สมรภูมิ OTT ร้อนฉ่า ดัมพ์ราคา-เติมคอนเทนต์ชิงลูกค้า

เรียกเสียงฮือฮาให้ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไทยไม่น้อย เมื่อปรากฏชื่อ “ดิสนีย์พลัส” จากค่าย “ดิสนีย์” จะเข้ามาเขย่าตลาดไทยอีกรายเร็ว ๆ นี้

โดยข้อมูล Ovem บริษัทจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีจากอังกฤษ ระบุว่า ตลาด OTT (over-the-top) ทั่วโลกมีแนวโน้มการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2562 มีผู้ใช้บริการ 657 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2566 จะเพิ่มเป็น 968 ล้านคน ส่วนตลาดในไทยมีผู้ใช้เพิ่มต่อเนื่อง จากปี 2562 ที่ 1.3 ล้านคน เป็น 1.52 ล้านคน ในปี 2563 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.78 ล้านคน ในปี 2564 และ 1.99 ล้านคนปีถัดไป

ถือเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวอีกมากเมื่อเทียบจำนวนประชากรในประเทศ และพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปเลือกรับชมคอนเทนต์ตามความชอบเฉพาะตัว

OTT ดัมพ์ราคาชิงลูกค้า

แหล่งข่าวในธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โมเดลการให้บริการ OTT ในไทย มี 3 กลุ่ม คือ SVOD (subscription video on demand) หรือบริการแบบเก็บค่าสมาชิก เช่น เน็ตฟลิกซ์ และโมโนแม็กซ์ กลุ่ม 2 คือ TVOD (transactional video on demand) เสียค่าบริการเป็นครั้ง เช่น Viu และ trueID เป็นต้น กลุ่ม 3 คือ AVOD (advertising-based video on demand) รับชมฟรี โดยผู้ให้บริการมีรายได้จากโฆษณา เช่น ไลน์ทีวี เป็นต้น

ขณะที่ผู้เล่นแต่ละรายมีฐานผู้ชมต่างกัน เช่น เน็ตฟลิกซ์ เป็นเจ้าตลาดในไทย และในหลายประเทศ คอนเทนต์หลักมาจากหลายประเทศ มีข้อดี คือมีให้เลือกหลากหลาย แต่ข้อเสีย คือไม่สามารถโฟกัสแค่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้ โดยสิ่งที่เน็ตฟลิกซ์กำลังทำ คือร่วมกับผู้ผลิตแต่ละประเทศผลิตคอนเทนต์ให้สอดรับกับความต้องการผู้ชมแต่ละประเทศ ส่วนผู้เล่นรายอื่น เช่น Viu เด่นคอนเทนต์เกาหลี ส่วน WETV, โมโนแม็กซ์ และรายใหม่ อ้ายฉีอี้ (iQIYI) เด่นซีรีส์จีน

“ตลาด OTT แข่งกันที่ราคาเป็นหลัก จุดขายทุกรายใช้ คือ 1 บัญชีรับชมได้มาก 1 อุปกรณ์ เช่น เน็ตฟลิกซ์ได้มากถึง 4 อุปกรณ์ ทำให้แชร์ค่าใช้จ่ายได้ และดึงฐานลูกค้าไว้ได้ อีกปัจจัยคือคอนเทนต์ เป็นหัวใจหลักของธุรกิจนี้ ซึ่งรายที่หายไปจากตลาดส่วนใหญ่ก็เพราะตีโจทย์ไม่แตก เน้นโกยคอนเทนต์จากผู้ผลิตจำนวนมาก แต่เป็นคอนเทนต์ที่ทุกแพลตฟอร์มมีทำให้ต้นทุนสูง แต่มีผู้ใช้ไม่มากจึงต้องออกจากตลาดไป”

คนไทยนิยมดูวิดีโอสตรีมมิ่ง

ก่อนหน้านี้ “ปัณฑารีย์ สุคัมภีรานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน็ตฟลิกซ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยเป็นตลาดที่เน็ตฟลิกซ์ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตมีความพร้อม และมีจำนวนชั่วโมงการรับชมวิดีโอสูงสุดในภูมิภาค อีกทั้งพฤติกรรมคนไทยไม่ชอบผูกมัดทำให้คอนเทนต์สั้น ๆ เป็นที่นิยม โดยเฉพาะกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์ไทย

“หัวใจของการแข่งขัน คือ คอนเทนต์ ซึ่งเราตอบโจทย์ได้ จากคอนเทนต์ที่มีจำนวนมาก ทั้งสร้างประสบการณ์ในการใช้หลากหลาย เช่น ดาวน์โหลดไว้ดูได้โดยไม่ต้องใช้เน็ตมือถือ และยกเลิกสมาชิกได้ง่าย เป็นต้น รวมถึงพัฒนาออริจินอลคอนเทนต์ร่วมกับผู้ผลิตในประเทศ เพื่อสร้างคอนเทนต์เจาะกลุ่มผู้ชมไทยโดยเฉพาะ”

Viu เร่งขยายตลาด ตจว.

