ทรู เฮ ไม่ต้องจ่าย TOT กรณีข้อพิพาทสัญญาร่วมงานให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

ปิดคดี ทรูเฮ ศาลปกครองกลางสั่งไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้ ทีโอที กรณีข้อพิพาทสัญญาร่วมงานให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง(ADSL)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(29ธ.ค2563) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า

ตามที่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2548 บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) ได้ยื่นคําเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ระบุว่าบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ละเมิดข้อตกลงในสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ โดยให้บริการหรือยินยอมให้ผู้อื่น นําอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) และเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) และ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 บริษัทฯ ยื่นขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคําชี้ ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในกรณีดังกล่าว ซึ่งได้มีคําชี้ขาดให้บริษัทฯ ชําระเงินค่าผิดสัญญาให้แก่ทีโอที รายละเอียดตามหนังสือที่อ้างถึง นั่น บริษัทฯ ขอแจ้งความคืบหน้าที่สําคัญว่า วันนี้ (29ธ.ค63) ศาลปกครองกลางได้พิพากษาเพิกถอนคําชี้ ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และยกคําร้องเพื่อขอบังคับตามคําชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทําให้บริษัทฯ ไม่มีภาระผูกพันในการชําระเงินตามคําชี้ ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้บริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบว่า คู่พิพาทฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคําพิพากษาดังกล่าวมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบผลคําพิพากษา หากมี ความคืบหน้าที่สําคัญเกี่ยวกับคดีนี้บริษัทฯ จะแจ้งให้ท่านทราบต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อพิพาทดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อ 2 สิงหาคม 2534 และ 8 กันยายน 2538 บมจ. ทีโอที (ขณะนั้นเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) ได้ทำสัญญาร่วมการงานฯ กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) ในการลงทุนจัดหา ติดตั้ง ควบคุม ตลอดจนบำรุงรักษาอุปกรณ์ในระบบ และให้บริการโทรศัพท์ประจำที่หรือโทรศัพท์บ้านในเขตนครหลวงจำนวน 2.6 ล้านเลขหมาย มีระยะเวลา 25 ปี ในนาม ทีโอที

ต่อมาประมาณปลายปี 2546 ทีโอที ได้ตรวจสอบพบว่า ทรู ได้นำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL และหรือยินยอมให้ผู้อื่นนำอุปกรณ์ในระบบไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ทีโอที และไม่ได้มีการทำความตกลงกับ ทีโอที ก่อนดำเนินการ จึงเป็นการดำเนินการที่ผิดสัญญา ซึ่ง ทีโอที ได้พยายามให้มีการเจรจาแล้ว แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้