป็นบิ๊กเทครายแรก ๆ ที่โดนสั่งปรับไปแล้วเป็นเงินกว่า 8.2 พันล้านยูโร โทษฐานละเมิดกฎระเบียบว่าด้วยการแข่งขัน

นักวิเคราะห์จาก Eurasia Group เอ็มเร่ เพ็คเกอร์ มองว่า การที่ EU ไม่มีบิ๊กเทคที่ใหญ่พอจะสู้กับอเมริกาหรือจีน ทำให้ต้องยึดบท “ผู้คุมกฎ” แห่งโลกดิจิทัล โดยอาศัยว่าเป็นฐานผู้ใช้งานกลุ่มใหญ่ของบรรดาบิ๊กเทคจึงควรมีสิทธิที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบในอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกด้วย

ซึ่งการเอาจริงเอาจังของ EU ในบทบาทนี้ไม่มีวี่แววว่าจะอ่อนลง จึงไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์นักสำหรับโจ ไบเดน และทีมงานเพราะนอกจากจะมีเรื่องการแบนบิ๊กเทคชั้นนำจากจีน อย่างหัวเว่ย และ TikTok แล้ว ยังมีเรื่องวุ่น ๆ จากฟากฝั่งยุโรปให้ปวดหัวอีก