ด้าน “อคิรากร อิกิติสิริ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท พีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง ในแบรนด์ “Viu” กล่าวว่า ปี 2564 ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งจะแข่งกันแรงขึ้นอีก เนื่องจากผู้เล่นทั้งในและต่างประเทศ มีความพร้อมด้านการลงทุน โดยเฉพาะการซื้อคอนเทนต์ ซึ่งในมุมของผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น กรณี Viu เดิมเป็นเจ้าตลาดซีรีส์เกาหลี ปัจจุบันรายอื่น ๆ ก็มีซีรีส์เกาหลี ทั้งยังทำออริจินอลคอนเทนต์เองทำให้บริษัทต้องพัฒนาคอนเทนต์ต่อเนื่องโดยเฉพาะการหาเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ เพื่อมัดใจผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม Viu ยังเป็น King of Korea Series และคงจุดแข็งเรื่องความสดใหม่ของซีรีส์และวาไรตี้ที่ออนแอร์หลังเกาหลีไม่กี่ชั่วโมง โดยเติมเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ต่อเนื่อง เช่น ในปี 2563 มีซีรีส์ A World of Married Couple และกำลังออนแอร์อีก 3 เรื่อง ได้แก่ The Penthouse, True Beauty และ Mr.Queen

ทำให้จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นและขยายกลุ่มมากขึ้น จากเดิมเจาะกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงาน อายุ 14-35 ปี ตอนนี้ได้ฐานคนดูอายุ 35 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น

สำหรับทิศทางปี 2564 มีเป้าหมายขยายตลาดกว้างขึ้น เพื่อดึงผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยเข้ามาในอีโคซิสเต็มจึงจะเพิ่มความหลากหลายของซีรีส์ และวาไรตี้ ด้วยการจับมือกับพาร์ตเนอร์ เช่น “แกรมมี่” ผลิตซีรีส์วาย และละครไทย รวมถึงเวิร์คพอยท์ ผลิตวาไรตี้เกมโชว์ และในไตรมาส 1 จะเปิดตัวผู้ผลิตโลคอลคอนเทนต์ เพื่อผลิตออริจินอลคอนเทนต์ร่วมกันเพิ่มเติมอีก

นอกจากนี้ยังจะรุกตลาดต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มเสียงพากย์ภาษาท้องถิ่น เช่น พากย์เสียงอีสานในซีรีส์กว่า 20 เรื่อง เพื่อเจาะคนอีสาน เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ และมีกำลังซื้อ อีกทั้งนิยมดูวิดีโอคอนเทนต์เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ สเต็ปต่อไปจะพากย์เสียงภาษาเหนือ

“ปีนี้เปิดปีมาก็เจอโควิดรอบใหม่ ยังไม่สามารถประเมินภาพใหญ่ได้แต่น่าจะดีกับตลาด OTT โมเดลธุรกิจของเรามีทั้งรายได้จากโฆษณา และค่าสมาชิก ซึ่งในแง่สมาชิกโตขึ้นกว่าเท่าตัว แต่รายได้จากโฆษณาได้รับผลกระทบ”

“โมโนแม็กซ์-ทรูไอดี” พร้อมสู้

“ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งในไทยโตเร็ว และแยกย่อยตามเซ็กเมนต์คอนเทนต์ที่คนเลือกดูมากขึ้น โดยแต่ละรายนำเสนอคอนเทนต์ต่างไป และแข่งขันกันใน 2 เรื่อง คือ ราคาคุ้มค่า และคอนเทนต์
สำหรับบริษัทวางโมเดลชัดเจนคือเป็นคอนเทนต์ที่ต้องจ่ายเงิน มีจุดเด่นในซีรีส์เอเชียโดยเฉพาะจีน ฐานลูกค้าหลักอายุ 15-24 ปี โดย ณ สิ้นปี 2563 มีลูกค้า 3.9 แสนราย

“คอนเทนต์เป็นจุดขายสำคัญในการสร้างความต่าง และเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของธุรกิจนี้จึงต้องบริหารจัดการให้ได้เพื่อให้แข่งขันได้ โดยเรามีเป้าหมายชัดเจน คือไม่ซื้อคอนเทนต์ nonexclusive และต้องบาลานซ์ความเสี่ยงด้วยการซื้อคอนเทนต์จากผู้ผลิตหลายราย โดยในปี 2564 จะนำคอนเทนต์จากผู้ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มเติมอีกหลายค่าย รวมถึง coproduction กับผู้ผลิตเพื่อเพิ่มเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์”

ขณะที่แพลตฟอร์มไทย “ทรูไอดี” ในเครือทรู “ต่อบุญ พ่วงมหา” กรรมการผู้จัดการฝ่ายดิจิทัลแอนด์มีเดียแพลตฟอร์ม บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า โมเดลธุรกิจของทรูไอดีจะเป็นแบบไฮบริด คือ มีคอนเทนต์ที่ต้องจ่ายเงินดู และแบบฟรี โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดให้ดูฟรีจนมีฐานผู้ชมส่วนหนึ่ง ปัจจุบันพฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป มีความต้องการในการดูพรีเมี่ยมคอนเทนต์ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

“จุดแข็งเราคือ การสู้ด้วยคอนเทนต์ เพราะบริษัทในเครืออย่างทรูวิชั่นส์ เลือกคอนเทนต์ให้ เช่น การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ กลุ่มทรูมีอีโคซิสเต็มที่แข็งแรง ทำให้ทรูไอดีบริหารจัดการให้คนเข้าถึงคอนเทนต์ได้ทุกช่องทาง ดูได้ทุกที่ทุกเวลา แต่อีกความยาก คือจะดึงให้คนหันมาดูคอนเทนต์ได้อย่างไร เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหาช่องว่างให้เจอ”