3 ข้อเสนอ เกินอำนาจ กสทช. ช่องดิจิทัลโอด “ไม่มีจ่าย”

ในการประชุมคณะกรรมการ กสทช.ล่าสุด (18 ต.ค. 2560) ได้เห็นชอบแนวทางการลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

โดยแบ่งขั้นบันไดรายได้ และปรับอัตราใหม่ ดังนี้ 1.รายได้ ตั้งแต่ 0-100 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียม 0.125% 2.รายได้เกิน 100-500 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 0.25% 3.รายได้เกิน 500-1,000 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 0.5% 4.รายได้เกิน 1,000-5,000 ล้านบาท 0.75% และ 5.รายได้เกิน 5,000 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.5% จากเดิมที่ต้องเสีย 0.5% ตั้งแต่ 5 ล้านบาทแรก และสูงสุด 2% สำหรับรายได้ส่วนเกิน 1,000 ล้านบาท

ซึ่งหลังจากนี้จะนำร่างประกาศค่าธรรมเนียมฯไปดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ และคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ราวเดือน ธ.ค. เพื่อใช้กับการคำนวณค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2560 ทันที

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เข้าใจปัญหาของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล กสทช. ก็ต้องการให้ธุรกิจอยู่ได้ โดยยืนอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนและประเทศจะได้ประโยชน์ด้วย แต่สำหรับข้อเสนอใหม่ของสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ข้อนั้น เกินอำนาจของ กสทช.ทั้งหมด ได้แก่ 1.เงินประมูลที่เหลือต้องจ่ายในงวดที่ 5-8 อีก 16,837 ล้านบาท คิดเป็น 36% ของวงเงินประมูล 54,422 ล้านบาท ที่จะไม่ขอจ่ายเลย เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้คนดูสื่อเดิมน้อยลง

2.แผนเดิมที่กำหนดจะมีทีวีไว้ 48 ช่อง แต่ปัจจุบันมี 27 ช่องแล้ว ที่เหลือจะไม่ออกไลเซนส์ก็ไม่น่าจะเป็นอะไรแล้ว ขอให้นำคลื่นที่เหลือรวมถึงคลื่นสัมปทานทีวีแอนะล็อก น่าจะนำไปประมูลโทรคมนาคมแทนจะได้เงินชดเชยในส่วนที่หายไปได้ และ 3.ค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ประเภท SD เดือนละ 4.7 ล้านบาท HD เดือนละ 14.16 ล้านบาท ที่แต่ละช่องต้องจ่ายรวมปีละกว่า 2,500 ล้านบาท อยากให้นำเงินแจกคูปองส่วนที่เหลือให้นำมาสนับสนุนค่าเช่า MUX แทน

“ณ วันนี้เงินที่เกิดจากการแจกคูปอง คือเงินที่มาจากการประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งจะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เงินเหลือจากแจกคูปองก็ต้องนำเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน หากจะนำไปใช้จ่ายค่า MUX ก็ต้องใช้อำนาจ ม.44 หรือไม่ อย่างไร หรือจะเป็นเงินจากกองทุน กทปส. ซึ่งทางรองนายกฯได้มีคำถามกับทางสมาคมด้วยเหมือนกันว่า ทั้ง 22 ช่องก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ทั้งหมด แต่สมาคมชี้แจงว่า บางช่องไม่ได้เห็นด้วย แต่ถ้าช่วยก็จะได้รับอานิสงส์นี้ร่วมกัน และหากรัฐ ไม่ออกมาตรการใด ๆ มาช่วย ช่องทีวีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่มีเงินจะมาจ่าย”