นอร์เวย์ ผู้นำการใช้ รถพลังงานไฟฟ้าของโลก

คอลัมน์ TechTimes
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

หลายคนอาจไม่รู้ว่านอร์เวย์ประเทศเล็ก ๆ จากสแกนดิเนเวียที่มีประชากรแค่ 5 ล้านคนจะเป็นผู้นำด้านการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของโลกแซงหน้ายักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาและจีนไปอย่างไม่เห็นฝุ่น

ตัวเลขล่าสุดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มาร์เก็ตแชร์ของรถไฟฟ้าอยู่ที่ 54% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ และหากรวมรถไฮบริดแล้วตัวเลขจะพุ่งสูงถึง 83% ในขณะที่มาร์เก็ตแชร์ของรถใช้น้ำมันหล่นลงจาก 71% ในปี 2015 เหลือแค่ 15% ในปี 2020

เป้าหมายในการกำจัดรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้หมดไปจากนอร์เวย์ในปี 2025 คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

แม้นอร์เวย์คือผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับต้น ๆ ของโลก แต่รัฐบาลกลับเน้นผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำโดยมองว่าน้ำมันก่อให้เกิดมลพิษ ดังนั้น เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพื่อประโยชน์โดยรวมทั้งในแง่เศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชนในระยะยาว รัฐจึงสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจังในทุกอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ รายได้จากน้ำมันช่วยให้นอร์เวย์มีเงินในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds) กว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งมีส่วนช่วยให้รัฐมีงบฯมากพอที่จะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

โดยนอร์เวย์เริ่มส่งเสริมให้คนใช้รถไฟฟ้าตั้งแต่ปี 1990 และมีการออกมาตรการลดหย่อนภาษี 25% ให้แก่ผู้ซื้อรถไฟฟ้าในปี 2001 ทำให้ราคารถไฟฟ้าถูกกว่ารถทั่วไป

หลังจากนั้น ก็มีการทยอยออกมาตรการจูงใจอื่น ๆ ตามมา และรัฐยังทุ่มงบฯในการสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้าทั่วประเทศไปกว่า 10,000 แห่ง ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจที่จะใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลนอร์เวย์ยังมองไกลไปถึงการส่งเสริมให้ยานพาหนะอื่น ๆ เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าด้วย เช่น Avinor หรือการท่าอากาศยานของนอร์เวย์ที่เพิ่งประกาศว่าจะผลักดันให้มีเครื่องบินโดยสารระยะสั้นที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในปี 2030

ขณะที่เรือโดยสารเพื่อชมฟยอร์ดในลีเซฟยอร์ด (Lysefjord) ก็เปลี่ยนเป็นเรือไฟฟ้าทั้งหมดเพื่อทำให้เป็นสถานที่ปลอดมลพิษให้ได้ในปี 2026

อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศอื่นที่จะทำตามนอร์เวย์ เพราะส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก แต่ความสำเร็จของนอร์เวย์ในวันนี้ก็ไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืนแต่เกิดจากการวางกลยุทธ์ระยะยาวที่มีการผลักดันอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี

ดังนั้น หากประเทศใดยังไม่เริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ เมื่อถึงวันที่เชื้อเพลิงแบบเก่าหมดไป พร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมจนเกินเยียวยา วันนั้นโอกาสที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็ยิ่งมีมากขึ้น