ตีกรอบ “OTT-ประมูลคลื่น” งานเร่งประธานใหม่ กสทช.

เมื่อ 6 ต.ค. 2560 กสทช.ชุดปัจจุบัน ครบวาระ 6 ปีแล้ว แต่บทเฉพาะกาลตาม พ.ร.บ.ล่าสุด ให้บอร์ดที่เหลือทำหน้าที่ตามที่จำเป็นไปพลางก่อน จนกว่าชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร” ผู้ทำหน้าที่ประธาน กสทช.คนใหม่

Q : บอร์ดจะรักษาการนานแค่ไหน

น่าจะ 2-3 เดือน เพราะคณะกรรมการสรรหาเริ่มประชุมแล้ว ถ้าไม่มีอุบัติเหตุอื่น เพราะเป็นกรรมการรักษาการมันก็ไม่ดีหรอก จะทำงานอะไรก็ลำบาก

Q : เวลาที่เหลือต้องทำอะไรบ้าง

OTT (Over The Top : บรอดแคสต์ผ่านอินเทอร์เน็ต) ต้องทำให้ชัดเจนในระดับหนึ่ง มีโอเปอเรเตอร์มาบ่นนานแล้วว่า OTT เป็นเสือนอนกินบนโครงข่ายที่เขาลงทุนเป็นหมื่นล้าน แต่ผมก็บอกไปว่า ที่ผู้บริโภคซื้อมือถือมาใช้เพราะอยากใช้ OTT ต้องน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

แต่ กสทช. ต้องมาดูเรื่องกฎหมาย อย่างคอนเทนต์ ผิดที่คนเผยแพร่หรือผิดที่สื่อ แล้วสามารถคุยกันรู้เรื่องไหม ถ้าไม่ ก็ต้องออกมาตรการบังคับ เพราะคุณจะมาเผยแพร่สิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ โดยไม่รับผิดชอบไม่ได้ ทำไมหลายเว็บก็เอาออกให้เลย คุณจะมาใช้ความเป็นชาติมหาอำนาจมากดดัน ผมว่ามันก็ไม่ถูก

แต่การกำกับก็ต้องให้พอควร ไม่ใช่ให้คนไทยมาด่าว่า ทำไมใช้งาน youtube ไม่ได้ กลายเป็นรัฐผิด youtube เป็นฝ่ายถูก จะออกมาตรการอะไร คนไทยส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วย และต้องหาวิธีเพราะใน พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม ไม่ได้กำกับคอนเทนต์ มีแต่ใน พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ ซึ่งมีคนแย้งว่า OTT ไม่ใช่กิจการวิทยุโทรทัศน์ แต่เป็นโทรคมนาคม เพราะเป็น 2 way communication ก็น่าจะต้องออกกฎหมายใหม่เฉพาะ ซึ่งกำลังทำอยู่

ส่วนปัญหาเงินช่วงเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานทรูมูฟ-ดีพีซี ที่ยืดเยื้อ ตั้งแต่ปี 2556 และสัมปทานเอไอเอส ก็ต้องให้ได้ข้อสรุป ไม่ให้เป็นภาระบอร์ดชุดใหม่ และเพื่อไม่ให้ซ้ำรอย ก็ควรประมูลคลื่นดีแทคก่อนหมดสัมปทาน (ก.ย. 2561) ด้วย

Q : 6 ปีงานที่รู้สึกดีมากสุด

ก็รู้สึกดีในทุกเรื่อง ณ วันที่เข้ามาไทยเป็นแค่ 2G+ แต่ตอนนี้เป็น 4G กำลังจะไป 5G มีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเป็นประโยชน์ต่อรัฐต่อประชาชน

แต่ถ้าเรื่องที่ตั้งใจและเป็นแรงบันดาลใจให้มาเป็น กสทช. คืองาน USO (บริการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณะอย่างทั่วถึง) ที่เดิมเคยเป็นคณะทำงาน USO ในสมัย กทช. เพราะเป็นกลไกสำคัญในการลดช่องว่างของคนไทย พยายามผลักดันให้เป็นรูปธรรม ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จก็เป็นปลายวาระแล้ว แต่ก็กลายเป็นนโยบายของรัฐบาล เป็นไปตามความฝันเป็นความภูมิใจ

อีกงานคือ วิทยุสมัครเล่น ที่ผลักดันให้เกิดระเบียบให้นักวิทยุสมัครเล่นเข้าเป็นสมาชิกสมาคม และแบ่งอำนาจให้สมาคมไปกำกับดูแลกันเองตามแนวทางสากล ส่วนที่คลื่นทับซ้อนกับงานด้านความมั่นคง เนื่องจากตาม ITU (สหภาพโทรคมนาคม) ที่ไทยเป็นสมาชิก กำหนดให้ 50-54 MHz เป็นคลื่นวิทยุสมัครเล่น แต่ในไทยผู้ถือครองเดิมคือเหล่าทัพ ตอนนี้ฝ่ายความมั่นคงก็ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองอยู่ ก็ต้องรอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

