นับถอยหลัง “ภาษีอีเซอร์วิส” แพลตฟอร์มไทย-ผู้บริโภค ใครได้ใครเสีย

คนใช้มือถือ-ภาษีอีเซอร์วิส

ใกล้ความเป็นจริงเข้ามาทุกที สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ที่คาดว่าจะประกาศและมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค. 2564

ดีเดย์ภาษีอีเซอร์วิสเดือน ก.ค.นี้

“สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ” ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า กฎหมายจัดเก็บภาษีจากบริการออนไลน์ (e-Service) จากผู้ให้บริการต่างประเทศจะมีผลบังคับใช้ช่วง ก.ค. 2564 ซึ่่งได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วทั้งระบบเว็บไซต์เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่มีบริษัทลูกในไทย

เช่น เฟซบุ๊ก, กูเกิล, ยูทูบ และเน็ตฟลิกซ์ เป็นต้น รวมถึงผู้ให้บริการดาวน์โหลดเกมออนไลน์ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น และสติ๊กเกอร์ เป็นต้น เพื่อให้เข้ามาลงทะเบียนและชำระภาษีผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร และคาดว่าจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท

“ถ้าเป็นผู้ให้บริการที่อยู่ในต่างประเทศ แล้วให้บริการผู้บริโภคในไทย และมีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งกรมจะมีระบบตรวจสอบผู้ให้บริการที่เข้าข่าย เช่น ตรวจสอบจากการโอนเงิน การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสรรพากรต่างประเทศ เป็นต้น

มั่นใจว่าผู้ประกอบการต่างประเทศจะให้ความร่วมมือ เนื่องจากกฎหมายลักษณะนี้บังคับใช้กว่า 60 ประเทศทั่วโลก ที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการต่างประเทศรายใหญ่ได้ดำเนินการจดทะเบียนทั้งหมด”

สร้างการแข่งขันเท่าเทียม

“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บภาษีอีเซอร์วิส คือ แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ยังไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยต้องเข้ามาจดทะเบียนบริษัท

และถือเป็นขั้นแรกในการจัดเก็บ VAT ที่ 7% จากภาษีขาย เพราะถ้ารายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต้องจัดเก็บภาษีจากผู้บริโภค และต้องนำส่งรายได้ให้แก่สรรพากร นั่นหมายถึงสรรพากรจะรับรู้รายได้ว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้มีรายได้ต่อปีเท่าไรจากฐานผู้บริโภคในประเทศไทยปีละเท่าไร และขั้นต่อไปสรรพากรจะผลักดันให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาตั้งบริษัทในไทย และเสียภาษีรายได้ในส่วนกำไรบริษัทต่อไป

ในแง่การแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มไทยกับต่างประเทศถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมาบริษัทขายโฆษณาออนไลน์ที่จดทะเบียนบริษัทในไทย และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องเก็บ VAT 7% จากผู้ใช้บริการส่งให้สรรพากร

แต่บริษัทรายย่อยที่ซื้อโฆษณาจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น กูเกิล, เฟซบุ๊ก เป็นต้น ไม่ได้เก็บ VAT 7% ดังนั้น กฎหมายอีเซอร์วิสจะทำให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมจากการลดโอกาสเลี่ยงภาษี

ในส่วนฟากฝั่งผู้บริโภค คนที่ต้องจ่ายค่าโฆษณาออนไลน์ คือ คนที่ทำธุรกิจจึงไม่กระทบ ถ้ามีการจดทะเบียนบริษัทเพราะนำภาษีส่วนนี้ไปหักกับส่วนที่ซื้อได้ตามกฎหมาย

ขณะที่ฝั่งรายย่อยคาดว่าจะได้รับผลกระทบเพราะแพลตฟอร์มต้องกระจายความรับผิดชอบไปยังผู้บริโภค อย่างกลุ่มเอสเอ็มอีที่ซื้อโฆษณาจากแพลตฟอร์มต่างประเทศโดยไม่มีการจดทะเบียนบริษัท เชื่อว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ท้ายที่สุดยังเชื่อว่าการจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิสจะสร้างความเท่าเทียมทางการแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มไทยและต่างประเทศได้

