กสทช. ผนึก เอกชน เร่งพัฒนา ‘Mobile ID’ คิวอาร์โค้ดแทนบัตร ปชช.

คิวอาร์โค้ด แทนบัตรประชาชน1

กสทช. จับมือกับ ทีโอที ดีแทค สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตลาดหลักทรัพย์ และเครดิตบูโร พัฒนาระบบ ‘แทนบัตร’ หรือ ‘Mobile ID’ คาดทดลองเปิดใช้ได้ไตรมาสแรกปี 64 เพื่อลดการรั่วไหลข้อมูล และลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนในการยืนยันตัวตน

วันที่ 7 ธันวาคม 2563 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. และรักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ผ่านมากสทช. ได้พัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่แทนบัตร หรือ ‘Mobie ID’ ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ทดลองให้บริการในระยะเริ่มต้นทั้งภาครัฐ และเอกชน

ได้แก่ กรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก สำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

ล่าสุดจับมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด สถาบันคุ้มครองเงินฝากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อทำการทดลองต่อเนื่องในระยะ Sandbox ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างพิจารณากำหนดมาตรฐานการบริการในระยะทดสอบ ร่วมกับ ETDA และธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มใช้ Mobile ID ภายในไตรมาสแรกปี 64

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคสนับสนุนรัฐบาลและกสทช. ในการพัฒนา “การยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล” ให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย

“ดีแทคได้ร่วมลงนามใน MOU ‘Mobile ID’ หรือ ‘แทนบัตร’ เพื่อเข้าร่วมในช่วงทดสอบเทคนิค และพัฒนาระบบเพื่อให้ ‘Mobile ID’ ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกค้าดีแทคลงทะเบียนซิมหรือทำธุรกรรมอื่น ๆ โดยไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน ลดการรั่วไหลของข้อมูล และลดงานที่ซ้ำซ้อนในการยืนยันตัวตน”

ส่วนนายณัฐวุฒิ ศาสตราวหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Mobile ID เป็นหนึ่งทางเลือกที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมควรร่วมกันพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการร่วมมือกับกสทช.ครั้งนี้ จะทำให้ทีโอทีพัฒนาบริการออนไลน์ให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การซื้อซิมการ์ด หรือการย้ายค่ายเบอร์เดิมโดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ

นางสาวกมลวรรณ ศีลาภิรัติ รองผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA กล่าวว่า Mobile ID จะช่วยให้ลูกค้าใช้บริการสะดวกขึ้น โดยเริ่มแรกจะให้บริการการแจ้งข้อมูลออนไลน์สำหรับลูกค้าก่อน ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะพัฒนาระบบให้ใช้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดอีกด้วย

ด้านนายถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์จะเดินหน้าพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับ Mobile ID ให้ผู้ประกอบการและลูกค้าสามารถทำธุรกรรม และลงทุนได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ โดยในระยะแรกจะเป็นการทดลองให้บริการสำหรับเปิดบัญชีลงทุน ก่อนที่จะขยายไปยังบริการอื่น ๆ

ขณะที่นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ในระยะแรกเครดิตบูโรจะให้บริการเฉพาะการขอตรวจสอบเครดิตสำหรับรายย่อย ก่อนที่จะขยายไปยังบริการอื่น ซึ่งจะเร่งพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับ Mobile ID ได้อย่างเสถียรที่สุด