อีกทางออกคือต้องอุดหนุนให้กองทัพเปลี่ยนอุปกรณ์ ไปใช้ S Band ตามที่ ITU กำหนด เป็นวาระที่ กสทช.ชุดใหม่ รัฐบาลและกองทัพจะต้องคิด

Q : สิ่งที่ USO จะต้องทำหลังจากนี้

ถ้าทุกหมู่บ้านเข้าถึงหมดแล้วก็เหลือแค่ระบบฉุกเฉิน วางแพลตฟอร์มให้หมายเลขฉุกเฉินใช้ผ่านเบอร์เดียว 191 โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้บริหาร กสทช.จะสนับสนุนอุปกรณ์

Q : สิ่งที่ผิดพลาด

ไม่ถือว่าผิดพลาด อย่างประมูลคลื่น 2100 MHz ยิ่งช้า รัฐยิ่งขาดรายได้ ก็คิดว่ารอบคอบแล้ว ตอนประชาพิจารณ์ บริษัทต่าง ๆ ขอโอกาสให้รายเล็ก แต่ปรากฏไม่มา แล้วมี hidden agenda ที่เอไอเอสมุ่งชิงคลื่นติดกับทีโอทีมากกว่าย่านที่คิดไว้ เราดันซื่อ ดูแต่บทวิเคราะห์

แต่ก็ถือว่าไม่ได้พลาด เพราะคนไทยได้ใช้ 3G อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นบนความสำเร็จที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ก็ยังมีความสำเร็จ

Q : กสทช.ดูแลประชาชนน้อย

ไม่จริง เราคิดถึงประชาชนว่าต้องได้รับบริการที่มีคุณภาพในราคายุติธรรม ปัจจุบันอัตราค่าโทรศัพท์เมื่อเทียบกับ GDP เราอยู่ในกลุ่ม top 10 ของประเทศที่มีราคาต่ำ ในอาเซียนมีแค่อินโดนีเซียที่ค่าบริการถูกกว่าไทย แต่ความครอบคลุมสู้ไทยไม่ได้

ง่าย ๆ กสทช.ถูกโอเปอเรเตอร์ฟ้องศาลปกครองเยอะเพราะออกกฎบังคับ

จุดยืนของผมคือ ทุกอย่างต้องบาลานซ์ 3 ฝั่ง รัฐ ประชาชน ธุรกิจ ความก้าวหน้าที่ผ่านมาอยู่ที่การแข่งขัน กลไกตลาด มีรายได้กลับเข้าประเทศ เอกชนจึงต้องอยู่ได้มีกำไร ไม่ใช่ทำแล้วเจ๊ง ทำให้เสียกลไกการแข่งขัน

Q : สเป็ก กสทช.ใหม่

ชุดใหม่จะเหนื่อยกว่า เพราะต้องดูแลทั้ง 2 ฝั่ง โดยเฉพาะทีวีดิจิทัลว่าจะอยู่รอดได้แค่ไหน เราพยายามพยุง ฉะนั้นคนที่จะมาใหม่ต้องบูรณาการเป็น อย่ามองด้านเดียว ต้องเป็นธรรม ไม่มีอคติ ความรู้เฉพาะด้านอย่างไรบอร์ดก็รู้ไม่เท่าคนในสำนักงาน แต่ก็ควรจะรู้บ้าง

Q : ความท้าทายคือ

วิทยุชุมชน วิทยุดิจิทัล ถ้ากำหนดแนวทางไม่ดี เป็นระเบิดลูกใหญ่ที่รออยู่ เพียงแต่มีบทเรียนจากทีวีดิจิทัลให้เอกชนได้เห็นว่าต้องประเมินตลาดให้ดี

กับเรื่องเรียกคืนคลื่นความถี่ จริง ๆ กำหนดเวลาตามแผนแม่บทแล้ว แต่กฎหมายใหม่เปิดช่องให้คืนคลื่นก่อนเวลา จึงต้องกำหนดเงื่อนไขในการเยียวยา กสทช.ชุดใหม่ต้องมารับช่วงต่อ

Q : วางแผนหลังหมดวาระ

พักผ่อน เล่นกอล์ฟ การเมืองไม่เล่น ผมอยู่กับการเมืองตั้งแต่ปี 2535 สมัยรัฐบาลชวน 1 ตอนนั้นมี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ดร.อำนวย วีรวรรณ คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นยุคที่คนหนุ่มเข้ามาเยอะ แต่ยุคหลังถอดใจกันไปหมด เหลือแต่นักการเมือง นักเลือกตั้ง ถ้าแบบนี้เข้าไปก็เสียเปล่า เข้าไปทำอะไรไม่ได้ ไปเป็นบล็อกเกอร์คอลัมนิสต์ยังดีเสียกว่า