เก็บแล้วต้องใช้ให้ถูกจุด

ด้าน “ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม” นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และการค้าในประเทศจีน ให้มุมมองว่า การเก็บภาษีอีเซอร์วิสจะส่งผลต่ออุตสาหกรรม 2 ระยะ คือ ช่วงแรกจะเกิดขึ้นระยะสั้น ๆ 6-12 เดือน หลังกฎหมายอีเซอร์วิสมีผลบังคับใช้ทำให้เกิดความเขย่งกันทางธุรกิจ

โดยแพลตฟอร์มไทยที่มีการจดทะเบียนบริษัทชัดเจนจะโดนเรียกเก็บภาษีก่อน ส่วนแพลตฟอร์มต่างประเทศในช่วงที่มีการประสานงานเอกสารระหว่างประเทศร่วมกัน ทำให้โดนเรียกเก็บช้ากว่าแพลตฟอร์มไทย ทำให้ค่าบริการยังถูกกว่าต่อให้เริ่มเก็บภาษีเหมือนกัน ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าไปหาแพลตฟอร์มที่ราคาต่ำกว่า

ขณะที่ผลกระทบในระยะยาว คือ บริษัทต่างประเทศที่จะลงทุนด้านอีแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะพิจารณาถึงจุดคุ้มทุนด้วยการพิจารณาจากภาษีที่ต้องเพิ่มจากการจดทะเบียนบริษัทในไทย กับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐในส่วนต่าง ๆ เช่น การบริการ หน่วยงานที่กำกับดูแล และข้อกำหนดต่าง ๆ ว่าสอดรับกับจุดคุ้มทุนหรือไม่ ถ้าไม่ก็อาจย้ายการลงทุนไปประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ เป็นต้น

การจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิสของสรรพากรเป็นเรื่องที่ดีที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐ แต่รายได้จากการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ก็ควรนำมาพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะถ้านำไปใช้ในส่วนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในแง่ของนักลงทุนก็จะไม่ลงทุน”

“เน็ตฟลิกซ์” พร้อมร่วมมือ

ขณะที่มุมมองแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่าง “เน็ตฟลิกซ์” ที่ปัจจุบันให้บริการอยู่ 190 ประเทศทั่วโลก ตัวแทน “เน็ตฟลิกซ์ประเทศไทย” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เน็ตฟลิกซ์สนับสนุนการเริ่มต้นเก็บภาษีกับบริษัทต่างชาติของประเทศไทย โดยที่ผ่านมาได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ด้านการจัดเก็บภาษีมาตลอด

เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานที่ดีที่สุด และประสบการณ์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเริ่มใช้ข้อบังคับดังกล่าว เพื่อตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเมื่อเริ่มบังคับใช้จริง

ถอดโมเดลต่างประเทศ

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษานโยบายการจัดเก็บภาษีของไทยและแนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล (digital service tax : DST) ในต่างประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

พบว่าต่างนำแนวคิดกรอบการดำเนินงานเรื่องการลดการกัดกร่อนฐานภาษี และโอนกำไรไปต่างประเทศ (BEPS) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มาใช้อ้างอิงในการจัดเก็บภาษีบริการดิจิทัล

โดยระบุว่ากลุ่มผู้ได้รับประโยชน์มี 3 กลุ่ม คือ หน่วยงานจัดเก็บภาษี ผู้ประกอบการไทยที่ขายสินค้าและบริการออนไลน์ ผู้ประกอบการต่างชาติที่จดทะเบียนภาษีในไทย ส่วนผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมี 2 กลุ่ม

คือ ผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีในไทย ต้องมีภาระในการเสียภาษีบริการดิจิทัลให้หน่วยงานจัดเก็บภาษี และกลุ่มผู้บริโภคไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากการผลักภาระการเสียภาษีให้

สำหรับผลการศึกษาได้สรุปแนวทางการขับเคลื่อนการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัลรวม 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้มีความพร้อมต่อการนำภาษีธุรกิจบริการดิจิทัลมาใช้ และพิจารณาปรับวิธีการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัลให้เรียบง่าย จูงใจให้กิจการดิจิทัลข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนภาษีในไทย

2.สร้างความเข้มแข็งและแข่งขันของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค 3.ยกระดับการจัดการภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัล การจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง

และ 4.สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการจัดเก็บภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล โดยปรับกฎระเบียบในประเทศให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ ทบทวนการเว้นการเก็บภาษีซ้อนของไทยที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับภาษีธุรกิจบริการดิจิทัล