10 เทรนด์อีคอมเมิร์ซไทยปี’64

คอลัมน์ Pawoot.com
Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ปีนี้ต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะออนไลน์มีบทบาทมาก “โควิด”เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยทั้งประเทศ ผมวิเคราะห์ 10 เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอีคอมเมิร์ซดังนี้

เทรนด์แรก เป็นปีแรกที่ออนไลน์เป็นช่องทางหลักของคนไทยในการซื้อสินค้า มี 2 ปัจจัย คือ 1.โครงการต่าง ๆ ของรัฐกระตุ้นคนไทยเข้าสู่ออนไลน์ ทั้งเราไม่ทิ้งกัน

และคนละครึ่ง 2.การทุ่มเงินมหาศาลลงไปในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยของ 3 ยักษ์ใหญ่ JSL คือ JD, Shopee และ Lazada โดยเฉพาะกระตุ้นทำโฆษณาในช่วง double days

ที่น่าสนใจ คือ ปีนี้กำลังซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซจากต่างจังหวัดจะโตกว่ากรุงเทพฯ เพราะ 1.การลงโฆษณาทางโทรทัศน์ต่าง ๆ 2.ระบบชำระเงินระบบขนส่ง

ที่ส่งไปต่างประเทศหรือที่ไหน ๆ ได้หมด ทำให้ออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักในการซื้อสินค้า

เทรนด์ที่ 2 กลุ่ม JSLจะคุมตลาดค้าปลีกออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จ เห็นได้ชัดเจนในวัน double days ทุกคนเริ่มเก็บคูปอง กำลังซื้อช่วงนั้นหายไปเพื่อรอซื้อออนไลน์

ความท้าทายที่เกิดขึ้นกับร้านชุมชน คือ คนในชุมชนเริ่มเปลี่ยนมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้นสะท้อนว่าเม็ดเงินในชุมชนกำลังโดนกระชากเข้าไปในออนไลน์

ฉะนั้น ร้านค้าชุมชนต้องปรับตัวและอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน โดยซื้อตรงจากออนไลน์บ้าง ทำให้ได้ราคาถูกกว่าและดีกว่า

เทรนด์ที่ 3 การแข่งขันธุรกิจขนส่งจะรุนแรงมาก มีบริษัทขนส่งเป็นสิบบริษัท การแข่งขันจึงรุนแรงมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อปลายปีที่แล้ว Kerry Express ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ หรือ Flash Express ก็ระดมเงินได้เป็นหมื่นล้าน

สิ่งที่จะเจอต่อไปในปีนี้ คือ ราคาขนส่งจะถูกลง และคุณภาพดีขึ้น เพราะทุกคนลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ ทำให้ส่งของเร็วขึ้นและค่าขนส่งถูกลง

เทรนด์ที่ 4 ระบบชำระเงินจะดีขึ้นในปีนี้วิธีชำระเงินจะหลากหลายแต่ละช่องทางจะเริ่มเซ็กเมนต์ลูกค้าต่างกันไป ยิ่งเข้าถึงลูกค้า และทำให้จ่ายเงินมากขึ้นเท่านั้น

ตอนนี้มีบริการผ่อนค่าสินค้าราคาแพงทางออนไลน์ได้โดยเชื่อมมาที่เว็บไซต์หรือช่องทางขายของทางโซเชียลมีเดีย การผ่อนทำให้การจ่ายค่าสินค้าดูเบาขึ้น และขายง่ายมากขึ้น

จึงอยากให้ท่านที่ทำธุรกิจอยู่แล้วลองเพิ่มช่องทางการชำระเงินให้หลากหลายขึ้น จะดึงเงินลูกค้าได้มากขึ้น

เทรนด์ที่ 5 เป็นปีที่ผู้ผลิตสินค้า โรงงาน เจ้าของแบรนด์สินค้าเริ่มรุกและขายตรงสู่ผู้บริโภค เกิดเทรนด์ใหม่ D2C คือ direct to consumer ข้อดีของการขายตรงต่อผู้บริโภค

คือ 1.สินค้าได้ราคาได้กำไรมากขึ้น 2.ได้ข้อมูลของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ ฯลฯ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยได้

เทรนด์ที่ 6 การสั่งอาหารออนไลน์ food delivery โตก้าวกระโดด ปีนี้ทุกพื้นที่ในไทยสั่งอาหารได้ ต่างจังหวัดจะกลายเป็นสมรภูมิที่ผู้ให้บริการแข่งขันมากขึ้น

ขณะเดียวกันระบบนิเวศของ food delivery จะเริ่มโตขึ้น ในแง่ร้านอาหารหลายร้านเริ่มขยายตัวเองตาม cloud kitchen เพื่อให้บริการอาหารกับคนทั่วประเทศ

เทรนด์ที่ 7 ผู้ให้บริการอย่าง Google, Facebook, LINE เริ่มบุกอีคอมเมิร์ซเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างร้านค้าระบบชำระเงิน สร้างระบบนิเวศของตัวเอง ในแง่ผู้ประกอบการต้องพยายามกระโดดเข้าไปทุกช่องทางเพราะทุกอย่างเริ่มกระจายตัวและขยับตัวมากขึ้น

เทรนด์ที่ 8 ปีนี้โฆษณาออนไลน์จะเป็นสิ่งสามัญ สิ่งที่ต้องทำคือ พยายาม optimize ปรับแต่งโฆษณาให้แม่นยำขึ้น เก่งขึ้น และต้องจ่ายค่าโฆษณาถูกลง ต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการทำออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ต่อไปในเชิงโฆษณาจะไม่ดู awareness สิ่งที่หลายคนทำ คือ โฆษณาออนไลน์ต้องผูกกับยอดขาย จ่ายไปเท่านี้ได้ยอดขายเท่าไหร่ ยอดขายขึ้นหรือไม่

เทรนด์ที่ 9 ปีนี้กลุ่มทาร์เก็ตลูกค้าจะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ในเชิงของตลาด fragmented market คือ ลูกค้าจะกระจายตัวไปยังคอมมิวนิตี้ต่าง ๆ ปีนี้การหาลูกค้าไม่ใช้ demographic

แต่จะใช้ behavior หรือไลฟ์สไตล์ ฉะนั้นการทาร์เก็ตลูกค้าต้องใช้ behavior และ lifestyle ซึ่งโฆษณาออนไลน์ช่วยได้

เทรนด์ที่ 10 influencer commerceมีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้ามาก แบรนด์ต้องเริ่มหันมาใช้ ปัจจุบันมีอินฟลูเอนเซอร์เอเยนซี่เยอะมาก แบ่งได้หลายกลุ่ม

ตั้งแต่ macro influencer, medium influencer, micro influencer ไปจนถึง nano influencer อยู่ที่ว่าเราทาร์เก็ตกลุ่มไหน ก็จ้างมาพูดถึงสินค้าและบริการได้

ตอนนี้มีแพลตฟอร์มชื่อ Tellscore.com มีอินฟลูเอนเซอร์ในไทยกว่า 5 หมื่นคนแล้ว เห็นราคา เห็นทุกอย่างหรือต้องการแคมเปญใหญ่ก็ให้เขาจัดการให้ได้
นี่คือ 10 เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่เปลี่ยนไปหมด