แนะเด็กจบใหม่ อัพสกิล รับงานยุคโควิด

บัณฑิต-เด็กจบใหม่ .
Photo : Pixabay

“แคเรียร์วีซ่า”เผยเด็กไทยยันคนอายุงาน10 ปีส่วนใหญ่หาตัวเองไม่เจอ 86% ไม่พอใจงานที่ทำ เทรนด์ “ฟรีแลนซ์”ยังแรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แนะเพิ่มทักษะ “โค้ดดิ้ง-วิเคราะห์ข้อมูล-ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง” รองรับตลาดงานยุคโควิด “โปรแกรมเมอร์-ดาต้าอนาไลติกส์-คอนเทนต์ครีเอเตอร์” ติดท็อปทรี

นางสาวธีรยา ธีรนาคนาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท แคเรียร์วีซ่า ดิจิตอล จำกัด ผู้ให้บริการคำปรึกษาด้านการเลือกอาชีพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันเด็กไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีเป้าหมายอาชีพที่ชัดเจน รวมไปถึงคนที่ทำงานมาแล้ว 10 ปี

ซึ่งเป็นปัญหาในระดับโลก จากการศึกษาพบว่าคนทำงานทั่วโลกกว่า 86% ไม่พอใจงานที่ทำ นักศึกษา 50% ตอบไม่ได้ว่าต้องการทำงานอะไร ทั้งพบว่าแนวโน้มการประกอบอาชีพของคนรุ่นใหม่นิยมทำงาน “ฟรีแลนซ์” มากขึ้น หรือทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ และหาอาชีพเสริมทำควบคู่อาชีพหลัก

ทักษะจำเป็น-อาชีพดาวรุ่ง

สำหรับโอกาสการหางานช่วงโควิดพบว่าองค์กร 53% พร้อมรับเด็กจบใหม่ อีก 47% เลือกไม่รับโดยให้เหตุผลว่าขาดประสบการณ์ ทำงานไม่เป็น ดังนั้น
ทักษะสำคัญที่ผู้ประกอบการมองหา

นอกจากฮาร์ดสกิล เช่น coding, data analytics และการใช้เครื่องมือ digital marketing เช่น SEO และ SEM แล้ว ความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานความคิดเชิงวิเคราะห์และเชิงวิพากษ์ก็สำคัญ

และทักษะที่ขาดไม่ได้คือการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะสิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัยไม่สามารถใช้ในการทำงานได้ เนื่องจากมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรก็ต้องปรับตัวจึงไม่มีเวลาสอนงาน

สำหรับเทรนด์อาชีพมาแรงปี 2564 มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกสายเทคโนโลยี ได้แก่ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ โปรแกรมเมอร์ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ กลุ่ม 2 สายข้อมูล ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักวิเคราะห์ข้อมูล และกลุ่ม 3 อาชีพด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ทั้งดิจิทัลมาร์เก็ตเตอร์, คอนเทนต์ครีเอเตอร์, ยูทูบเบอร์ และพอดแคสเตอร์

จากการสำรวจนักศึกษาคณะด้านเทคโนโลยีกว่า 423 คน พบว่า 5 อาชีพที่ต้องการหลังสำเร็จการศึกษา 5 อันดับแรก คือ โปรแกรมเมอร์ 34.4% ดีไซเนอร์ และครีเอทีฟ 25.3% วิศวกร 20% นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและนักวิเคราะห์ข้อมูล 17.49% และเจ้าของธุรกิจ 16.78%

29% ไม่เคยเขียนโปรแกรม

ที่น่าตกใจ คือ กว่า 29% แม้จะเรียนคณะด้านเทคโนโลยีกลับไม่เคยเขียนโปรแกรม มีเพียง 6% ที่เขียนได้ ส

“กลุ่มอาชีพด้านเทคโนโลยีและการใช้ข้อมูลในไทยยังขาดแคลน เพราะเรียนยาก นักศึกษาส่วนใหญ่จบมาแล้วมักทำงานไม่ตรงสาย ทั้งไทยไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์วิจัยเป็นสาธารณะ

ต่างจากหลายประเทศภาครัฐ เปิดเผยข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตน สำหรับหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา และหลักสูตรทั่วไป เพื่อแสดงให้เห็นว่านำข้อมูลมาสร้างนวัตกรรมใหม่ให้ประเทศได้จึงเป็นแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ต้องการประกอบอาชีพเหล่านี้”

ปัจจุบันบริษัทมีบริการรองรับลูกค้า 2 กลุ่ม กลุ่มแรก B2C เจาะกลุ่มนักศึกษา และผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน

ครีเอตโซลูชั่นตอบโจทย์ B2B

อีกกลุ่มเป็น B2B มีองค์กรขนาดกลาง เช่น PepsiCo, ดีแทค และโลตัส ใช้บริการ โดยเข้าไปช่วยองค์กรค้นหาผู้สมัคร ตั้งแต่สร้างแบรนด์นายจ้าง พัฒนาเว็บไซต์สมัครงาน ทำเฟซบุ๊กไลฟ์รวมถึงคัดกรองผู้สมัครเบื้องต้นก่อนส่งต่อให้องค์กรสัมภาษณ์ต่อ

สำหรับแผนธุรกิจปี 2564 ตั้งเป้าเป็น “workforce solution” ด้านการจัดหา และคัดเลือกบุคลากรให้องค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล นอกจากเรซูเม่

และพอร์ตโฟลิโอแล้วจะใช้ข้อมูลประเมินความเหมาะสมของผู้สมัครกับตำแหน่งงาน และองค์กร รวมถึงพัฒนา “skill assessment” มีแบบทดสอบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เทคโนโลยี และซอฟต์สกิลเพิ่มความแม่นยำในการคัดเลือกผู้สมัคร