TOT+CAT นับหนึ่ง NT สานฝันบริษัทโทรคมชั้นนำ

หลังมีความพยายามมานานมาก ผ่านมาหลายรัฐบาล หลายรัฐมนตรีก็ไปไม่ถึงไหน มาสุกงอมได้ที่การควบรวมกิจการ “ทีโอที” “กสท โทรคมนาคม” สำเร็จ นับหนึ่งบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ได้ลงในรัฐบาลนี้ ในกำกับของ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

มี นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์อดีตรองปลัดกระทรวงดีอีเอส และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยานั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT ซึ่งในฐานะผู้นำองค์กรตั้งใหม่นับเป็นภารกิจสำคัญและท้าทายมาก

เพราะต้องเป็นหัวหอกในการปรับจูนเปลี่ยนผ่านทั้งในแง่โครงสร้างองค์กรและคนที่ใหญ่ทั้งคู่และแยกกันอยู่ มีหลายบริการแข่งกันด้วยซ้ำ จากนี้ต้องรวมเป็นหนึ่งขับเคลื่อนผลักดันธุรกิจร่วมกัน

กับเป้าหมายที่ รมต.ดีอีเอสบอกว่า อยากเห็น NT เป็นบริษัทโทรคมนาคมไทยชั้นนำ 1 ใน 3 ของประเทศ

จังหวะนี้จึงนับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ถ้าทำได้ไม่ดี เป้าเล็กกว่านี้ก็ยังยากแม้ว่าจะมีโครงข่ายครบครัน ทั้งมีสายและไร้สาย ตั้งแต่ท่อร้อยสาย, ไฟเบอร์ออปติก, เคเบิลใต้น้ำ, เสาสัญญาณมือถือและอื่น ๆ อีกเพียบ

เรียกว่าเกิดมาบนกองเงินกองทอง ยังไม่นับการรับช่วงดาวเทียมไทยคมที่ใกล้หมดสัมปทานมาทำต่อ รวมถึงนโยบายรัฐที่จะให้หน่วยงานภาครัฐด้วยกันมาสนับสนุนบริการของ NT

“การทำงานต้องมีเป้าหมาย และเป้าหมายนี้ไม่ได้เกินจริง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องเป็นที่ 1, 2 หรือ 3 แทนบริษัทไหน ซึ่งจะเป็นไปได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับคุณภาพและการให้บริการ

ผมวางกรอบเวลาไว้ 3 ช่วง แบ่ง 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี แต่ละช่วงจะมีการชี้แจงความคืบหน้าให้เห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

สิ่งแรกที่ให้ทำเลย คือ การรวมบริการมือถือที่ต่างฝ่ายต่างมีเป็น “เอ็นทีโมบาย” คาดว่าใน มี.ค.จะมีแพ็กเกจออกมา ซึ่งควรมีราคาถูกลง แต่คุณภาพและพื้นที่บริการครอบคลุม

อีกส่วนที่ต้องการเห็น คือ การเร่งพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้รองรับการใช้งานของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ โดยหน่วยงานรัฐถือเป็นตลาดหลักของ NT เชื่อว่าถ้าทำได้ก็จะเป็นความมั่นคงและยั่งยืนของบริษัทต่อไป หลังจากเมื่อต้นปีที่แล้วได้เปิดโอกาสให้ “ทีโอทีและแคท” เข้าประมูลคลื่น 5G

นอกจากนี้ หาก กสทช.เปิดประมูลใบอนุญาตดาวเทียมในสิ้นปี NT จะต้องเข้าประมูลด้วย เพราะดาวเทียมโดยเฉพาะดาวเทียมวงโคจรต่ำเป็นธุรกิจที่มีอนาคต และไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่ต่างชาติจะเข้ามาทำธุรกิจนี้ อีกทั้งยังสามารถนำมาเสริมศักยภาพของ 5G ที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นด้วย

“ธุรกิจใหม่ที่จะทำได้ทั้งลงทุนเอง และร่วมกับพันธมิตร สิ่งที่เอ็นทีต้องทำ คือ พัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฟิกซ์ บรอดแบนด์, เครือข่ายมือถือ, ท่อร้อยสายและอื่น ๆ รวมไปถึงการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรหาแนวร่วมมาพัฒนาโครงข่ายและบริการร่วมกัน

โดยไม่ลืมเป้าหมายในการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการดิจิทัลได้ทั่วถึงในราคาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ ผมในฐานะ รมว.ก็จะทำหน้าที่สนับสนุนอย่างเข้มแข็งอีกสิ่งที่ได้สัญญาไว้กับสหภาพของทั้งคู่คือการรวมกันจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ไม่ลดคน ลดสวัสดิการ ฝากส่งต่อไปยังผู้บริหาร NT ด้วย”