“เคอรี่” เร่งมือเก็บแชร์ “โลจิสติกส์” ปูพรมเพิ่มจุดบริการ-ไม่สนคู่แข่งตัดราคา

ชัดเจนว่าธุรกิจโลจิสติกส์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเทรนด์อีคอมเมิร์ซ โดยบริษัทวิจัย Frost & Sullivan ได้คาดการณ์การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยว่าจะโตเฉลี่ย 26.7% ระหว่างปี 2562-2567

ซึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดค้าปลีกในประเทศ พบว่าอีคอมเมิร์ซมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3% เท่านั้น เชื่อว่าจะเติบโตได้อีกมากทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ กระโดดเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายเดิมก็ขยายการลงทุนไม่หยุด โดยเฉพาะเคอรี่ (Kerry)

นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX เปิดเผยว่า บริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นวันที่ 24 ธ.ค. 2563 และคาดว่าจะได้เงินจากการขายหุ้นราว 8,400 ล้านบาท

ซึ่งในเบื้องต้นจะใช้เงินราว 1,000 ล้านบาทลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งการขยายพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้า เปิดสาขาใหม่ลงไปสู่ตรอกซอกซอยต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงจะลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้กระบวนการคัดแยกสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย

ปัจจุบันมีจุดให้บริการกว่า 15,000 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีศูนย์คัดแยกพัสดุหลัก 9 แห่ง ศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,200 แห่ง และรถจัดส่งพัสดุภายใต้การบริหารของบริษัทกว่า 25,000 คัน

“คนหันมาสั่งของออนไลน์มากขึ้นนอกจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee และ Lazada แล้ว ห้างค้าปลีกก็ขายผ่านออนไลน์มากขึ้น ส่วนใหญ่จะใช้บริการเรา เช่น Tops, Big C, TESCO Lotus รวมถึงโซเชียลคอมเมิร์ซที่มีไลฟ์สดขายของก็ใช้บริการของเรามากขึ้น”

และเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น บริษัทมีแผนเปิดตัวพันธมิตรใหม่ ๆ อีกหลายรายในปีหน้าที่จะเป็นจุดบริการรับส่งสินค้า เช่น ด้านล่างอาคารสำนักงานหรือคอนโดมิเนียมต่าง ๆ และขยายธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจชำระเงิน หรือ payment โดยยังโฟกัสในประเทศเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าต้องให้บริการก่อนแล้วพฤติกรรมผู้บริโภคจะตามมา

นายวราวุธกล่าวถึงการแข่งขันด้วยว่า ผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามักใช้กลยุทธ์ด้าน “ราคา” เพื่อขยายฐานลูกค้า สำหรับบริษัท “ราคา” ที่ให้บริการอยู่สอดคล้องกับต้นทุนมากที่สุดแล้ว และปัจจุบันเคอรี่มีต้นทุนการจัดส่งต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม และการตั้งราคาที่สมเหตุสมผลช่วยให้บริษัทรักษาอัตรากำไรที่ 5-8% ไว้ได้

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรม “Kerry Club” ให้สิทธิพิเศษ เช่น ส่วนลดการใช้บริการ และมีบริการรับพัสดุถึงที่ กับผู้ที่ใช้บริการเป็นประจำ เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์, อีคอมเมิร์ซ, โซเชียลคอมเมิร์ซ ฯลฯ

“เจ้าใหม่ ๆ มักใช้วิธีตัดราคา แต่คุณภาพการจัดส่งไม่สามารถการันตีถึงผู้รับในวันถัดไปแบบเราได้ ส่งผลให้แบรนด์ใหญ่ทั้งห้างสรรพสินค้า และแบรนด์หรูไว้วางใจใช้บริการเคอรี่เป็นหลัก ยอดธุรกรรมปัจจุบันของเราอยู่ที่ 1.2 ล้านหลังคาเรือน/วัน และเคยสูงสุดที่ 1.9 ล้านหลังคาเรือน/วัน ซึ่งการลงทุนเทคโนโลยีในการคัดแยกสินค้า ณ ศูนย์กระจายสินค้า จะทำให้รองรับปริมาณพัสดุในแต่ละวันได้มากขึ้น และลดการใช้แรงงานคนในระยะถัดไป ทำให้บริษัทแข่งขันได้ดีขึ้นไปอีก”

โดยบริษัทมีรายได้ 3 ปีย้อนหลัง (2560-2562) ที่ 6,626 ล้านบาท 13,565 ล้านบาท และ 19,782 ล้านบาทตามลำดับ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 72.8% ขณะที่ในงวด 9 เดือนปี 2563 มีรายได้ 14,689 ล้านบาท โต 0.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิ 3 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 730 ล้านบาท 1,185 ล้านบาท และ 1,329 บาท งวด 9 เดือนปีนี้ที่ 1,030 ล้านบาท โต 14.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลในแง่ดีมากกว่า เพราะทำให้ปริมาณพัสดุเติบโตขึ้น ประกอบกับห้างร้านต่าง ๆ ยังเดินหน้าจัดแคมเปญต่อเนื่อง เช่น 11.11 และ 12.12 ส่งผลให้ธุรกรรมเพิ่มขึ้น 20-30% แต่น้อยกว่าช่วงที่มีการล็อกดาวน์ที่ธุรกรรมปรับขึ้นถึง 50% และมองว่ารายได้รวมจะยังเติบโตจากธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นแม้ไวรัสโควิด-19 จะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคบ้าง